ราชสำนักและการเมือง ของ แอนน์แห่งเดนมาร์ก

แอนน์แห่งเดนมาร์กโดย Marcus Gheeraerts the Younger

ระหว่างที่ประทับอยู่ในสกอตแลนด์แอนน์มักจะใช้ความแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่ายของราชสำนักในการหาผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่พระองค์เองโดยเฉพาะในการสนับสนุนศัตรูของเอิร์ลแห่งมาร์[97] ฉะนั้นพระเจ้าเจมส์จึงไม่มีความไว้วางพระทัยในพระชายาในเรื่องความลับของประเทศ เฮนรี โฮเวิร์ด เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมพ์ตันที่ 1 ผู้มีบทบาทสำคัญในกรณีการสืบราชบัลลังก์อังกฤษถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าเจมส์อย่างเป็นการส่วนพระองค์ว่าแอนน์ทรงมีคุณสมบัติทุกอย่างเช่นอีฟผู้ถูกล่อลวงบุรุษด้วยงูร้ายได้สำเร็จ[98] แต่โดยทั่วไปแล้วแอนน์ไม่ทรงมีความสนใจกับการเมืองเท่าใดนัก นอกจากเมื่อมามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระราชโอรสธิดาหรือพระสหาย[99]

เมื่อประทับอยู่ในอังกฤษพระราชินีแอนน์ทรงหันความสนพระทัยจากทางการเมืองไปในด้านการสังคมและกิจการที่เกี่ยวกับศิลปะ[100] แม้ว่าพระองค์จะทรงมีส่วนร่วมในราชสำนักของพระเจ้าเจมส์อย่างเต็มที่และทรงมีราชสำนักของพระองค์เอง ที่มักจะดึงดูดผู้ที่ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระสวามี แต่ไม่ทรงถือหางทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าเจมส์ ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์จะเป็นเช่นใดพระราชินีแอนน์ก็ทรงเป็นผู้ที่ทรงมีคุณค่าต่อพระสวามีในอังกฤษ เช่นในการติดต่อกับราชทูตและผู้มาเยือนชาวต่างประเทศราชวงศ์สจวตและราชวงศ์โอลเดนเบิร์กของเดนมาร์กเป็นอย่างดี[101]

นิโคโล โมลินราชทูตเวนิสบันทึกเกี่ยวกับพระราชินีแอนน์ในปี ค.ศ. 1606 ว่า:

พระราชินีแอนน์ทรงเป็นผู้มีพระสติปัญญาและพระปรีชาสามารถ และมีความเข้าใจในเรื่องความไม่มีระเบียบของรัฐบาลซึ่งไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง และว่ากันว่าพระสวามีจะจงรักภักดีต่อพระองค์และทรงมีบทบาทอย่างใดก็ได้ถ้ามีพระประสงค์ พระองค์ไม่มีพระประสงค์จะมีปัญหาและทรงทราบว่าผู้บริหารบ้านเมืองไม่ต้องการให้มีผู้ใดเกี่ยวข้องพระองค์จึงทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไม่สนใจกับการเมือง พระองค์ทรงเต็มไปด้วยความกรุณาต่อผู้สนับสนุนพระองค์และก็ไม่ทรงปราณีต่อผู้ที่ไม่ทรงพอพระทัย[102]

ชื่อเสียง

ทัศนคติของนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อพระราชินีแอนน์ตามปกติแล้วจะเป็นทัศนคติที่ไม่ค่อยจะดีนัก ที่มักจะเน้นความหยุมหยิมและความฟุ่มเฟือยของพระองค์[103] เมื่อเปรียบเทียบกับพระเจ้าเจมส์นักประวัติศาสตร์ก็มักจะละเลยการกล่าวถึงพระองค์โดยสิ้นเชิง เริ่มด้วยนักประวัติศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์สจวตในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เห็นความหลงพระองค์ของราชสำนักจาโคเบียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองอังกฤษ นักประวัติศาสตร์เดวิด แฮร์ริส วิลล์สันเขียนในพระราชประวัติของพระเจ้าเจมส์ ในปี ค.ศ. 1956 ประณามว่า: “พระราชินีแอนน์ไม่ทรงมีอิทธิพลต่อพระสวามีเท่าใดนัก และไม่ทรงสามารถที่จะร่วมในความสนใจทางความเจริญทางสติปัญญาของพระสวามี และมีพระนิสัยที่เป็นนิสัยของสตรีตามที่พระเจ้าเจมส์ทรงมีความเห็น อนิจจา! พระเจ้าเจมส์ทรงเสกสมรสกับภรรยาโง่”[104] นักเขียนชีวประวัติของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอกเนส สตริคแลนด์ประณามการที่ทรงต่อสู้ในสิทธิในการดูแลเจ้าชายเฮนรีของพระราชินีแอนน์ว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ: “[การกระทำนี้]คงต้องทำให้ความเห็นในพระอุปนิสัยของพระราชินีแอนน์แห่งเดนมาร์กลดถอยลงในสายตาของทุกคน ...ว่าทรงใช้เพียงสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่เสี่ยงต่อความเกี่ยวข้องกับพระสวามี, พระราชโอรส และราชอาณาจักร ในการสร้างบรรยากาศของความทุกข์และความขัดแย้งอันไม่เป็นธรรมชาติ”[105]

แต่การวิเคราะห์พระเจ้าเจมส์ใหม่ในช่วงระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา ก็มีความเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นนักการปกครองผู้มีความสามารถผู้ทรงใช้อำนาจในสกอตแลนด์ และมีพระปรีชาสามารถในการป้องกันรักษาราชอาณาจักรจากการสงครามตลอดรัชสมัยของพระองค์[106] ที่ตามมาด้วยความเห็นใหม่เกี่ยวกับพระราชินีแอนน์ว่าทรงเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านการเมืองและเป็นพระมารดาผู้ทรงพยายามแสดงสิทธิของพระองค์ในตัวพระราชโอรส ในขณะที่ชีวิตการเสกสมรสระหว่างสองพระองค์ยังคงมีความหมายอยู่[107] จอห์น ลีดส์ บาร์โรลล์ค้านในพระราชประวัติทางวัฒนธรรมของพระราชินีแอนน์ว่าความเข้าเกี่ยวข้องทางการเมืองในสกอตแลนด์ของพระองค์มีความสำคัญกว่า และสิ่งที่เป็นที่แน่นอนคือทำให้เป็นปัญหามากกว่าที่เคยตั้งข้อสังเกตกันมาแต่ก่อน แคลร์ แมคมานัสหนึ่งในบรรดานักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเน้นบทบาทความมีอิทธิพลของพระราชินีแอนน์ในวัฒนธรรมจาโคเบียนว่าไม่ทรงแต่จะเป็นผู้อุปถัมภ์นักเขียนและศิลปินเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นนักแสดงเองด้วย[108]