การรักษา ของ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง

การรักษาอาการคนไข้กลุ่มนี้ของโรคกรดไหลย้อนเป็นเรื่องยากและอาจต้องใช้เวลานานเมื่อกำหนดวินิจฉัยคนไข้แล้ว การรักษาที่แนะนำก็คือเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมบวกการใช้ยา[54]

การเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหาร

การเปลี่ยนอาหารอาจรวมการจำกัดการทานช็อกโกแลต กาเฟอีน อาหารและเครื่องดื่มที่มีกรดสูง (มีรสเปรี้ยว) น้ำอัดลม อาหารมันเช่นของทอด และซอสมะเขือเทศการเปลี่ยนพฤติกรรมอาจรวมลดน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ เลี่ยงดื่มสุรา และไม่ทานอาหารก่อนนอนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พบในงานศึกษาบางงานว่า มีผลต่อการรักษาด้วยยา[55]

การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไข้เด็กรวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดไหลย้อน (เช่น ช็อกโกแลต อาหารรสเปรี้ยว อาหารเผ็ด) เปลี่ยนการวางอิริยาบถ (เช่น ให้นอนตะแคงข้างซ้าย) เปลี่ยนเนื้ออาหาร (เช่น ทำให้อาหารข้นขึ้น เพื่อเพิ่มการสำนึกการดำเนินของอาหาร) และไม่ทานอาหารก่อนนอน[27]

ยา

ยายับยั้งการหลั่งกรด

ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) เช่น โอมีปราโซล, ราบีปราโซล, esomeprazole, lansoprazole, และ pantoprazole เป็นยาอันดับแรกเพื่อระงับหรือลดอาการของโรค ปกติจะแนะนำให้ทาน 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 3-6 เดือน และคนไข้ควรทาน 30-60 นาทีก่อนอาหาร โดยช่วงเวลาทานยาก่อนอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ระงับการหลั่งกรดได้สูงสุด[55][56]ยานี้นอกจากจะระงับไม่ให้ทางเดินอาหาร-ลมหายใจส่วนบนกระทบกับกรดจากกระเพาะแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากเพปซินซึ่งต้องอาศัยความเป็นกรดเพื่อออกฤทธิ์[57]สำหรับคนไข้ที่ต้องทานยาอื่น ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเอนไซม์ cytochrome P450 โดยเฉพาะ CYP2C19 และ CYP3A4 ควรเลือกใช้ยาราบีปราโซลและ pantoprazole แทนโอมีปราโซล[54]งานปริทัศน์เป็นระบบบวกการวิเคราะห์อภิมานปี 2016 พบว่า การใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลา 3 เดือนทำให้คนไข้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือค่าวัด RSI ดีขึ้น 70-75%[58]ซึ่งเมื่ออาการโดยรวมดีขึ้นแล้วสามารถปรับลดยาแล้วหยุดยาได้ภายใน 4-6 เดือนต่อมา โดยความผิดปกติที่กล่องเสียงซึ่งกำหนดด้วย RFS อาจต้องใช้เวลารักษาถึง 6 เดือน [54]

อย่างไรก็ดี แม้งานศึกษาที่ไม่มีกลุ่มควบคุมโดยมากจะแสดงอัตราการตอบสนองต่อยาถึง 70%[59]แต่งานศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมโดยมากก็ได้แสดงว่า PPI ไม่มีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกเพื่อรักษาโรคนี้[60][61]

ยาที่ใช้เพิ่มและยาที่ซื้อเอง

สำหรับคนไข้ที่ทานยา PPI 2 ครั้งต่อวันแล้วแต่ยังมีอาการเหลือหรือมีอาการในเวลากลางคืน ยาต้านตัวรับเอช2รวมทั้งไซเมทิดีน ฟาโมทิดีน นิซาทิดีน และแรนิทิดีนที่ทานเพิ่มในช่วงกลางคืนอาจช่วย คือพบว่า การตอบสนองต่อยารวม ๆ กันจะดีขึ้นเป็น 83-90%[62]แต่ผลของยาอาจมีแค่ชั่วคราวคือเดือนเดียว[63]

สำหรับคนไข้โรคนี้ที่มีอาการตรงแบบของโรคกรดไหลย้อนด้วย คือเรอเปรี้ยวและแสบร้อนกลางอกโดยหลัก ยังสามารถพิจารณาเพิ่มยาเพิ่มความแข็งแรงของหูรูดอาหาร เช่นสารทำการต่อหน่วยรับกาบาบี (GABAB agonist) และยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetics) ด้วย[62]โดยสารทำการต่อหน่วยรับกาบาบีคือ baclofen ได้พบว่า แม้มีผลข้างเคียงสูงจึงทำให้ใช้ต่อเนื่องได้ยาก แต่ก็มีอนาคตสำหรับคนไข้ที่ต้องเพิ่มยาในเวลากลางคืน[64]ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2014 ไม่แนะนำให้ใช้ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กสำหรับโรคกรดไหลย้อน[65]และแนวทางการรักษาปี 2013 แนะนำยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก domperidone เป็นทางเลือก โดยแพทย์อาจต้องคอยตรวจตราการเปลี่ยนคลื่นหัวใจ (QT prolongation) เพราะมีความเสี่ยงเล็กน้อยเนื่องจากหัวใจเต้นเสียจังหวะและทำให้ถึงตายได้[66]

ในระยะยาว ถ้าอาการกลับกำเริบเพียงเล็กน้อย คนไข้ก็อาจใช้ยาบรรเทาอาการเช่น ยาลดกรด และ alginate (กรดอัลจินิก) ได้[62]โดยงานวิเคราะห์อภิมานปี 2007 แสดงว่า เมื่อใช้ยาที่คนไข้หาซื้อเองได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน ยาต่าง ๆ มีผลดังต่อไปนี้เมื่อเทียบกับยาหลอก[67]

  • ยาลดกรดบวกกับกรดอัลจินิก (เช่นยี่ห้อกาวิสคอน) ทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นถึง 60% (NNT=4)
  • ยาต้านตัวรับเอช2 ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ถึง 41%
  • ยาลดกรดทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นได้ 11% (NNT=13)

การผ่าตัด

เมื่อยาไม่ได้ผล อาจเลือกผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหาร (fundoplication)[68]โดยควรเลือกเมื่อจำเป็นจริง ๆ เพื่อเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่าย[54]การผ่าตัดอาจทำได้และได้ผลเฉพาะคนไข้แค่บางกลุ่ม เช่น คนไข้ที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแต่ไม่ต้องการทานยาในระยะยาว หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยควรใช้กับผู้มีอายุน้อย มีอาการตรงแบบของโรคกรดไหลย้อน (คือแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว) และได้ตรวจด้วยการวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารบวกการวัดการบีบตัวของหลอดอาหารแล้วเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริง[54]คนไข้ควรรู้ว่า การผ่าตัดอาจไม่กำจัดอาการโรคนี้ได้โดยสิ้นเชิง และแม้จะประสบความสำเร็จ การเกิดโรคซ้ำอีกในอนาคตก็ยังเป็นไปได้[69]และการผ่าตัดในประเทศไทยอาจต้องอาศัยศัลยแพทย์มือหนึ่ง ซึ่งอาจยังมีจำนวนน้อย[70]

มีการรักษาโดยผ่าตัดแบบใหม่อื่น ๆ ที่ดูจะมีอนาคตรวมทั้ง Stretta procedure และ LINX

การประเมินผล

นอกจากค่าวัด RSI แล้ววิธีการประเมินผลการรักษาของโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือวัดคุณภาพเสียง[18]โดยสามารถใช้การวัดทั้งที่เป็นอัตวิสัยและปรวิสัยการวัดที่เป็นอัตวิสัยรวมทั้ง[18]

  • Grade, Roughness, Breathiness, Asthenia, Strain Scale (GRBAS)
  • Reflux Symptom Index
  • Voice Handicap Index (VHI)
  • voice symptom scale.

การวัดแบบปรวิสัยบ่อยครั้งวัดตัวแปรต่าง ๆ ของเสียงเช่น ความถี่มูลฐาน อัตราเสียงต่อเสียงรบกวน เป็นต้น[18]อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมติร่วมกันว่า ค่าวัดไหนดีที่สุดในการประเมินผลการรักษา

ใกล้เคียง

โรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อนในเด็ก โรคกรวยไตอักเสบ โรคกระเพาะ โรคกระดูกเจริญผิดปกติชนิดไม่สามารถรอดชีวิตได้ โรคกรรมพันธุ์ โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคริดสีดวงทวาร

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง http://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S1072-... http://www.hindawi.com/journals/ijoto/2012/646901/ http://www.linxforlife.com http://www.refluxgate.com/ http://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0194599817... http://women.sanook.com/health/healthcare/sick_350... http://www.stretta-therapy.com http://www.voiceinstituteofnewyork.com/silent-refl... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/nyas.13... http://content.wkhealth.com/linkback/openurl?sid=W...