อาการ ของ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง

อาการเหนือหลอดอาหารมาจากทางเดินลมหายใจ-ทางเดินอาหารส่วนบนซึ่งถูกกับสิ่งที่ไหลย้อนมาจากกระเพาะอาหาร หรือเป็นการตอบสนองทางรีเฟล็กซ์เนื่องกับเส้นประสาทเวกัสที่จุดชนวนโดยกรดที่ถูกหลอดอาหาร[10] โดยอาการที่สามัญที่สุดก็คือมีเสมหะหรือเมือกในลำคอมาก อาจต้องขับออกบ่อย ๆ, ไอ, เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน และเหมือนมีอะไรติดค้างหรือจุกแน่นที่ลำคอ อาการอาจไม่เท่ากันทั้งวันโดยทั่วไปจะแย่สุดตอนเช้าและดีขึ้นต่อ ๆ มา[14]และอาจไม่เท่ากันในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น อาจเกิดเมื่อนั่ง ยืน เดิน มากกว่าเมื่อนอนราบ[15]

อาการอื่น ๆ อาจรวมทั้ง คอเจ็บ, กลืนลำบาก, แน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย, ไอเรื้อรัง, หายใจเป็นเสียงหวีด[16],แสบคอ แสบร้อนช่องปากหรือโคนลิ้นโดยเฉพาะในตอนเช้า, ไอหรือขับเสมหะบ่อย ๆ หลังทานอาหารหรือเอนตัวนอน, สำลักน้ำลายหรือหายใจลำบากตอนกลางคืน ซึ่งกวนการนอน, มีน้ำลายมาก, มีกลิ่นปาก, เรอเปรี้ยว, เรอขม, รู้สึกกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้น, แน่นกลางอก, และอาการโรคภูมิแพ้ที่โพรงจมูกหรือโรคหืดหอบแย่ลง[15]คนไข้บางคนจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก แต่คนอื่น ๆ ก็แทบจะไม่มี เพราะสิ่งที่ไหลย้อนจากกระเพาะไม่อยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลานานพอที่จะระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบ ๆ[16]บุคคลที่มีอาการรุนแรงอาจมีเคลือบฟันกร่อน เนื่องจากมีกรดในปากเป็นบางครั้งบางคราว[17]

อนึ่ง โรคยังอจาทำให้ช่องเสียง (vocal tract) อักเสบซึ่งทำให้เสียงแหบโดยเสียงแหบพิจารณาว่า เป็นอาการหลักของโรค และสัมพันธ์กับปัญหาความเหนื่อยล้าในการออกเสียง ตึงกระดูกและกล้ามเนื้อ และการกระแทกลมออกเสียง (hard glottal attack)[18]ซึ่งล้วนอาจทำให้สื่อสารได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ[19]คนไข้อาจพยายามชดเชยเสียงแหบโดยเกร็งกล้ามเนื้อในช่องเสียงการเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบเพราะโรคเช่นนี้ อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า การออกเสียงลำบากเพราะกล้ามเนื้อตึง (muscle tension dysphonia) ซึ่งอาจคงสภาพแม้หลังจากเสียงแหบและการอักเสบได้หายไปแล้วและอาจต้องอาศัยผู้บำบัดปัญหาทางการพูด-ภาษาเพื่อแก้ปัญหาการชดเชยที่มีผลเสียนี้[20]

ปัญหาการวินิจฉัยโรคนี้ก็คือ อาการต่าง ๆ ไม่จำเพาะพอที่จะกันว่า ไม่ใช่โรคอื่น ๆ งานวิจัยหลายงานพบสหสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างอาการของโรค สิ่งที่พบเมื่อส่องกล้องในกล่องเสียง และค่าวัดความเป็นกรดด่างใต้กล่องเสียง[21]

การสอบอาการแบบ RSI

งานวิจัยปี 2002 ได้พัฒนาแบบสอบถามคนไข้ 9 คำถามที่สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 นาที โดยแต่ละคำถามจะตอบให้ค่าตั้งแต่ 0 (ไม่มีปัญหา) จนถึง 5 (ปัญหามากสุด) รวมค่าได้ทั้งหมด 45 คะแนน งานสรุปว่า ผลที่ได้จะคงเส้นคงวาและสมเหตุสมผลถ้าจัดค่าเกิน 13 ว่าเป็นโรค[22]โดยค่าเกิน 10 จัดว่า อาจเป็นโรค[23]ผู้พัฒนาเรียกแบบสอบถามนี้ว่า Reflux Symptom Index (RSI)

แบบบอกให้คนไข้กำหนดค่าที่อาการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในระดับ 0-5 ภายในเดือนที่ผ่านมา คือ[22]

  1. เสียงแหบหรือปัญหาการออกเสียงอื่น ๆ
  2. กระแอมขับเสมหะบ่อย ๆ
  3. มีเสมหะหรือเมือกในลำคอมาก
  4. มีปัญหากลืนของแข็ง ของเหลว หรือของที่เป็นเม็ด
  5. ไอหลังจากทานอาหารหรือเมื่อเอนนอน
  6. สำลักหรือหายใจลำบากเป็นครั้งเป็นคราว
  7. ไอย่างน่ารำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน
  8. เหมือนมีก้อนหรือสิ่งแปลกปลอมในคอ
  9. แสบร้อน แสบร้อนกลางอก เจ็บปวดหรือแน่นหน้าอก อาหารไม่ย่อย หรือมีกรดไหลย้อน

การส่งต่อหาแพทย์เฉพาะทาง

อาการที่ทำให้ควรส่งต่อแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วเพื่อส่องกล้องดูกล่องเสียงรวมทั้ง[24]

  • มีปัจจัยเสี่ยงอย่างสำคัญให้เกิดเนื้อร้ายที่ศีรษะและคอ (เช่น สูบบุหรี่หนัก/ดื่มเหล้า)
  • มีประวัติเนื้อร้ายที่ศีรษะและคอ
  • เสียงแหบอย่างต่อเนื่องที่เพิ่งเกิดสำหรับผู้สูบบุหรี่
  • น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
  • การไอเป็นเลือด
  • อาการเป็นข้างเดียวในร่างกายอย่างมาก
  • เจ็บปวดมาก
  • อาการปวดหูแบบเกิดต่างที่
  • การกลืนลำบากแบบติดขวาง โดยเรอเปรี้ยวหรือไม่ก็ตาม

ภาวะแทรกซ้อน

โรคอาจก่อภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งเสียงแหบ, เสียงเปลี่ยน, ไอเรื้อรัง, เพิ่มความเสี่ยงการเกิดการอักเสบเรื้อรังในโพรงจมูกและโพรงอากาศ, ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรดหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหยุดหายใจเหตุอุดกลั้น ให้แย่ลง, และดูเหมือนจะเพิ่มโอกาสเกิดเนื้องอกและมะเร็งที่กล่องเสียง[25]

อาการในเด็ก

โรคนี้สามารถเป็นแบบเรื้อรังหรือแบบบางครั้งบางคราวในเด็ก[26]เด็กและทารกมักจะมีอาการโรคที่พิเศษ[27]อาการในเด็กรวมทั้งไอ, เสียแหบ, หายใจเข้าเสียงฮื้ด (stridor), คอเจ็บ, โรคหืด, อาเจียน, เหมือนมีอะไรติดคอ, หายใจเสียงหวีด, สูดสิ่งต่าง ๆ (มีอาหารและเครื่องดื่มเป็นต้น) เข้าทางเดินลมหายใจ (aspiration), และปอดบวมซ้ำ ๆ[27]ส่วนอาการในทารกที่สามัญรวมทั้งหายใจมีเสียงหวีด, หายใจเข้าเสียงฮื้ด, ไอเรื้อรังหรือเป็นซ้ำ ๆ, การหยุดหายใจ, มีปัญหาการทาน, สูดสิ่งต่าง ๆ เข้าทางเดินลมหายใจ, การขย้อน, และน้ำหนักไม่สมวัย[27]อนึ่ง โรคในเด็กมักเกิดอย่างสามัญคู่กับความผิดปกติทางกล่องเสียงอื่น ๆ เช่น กล่องเสียงอ่อน (laryngomalacia) ช่องหว่างสายเสียงตีบ (subglottic stenosis) และเนื้องอกแบบพาพิลโลมาที่กล่องเสียง (laryngeal papillomatosis)[upper-alpha 1][26]

ใกล้เคียง

โรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อนในเด็ก โรคกรวยไตอักเสบ โรคกระเพาะ โรคกระดูกเจริญผิดปกติชนิดไม่สามารถรอดชีวิตได้ โรคกรรมพันธุ์ โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคริดสีดวงทวาร

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง http://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S1072-... http://www.hindawi.com/journals/ijoto/2012/646901/ http://www.linxforlife.com http://www.refluxgate.com/ http://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0194599817... http://women.sanook.com/health/healthcare/sick_350... http://www.stretta-therapy.com http://www.voiceinstituteofnewyork.com/silent-refl... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/nyas.13... http://content.wkhealth.com/linkback/openurl?sid=W...