สาเหตุ ของ โมฆะ

วัตถุประสงค์ประสงค์ของนิติกรรม

"การใด มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ"
ป.พ.พ. ม.150

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ เมื่อวัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้นต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น การจดทะเบียนสมรสซ้อน การว่าจ้างให้ไปฆ่าคน ฯลฯ หรือวัตถุประสงค์นั้นเป็นการอันพ้นวิสัย ไม่อาจบรรลุเจตนาที่แสดงเอาไว้ได้ เช่น การจ้างให้ไปยกภูเขาหิมาลัยมาไว้หน้าบ้าน (ป.พ.พ. ม.150)

แบบของนิติกรรม

"การใด มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ"
ป.พ.พ. ม.152
ดูบทความหลักที่ แบบของนิติกรรม

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ หากนิติกรรมนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็น "แบบ" (อังกฤษ: form) ของนิติกรรมนั้น และไม่ได้ทำตามแบบดังกล่าว (ป.พ.พ. ม.152)

เจตนาในการทำนิติกรรม


"การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น"
ป.พ.พ. ม.154
"การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"
ป.พ.พ. ม.155
"การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น"
ป.พ.พ. ม.156

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ หากเกิดจากการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับใจจริงและคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ หรือที่เรียกว่า "เจตนาลวง" (ป.พ.พ. ม.154) หรือเกิดจากเจตนาลวงที่คู่กรณีสมคบกันทำขึ้นเพื่อลวงบุคคลภายนอก โดยไม่ได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมนั้นจริง ๆ หรือที่เรียกว่า "นิติกรรมอำพราง" (ป.พ.พ. ม.155) หรือเกิดจากความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม (ป.พ.พ. ม.156)

เงื่อนไขของนิติกรรม

ดูบทความหลักที่ เงื่อนไขของนิติกรรม

กฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.188 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

ม.189 ว.1 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

และ ม.190 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

โมฆียกรรมที่ถูกบอกล้าง

ดูบทความหลักที่ โมฆียะ

นิติกรรมจะตกเป็นโมฆะ หากนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะมาก่อน และต่อมาถูกบอกล้างเสีย