โมฆะ

บทความนี้มีการอ้างถึงคำสั่งศาล คำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยของศาลในระบบซีวิลลอว์โมฆะ (อังกฤษ: void) มีความหมายโดยทั่วไปว่า เปล่า ว่าง ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีผล โดยในทางกฎหมายนั้นหมายความว่า เสียเปล่า หรือไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย[1]นิติกรรม (อังกฤษ: juristic act) ที่ตกเป็นโมฆะนั้น เรียก "โมฆกรรม" (อังกฤษ: void act) โดยเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้ และจะทำให้กลับคืนดีอีกก็ไม่ได้ เปรียบดั่งคนที่ตายไปแล้ว โดยนิติกรรมจะตกเป็นโมฆะเมื่อมีความวิปลาสอย่างร้ายแรง จนกฎหมายไม่อาจยอมให้มีผลตามที่คู่กรณีในนิติกรรมนั้นประสงค์ไว้ได้ และในประเทศไทย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนก็ได้ทุกเมื่อ ไม่มีอายุความกำกับไว้ ทั้งนี้ กฎหมายไทยปัจจุบันเขียน "โมฆกรรม" เป็น "โมฆะกรรม" ตามรูปแบบการเขียนโบราณสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในเมื่อสัญญา (อังกฤษ: contract) เป็นนิติกรรมสองฝ่าย สัญญาที่ตกเป็นโมฆะจึงเรียก "โมฆสัญญา" และคำว่า "โมฆกรรม" ย่อมหมายความรวมถึงโมฆสัญญาด้วย