เมฆชั้นโทรโพสเฟียร์ ของ เมฆ

แบ่งตามรูปร่างของเมฆ

เมฆนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แบบเป็นชั้น (layered) ในแนวนอน และแบบลอยตัวสูงขึ้น (convective) ในแนวตั้ง, โดยจะมีชื่อเรียกว่า สเตรตัส (stratus ซึ่งหมายถึงลักษณะเป็นชั้น) และ คิวมูลัส (cumulus ซึ่งหมายถึงทับถมกันเป็นกอง) ตามลำดับ

นอกจากนี้แล้วยังมีคำที่ใช้ในการบอกลักษณะของเมฆ

  • สเตรตัส (stratus) หรือ สเตรโต (strato-) หมายถึง ลักษณะเป็นชั้น
  • คิวมูลัส (cumulus) หรือ คิวมูโล (cumulo-) หมายถึง ลักษณะเป็นก้อนสุมกัน
  • เซอร์รัส (cirrus) หรือ เซอร์โร (cirro-) หมายถึง เมฆชั้นสูง
  • อัลโต (alto-) หมายถึง เมฆชั้นกลาง
  • นิมบัส (nimbus) หรือ นิมโบ (nimbo-) หมายถึง ฝน

แบ่งตามระดับความสูง

เมฆยังอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามระดับความสูงของเมฆ โดยระดับความสูงของเมฆนี้จะวัดจากฐานของก้อนเมฆ ไม่ได้วัดจากยอด โดย ลู้ก ฮาวเวิร์ด เป็นผู้นำเสนอวิธีการแบ่งกลุ่มแบบนี้ แก่ Askesian Society ใน ค.ศ. 1802

เมฆระดับสูง (ตระกูล A)

ก่อตัวที่ความสูงมากกว่า 16,500 ฟุต (5,000 เมตร) ในบริเวณที่อุณหภูมิต่ำในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ ที่ความสูงระดับนี้น้ำส่วนใหญ่นั้นจะแข็งตัว ดังนั้นเมฆจะประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง เมฆในชั้นนี้ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ และ มักจะค่อนข้างโปร่งใส เมฆในกลุ่มนี้จะมีชื่อนำหน้าด้วย เซอร์- (cirr-)

ชนิดของเมฆ:

  • เซอร์รัส (cirrus - Ci) : Cirrus, Cirrus uncinus, Cirrus Kelvin-Helmholtz เป็นเมฆที่ก่อตัวอยู่ในระดับสูงที่สุด มีลักษณะเป็นเส้น ๆ คล้ายใยไหมหรือเป็นริ้วบาง ๆ หยิกหยองเป็นปอยเหมือนขนนก หรือบางครั้งมองเห็นเป็นริ้วโค้ง ๆ ยาวพาดกลางท้องฟ้า ลอยตัวอยู่ในบรรยากาศระดับสูงมากบนท้องฟ้า อุณหภูมิของอากาศบนนั้นหนาวจัดจนเมฆชนิดนี้ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งขนาดจิ๋วแทนที่จะเป็นหยดน้ำ บางครั้งอาจเรียกว่าเมฆหางม้า เพราะกระแสลมแรงจัดเบื้องบนพัดจนกลุ่มเมฆกระจายออกเป็นริ้วโค้ง ๆ เหมือนกับหางของม้า เมฆเซอร์รัสเป็นที่ปรากฏอยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้า บ่งบอกว่าอากาศดีไม่มีฝนตก
  • เซอร์โรคิวมูลัส (cirrocumulus - Cc) เกิดจากผลึกน้ำแข็งเป็นเมฆ สีขาวโปร่งแสง บางครั้งจะปรากฏวงแหวนสีสวยงามขึ้นในเมฆเซอร์โรสเตรตัสหรือเมฆอัลโทรสเตรตัสที่อยู่สูง ๆ มีฐานสูงเฉลี่ย 7,000 เมตร มีลักษณะเป็นเกล็ดบาง ๆ หรือเป็นละอองคลื่นเล็ก ๆ อยู่ติดกัน บางตอนอาจแยกจากกัน แต่จะอยู่เรียงรายกันอย่างมีระเบียบ โปร่งแสงอาจมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้
  • เซอร์โรสเตรตัส (cirrostratus - Cs) เกิดจากผลึกน้ำแข็งเป็นเมฆ สีขาวโปร่งแสง บางครั้งจะปรากฏวงแหวนสีสวยงามขึ้นในเมฆเซอร์โรสเตรตัสหรือเมฆอัลโทรสเตรตัสที่อยู่สูง ๆ มีฐานสูงเฉลี่ย 8,500 เมตร มีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบาง ๆ โปร่งแสงเหมือนม่านติดต่อกันเป็นแผ่นในระดับสูง มีสีขาวหรือน้ำเงินจาง ปกคลุมเต็มท้องฟ้าหรือเพียงบางส่วน เป็นเมฆที่ทำให้เกิดวงแสงสีขาวหรือมีสี (Halo) รอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้ บ่งบอกว่า ฝนกำลังจะตกในไม่ช้า
  • คอนเทรล (Contrail) เป็นเมฆที่เกิดจากความร้อนของเครื่องบินไอพ่น มีลักษณะเป็นเส้นพาดท้องฟ้าตามวิถีการบินของเครื่องบินไอพ่น

เมฆระดับกลาง (ตระกูล B)

ก่อตัวที่ความสูงระหว่าง 6,500 และ 16,500 ฟุต (ระหว่าง 2,000 และ 5,000 เมตร) เมฆจะประกอบด้วยละอองน้ำ และ ละอองน้ำเย็นยิ่งยวด ชื่อของเมฆในชั้นนี้จะนำหน้าด้วย อัลโต- (alto-) ชนิดของเมฆ:

  • อัลโตคิวมูลัส (altocumulus - Ac) : Altocumulus, Altocumulus undulatus, Altocumulus mackerel sky, Altocumulus castellanus, Altocumulus lenticularis มีลักษณะอยู่เป็นกลุ่ม ๆ คล้ายฝูงแกะ มีสีขาว บางครั้งสีเทา มีการจัดตัวเป็นแถว ๆ หรือเป็นคลื่น เป็นชั้น ๆ มีเงาเมฆมีลักษณะเป็นเกล็ด เป็นก้อนม้วนตัว (roll) อาจมี 2 ชั้นหรือมากกว่าขึ้นไป อาจเกิดพระอาทิตย์ทรงกลด (corona)
  • อัลโตสเตรตัส (altostratus - As) : Altostratus, Altostratus undulatus มีลักษณะเป็นแผ่นหนาบางสม่ำเสมอในชั้นกลางของบรรยากาศ มองดูเรียบเป็นปุยหรือฝอยละเอียดแผ่ออกเป็นพืด เป็นลูกคลื่น ปกคลุมเต็มท้องฟ้า มีสีขาว สีเทาอ่อนหรือน้ำเงินอ่อน และอาจมีบางส่วนที่ บางพอที่แสงอาทิตย์จะส่องผ่านลงมายังพื้นดินได้ อาจมีแสงทรงกลด

เมฆระดับต่ำ (ตระกูล C)

ก่อตัวที่ความสูงต่ำกว่า 6,500 ฟุต (2,000 เมตร) และ รวมถึงสเตรตัส (stratus) เมฆสเตรตัสที่ลอยตัวอยู่ระดับพื้นดินเรียก หมอก

ชนิดของเมฆ:

  • สเตรตัส (stratus - St) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา ๆ สม่ำเสมอในชั้นต่ำของบรรยากาศ ใกล้ผิวโลกเหมือนหมอก มีสีเทา มองไม่เห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ไม่ทำให้เกิดวงแสง (Halo) เว้นแต่เมื่อมีอุณหภูมิต่ำมากก็อาจเกิดได้
  • สเตรโตคิวมูลัส (stratocumulus - Sc) มีสีเทา ลักษณะอ่อนนุ่ม เป็นก้อนกลมเรียงติด ๆ กันทั้งทางแนวตั้ง และทางแนวนอนทำให้มองเห็นเป็นลอนเชื่อมติดต่อกันไป
  • นิมโบสเตรตัส (nimbostratus - Ns) มีลักษณะเป็นแผ่นหนาสีเทาดำ เป็นแนวยาวติดต่อกัน แผ่กว้างออกไป ไม่เป็นรูปร่าง เป็นเมฆที่ทำให้เกิดฝนตก จึงเรียกกันว่า "เมฆฝน" เมฆชนิดนี้จะไม่มีฟ้าแลบฟ้าร้อง เกิดเฉพาะในเขตอบอุ่นเท่านั้น

เมฆแนวตั้ง (ตระกูล D)

เป็นเมฆที่มีแนวก่อตัวในแนวตั้ง ซึ่งทำให้เมฆมีความสูงจากฐาน

  • คิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus - Cb) : Cumulonimbus, Cumulonimbus incus, Cumulonimbus calvus, Cumulonimbus with mammatus ลักษณะเป็นเมฆก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายภูเขาใหญ่ มียอดเมฆแผ่ออกเป็นรูปร่างคล้ายทั่ง (anvil) ฐานเมฆต่ำมีสีดำมืด เป็นเมฆหนา มืดทึบ มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง อาจอยู่กระจัดกระจายหรือรวมกันอยู่ มักมีฝนตกลงมา เรียกเมฆชนิดนี้ว่า "เมฆฟ้าคะนอง"
  • คิวมูลัส (cumulus) ลักษณะเป็นเมฆก้อนหนามียอดมนกลมคล้ายกะหล่ำดอก เห็นขอบนอกได้ชัดเจน ส่วนฐานมีสีค่อนข้างดำ ก่อตัวในทางตั้ง กระจัดกระจายเหมือนสำลี ถ้าเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ หรือลอยอยู่โดดเดี่ยว แสดงถึงสภาวะอากาศดี แดดจัด ถ้ามีขนาดก้อนเมฆใหญ่ ก็อาจมีฝนตกภายใต้ก้อนเมฆ ลักษณะเป็นฝนเฉพาะแห่งและยังเป็นเมฆที่สามารถทำฝนเทียมได้