ความเสียเปล่าของโมฆกรรม ของ โมฆะ

ความเสียเปล่า

"โมฆกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ"
ป.พ.พ. ม.172

ความเป็นโมฆะหรือความเสียเปล่าของนิติกรรมเกิดขึ้นโดยทันทีและโดยอัตโนมัติที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นโดยมีสาเหตุอันจะตกเป็นโมฆะ แม้ผู้ทำนิติกรรมจะเข้าใจว่านิติกรรมนั้นสมบูรณ์และมีความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิต่อกันก็ตาม แต่กฎหมายถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามที่ผู้ทำนิติกรรมต้องการทั้งนั้น[9]

ผู้ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมนั้นในทางที่ได้รับประโยชน์ หรืออาจได้รับผลกระทบจากนิติกรรมนั้น ซึ่งกฎหมายเรียก "ผู้มีส่วนได้เสีย" (อังกฤษ: interested person) และมิได้จำกัดว่าผู้มีส่วนได้เสียต้องเป็นแต่คู่สัญญาเท่านั้น ย่อมสามารถยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนก็ได้ทุกเมื่อ ไม่มีกำหนดอายุความไว้[10] [11]

เช่น โรงเรียน ก ได้รับสินบนจากบิดาของนาย ข ให้ตรวจผลสอบเข้าของนาย ข ให้ได้คะแนนที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่นาย ค ควรจะเป็นที่หนึ่ง, นาย ค สามารถฟ้องศาลให้แก้ผลสอบนั้นเสียใหม่ โดยอ้างว่านิติกรรมการตรวจให้นาย ข ได้คะแนนที่หนึ่งนั้นเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลให้การนั้นเป็นโมฆะ นาย ข ไม่ควรได้รับประโยชน์จากการอันเป็นโมฆะนั้น และขอให้ศาลสั่งแก้ให้ตนเป็นที่หนึ่งแทนได้

หรือ นาย ก อยู่ในที่ดินของนาย ข, ต่อมานาย ข ขายที่ดินให้แก่นาย ค แต่มิได้ทำให้ถูกแบบในเรื่องการซื้อขายที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนาย ข และนาย ค จึงเป็นโมฆะ, หากนาย ค มาขับไล่นาย ก ให้ออกจากที่ดินผืนนั้น นาย ก อาจยกความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นยันกับนาย ค เพื่อปฏิเสธที่จะออกไปตามคำร้องขอได้ แม้ว่านาย ก จะมิได้เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายนั้นก็ดี, แต่หากนาย ข และนาย ค กลับไปทำให้ถูกต้องตามแบบ ผลก็อาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ความมากน้อยของความเสียเปล่า

"ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้"
ป.พ.พ. ม.173

กฎหมายไทย ป.พ.พ. ม.173 ว่า นิติกรรมใดแม้เป็นโมฆะบางส่วน ก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะไปเสียทั้งหมด โดยกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คู่กรณีมีเจตนาว่า หากส่วนใดส่วนหนึ่งของนิติกรรมที่เขาทำไปกลายเป็นใช้ไม่ได้เสียแล้ว เขาก็ไม่ประสงค์จะเข้าทำนิติกรรมนั้นเลย[12] ทั้งนี้ เว้นแต่จะสามารถสันนิษฐานได้จากพฤติการณ์แห่งกรณีนั้นว่า คู่กรณีประสงค์จะให้แยกส่วนที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ ก็จะเป็นโมฆะเฉพาะส่วนเท่านั้น[13]

เช่น นาย ก ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นผู้จัดารโรงงานของนาย ก โดยมีข้อตกลงข้อหนึ่งว่า นาย ข จะได้ใช้ความรู้พิเศษของตนเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทอง แต่ที่สุดก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นการพ้นวิสัย ข้อตกลงข้อนี้จึงเป็นโมฆะ แต่ข้อที่เกี่ยวกับการตั้งนาย ข เป็นผู้จัดการโรงงานนั้นไม่มีความบกพร่องเสื่อมเสียอะไร จึงไม่เป็นโมฆะ แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทยแล้ว ข้อตกลงแม้เป็นโมฆะข้อเดียว ก็จะส่งผลต่อข้อตกลงอื่น ๆ ให้กลายเป็นโมฆะไปด้วยทั้งหมด

มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ประธานศาลฎีกา ว่า ควรระวังว่า เฉพาะนิติกรรมที่กฎหมายยอมให้แยกส่วนได้เท่านั้น จึงจะแยกส่วนที่เป็นโมฆะออกจากที่ไม่เป็นโมฆะได้ หากนิติกรรมใดที่กฎหมายถือเป็นโมฆะไปทั้งหมดแล้ว แม้คู่กรณีจะแสดงเจตนาให้สามารถแยกส่วนได้ก็ไม่อาจเป็นผล เช่น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องเป็นโมฆะไปทั้งส่วน[14]

"...แนวบรรทัดฐานการพิจารณาที่เราควรนำมาปรับใช้ในกรณีนี้ก็คือ การหาคำตอบว่า หากคู่กรณีพึงล่วงรู้ถึงปัญหานี้ คู่กรณีนั้นจะได้พึงตกลงกันไว้อย่างไรเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความประสงค์โดยสุจริตของคู่กรณีและปกติประเพณีในเรื่องนั้นประกอบกันไปด้วย...ในกรณีเช่นนี้เราต้องคำนึงถึงพฤติการณ์เป็นกรณี ๆ ประกอบ...เช่น มูลเหตุจูงใจในการทำสัญญาคืออะไร ปกติประเพณี ประโยชน์ได้เสียของคู่กรณี และความมุ่งหมายสำคัญของสัญญานั้นเองเป็นอย่างไร เป็นต้น"
กิตติศักดิ์ ปรกติ[15]

กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า นิติกรรมที่สามารถแยกส่วนได้ หมายความว่า "...หากแยกส่วนที่ไม่มีผลออกไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่มีเนื้อหาสาระพอจะเรียกได้ว่าเป็นนิติกรรมอันหนึ่งได้หรือมีสภาพเป็นนิติกรรมโดยตัวของมันเอง..."[16]

ข้อยกเว้นเรื่องการแยกส่วนนี้ พึงดูเจตนาของคู่กรณีเป็นการเบื้องต้น ในกรณีที่คู่กรณีแสดงความประสงค์จะให้แยกได้หรือไม่ไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ให้ถือตามนั้น หากคู่กรณีมิได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเช่นนั้น ก็ตกเป็นหน้าที่ของศาลที่จะตีความ[15]

กรณียกเว้น

แม้โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายไทยจะให้สันนิษฐานว่า หากส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น แต่อาจมีกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอื่นได้ เช่น กรณีที่มีการกำหนดไว้เฉพาะเจาะจง[17]

เป็นต้นว่า ป.พ.พ. ม.1684 ซึ่งมุ่งให้การตีความพินัยกรรมที่มีข้อความเป็นหลายนัย เป็นไปในทางที่จะสำเร็จตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นดีที่สุด ดังนั้น หากปรากฏว่าผู้ทำพินัยกรรมได้วางข้อกำหนดในพินัยกรรมไว้หลายประการ และปรากฏว่าข้อกำหนดใดเป็นโมฆะ ย่อมสันนิษฐานผลทางกฎหมายต่างไปจากกรณีทั่วไป กล่าวคือ สันนิษฐานไปในทางว่านิติกรรมส่วนอื่น ๆ ย่อมมีผลบังคับได้ตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมเป็นสำคัญ[18] จึงจะเห็นได้ว่าการสันนิษฐานให้ส่วนอื่นของนิติกรรมมีผลนี้ย่อมสออดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ทำพินัยกรรมที่สุด เพราะจะให้ทำพินัยกรรมขึ้นใหม่ทดแทนก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะขณะที่พินัยกรรมเดิมมีผล ผู้ทำพินัยกรรมก็ถึงแก่ความตายไปแล้ว