นิยามและลักษณะ ของ โมฆะ

โมฆกรรม หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นแล้วในทางข้อเท็จจริง มีองค์ประกอบต่าง ๆ ทางข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนว่านิติกรรมนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งมีความผิดปรกติอย่างร้ายแรง กระทั่งกฎหมายไม่อาจยอมรับให้มีผลในทางกฎหมายได้ นิติกรรมอย่างนี้จึงกลายเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่าในทางกฎหมาย และไม่ก่อผลใด ๆ ในทางกฎหมายเลย เรียกได้ว่า โมฆกรรมเป็นนิติกรรมที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของกฎหมาย[2]

ในทางตำราไทย เข้าใจว่าโมฆกรรม คือ นิติกรรมที่เสียเปล่า แต่กฎหมายไทยมิได้ระบุว่าความเสียเปล่าคืออะไร ซึ่งก็เข้าใจกันอีกว่าคือ สภาพที่เสมือนมิได้ทำขึ้นเลย[3] [4] เป็นอันไม่มีเลย[5] หรือไม่เกิดผลอย่างใด ๆ เลยในทางกฎหมาย[6] [7]

กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ความเสียเปล่านั้นได้แก่การที่นิติกรรมไม่เกิดผลดังผู้กระทำต้องการให้เกิดเลย โดยเขากล่าวว่า[8]

"...นิติกรรมนั้นปกติเกิดจากการแสดงเจตนาที่ประสงค์ต่อผลทางกฎหมาย แต่ในบางกรณีมีการแสดงเจตนาแล้วแต่กฎหมายไม่รับบังคับให้เพราะมีเหตุสำคัญที่กฎหมายไม่รับรอง...เช่น นิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย เป็นพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับ หรือทำขึ้นโดยขัดกับเจตนาที่แท้จริง ฯลฯ ดังนั้น กฎหมายจึงถือว่านิติกรรมนั้นเสียเปล่าไป

ซึ่งควรเข้าใจว่า นิติกรรมนั้นไม่มีผลผลทางกฎหมายตามความประสงค์ของผู้ทำนิติกรรม...ไม่ได้หมายความว่านิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ หรือไม่เกิดผลใด ๆ เลย เพราะแม้ไม่มีผลตามความประสงค์ของผู้ทำนิติกรรม แต่อาจเกิดผลทางกฎหมายอย่างอื่นจากการแสดงเจตนาหรือการกระทำทางข้อเท็จจริงของผู้ทำนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะนั้นก็ได้...เช่น ถ้าเป็นเจตนาลวงก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ได้...ทรัพย์สินที่ได้ไว้เพราะโมฆะกรรมก็ต้องคืนแก่กันตามหลักลาภมิควรได้..."