โมฆกรรมที่เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ของ โมฆะ

"การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น"
ป.พ.พ. ม.174

กฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.174 ให้อำนาจแก่ศาลเป็นพิเศษ ที่จะสามารถวินิจฉัยให้ถือเอานิติกรรมอันหนึ่งแทนนิติกรรมที่คู่กรณีทำไว้ หรือให้ถือเอาเจตนาอีกอย่างแทนที่คู่กรณีแสดงไว้[22] เช่น นาย ก ทำหนังสือยกที่ดินให้นาย ข ผู้เป็นหลาน โดยเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ระบุให้โอนสิทธิในที่ดินนับแต่วันเขียนหนังสือนั้น และตลอดเมื่อนาย ก สิ้นลมไปแล้วก็มิให้ใครมาเรียกร้องแบ่งมรดกไปจากนาย ข ด้วย, แล้วก็มอบหนังสือนี้พร้อมที่ดินให้นาย ข ปกครอง, ต่อมาไม่กี่เดือนนาย ก ก็ตายลง, นาย ค ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนาย ก มาฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินคืนจากนาย ข โดยอ้างว่านิติกรรมมอบที่ดินดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขณะที่กฎหมายกำหนดให้ทำ พินัยกรรมจึงต้องเป็นโมฆะ, ศาลก็อาจวินิจฉัยว่า แม้นิติกรรมการมอบที่ดินให้ระหว่างมีชีวิตจะกลายเป็นโมฆะ แต่มีการทำเป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือทั้งฉบับ ทำให้สมบูรณ์ในฐานเป็นพินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับได้

"เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล"
ป.พ.พ. ม.10

มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ประธานศาลฎีกา ว่า ปรกติแล้วศาลเป็นผู้ตีความเจตนาที่คู่กรณีแสดงออก โดยเพ่งเล็งเจตนาที่แท้จริง แต่กรณีนี้ศาลก็อาจเอานิติกรรมหรือเจตนาอื่นเข้าแทนที่นิติกรรมหรือเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีได้ อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับการตีความให้เกิดผลบังคับได้ตาม ป.พ.พ. ม.10 เพราะโมฆกรรมที่เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนี้ เป็นกรณีที่นิติกรรมหรือเจตนาไม่มีข้อกำกวมสงสัย แต่กลับเป็นโมฆะ จึงยอมให้ศาลสามารถเอาอย่างอื่นเข้าแทนอย่างที่เป็นโมฆะได้[23]

เขายังกล่าวอีกว่า[23]

"ข้อสำคัญที่จะนำหลักในบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ [ป.พ.พ. ม.174] ไปใช้ได้ ต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณีไม่รู้ว่านิติกรรมเป็นโมฆะ ถ้าหากเป็นเรื่องที่ผู้กระทำนิติกรรมได้รู้ดีแต่ต้นว่านิติกรรมของเขาเป็นโมฆะแล้ว จะนำหลักแห่งมาตรานี้ไปใช้ไม่ได้...แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องเช่นนี้อาจเป็นปัญหาในการตีความตามเจตนาของคู่กรณี ซึ่งอาจเป็นว่า เขามีความประสงค์ว่าเมื่อนิติกรรมอย่างหนึ่งเป็นโมฆะ ให้ถือเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีผลอย่างเดียวกัน แต่ใช้หลักวินิจฉัยคนละทาง

อีกประการหนึ่ง การที่จะเอานิติกรรมอื่นมาสับเปลี่ยนแทนนิติกรรมซึ่งคู่กรณีเขาได้เจตนาจะกระทำนั้น นิติกรรมที่จะนำมาสับเปลี่ยนนี้ต้องเป็นนิติกรรมที่เห็นได้ว่า ถ้าหากคู่กรณีได้รู้ว่านิติกรรมของเขาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ เขาก็ 'คงจะ' ตั้งใจให้เป็นนิติกรรมอย่างที่นำมาสับเปลี่ยน...ถ้ากรณีไม่ได้ความแจ่มแจ้ง จะเอาเอาว่าเขา 'อาจจะ' มีเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้หาได้ไม่ การทำดังนี้ได้ชื่อว่าเข้าทำนิติกรรมโดยแสดงเจตนาแทนเขา ซึ่งเกินความประสงค์ในหลักแห่งมาตรานี้"