แนวทางการรักษา ของ โรคริดสีดวงทวาร

แนวอนุรักษ์

การรักษาแนวอนุรักษ์ปกติหมายถึงการทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ขาดน้ำ ใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID) การนั่งแช่น้ำอุ่น และการพักผ่อน[1]การบริโภคใยอาหารเพิ่มมีหลักฐานว่า ทำให้ได้ผลดีขึ้น[19]ซึ่งทำได้โดยเปลี่ยนอาหารหรือทานผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหาร[1][19]แต่ประโยชน์ของการนั่งแช่น้ำอุ่นในระหว่างการรักษา ยังขาดหลักฐานอยู่[20]หากใช้วิธีนี้ ควรจำกัดเวลาแต่ละครั้งไม่ให้เกิน 15 นาที[2]:182

ในการรักษาโรคริดสีดวง อาจใช้ยาใช้เฉพาะที่และยาเหน็บทางทวารหนักได้ แต่ก็ยังมีหลักฐานยืนยันประโยชน์จากยาเหล่านี้น้อยอยู่[1]ยาที่มีสเตอรอยด์ ไม่ควรใช้นานกว่า 14 วัน เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังยิ่งบางลง[1]ยาส่วนใหญ่จะเป็นยาออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่นำมาผสมกัน[2]ซึ่งอาจรวมครีมป้องกันแผลเช่นวาสลีน (ปิโตรเลียมเจลลี่) หรือซิงค์ออกไซด์ รวมยาระงับปวด เช่นไลโดเคน และรวมยาบีบหลอดเลือด เช่นเอพิเนฟรีน[2]บางอย่างอาจมียาหม่องเปรู (Balsam of Peru) ที่บางคนอาจแพ้[21][22]

ส่วนเฟลวานอยด์ (Flavonoids) นั้น ยังไม่ปราฏประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งยังอาจมีผลข้างเคียงได้ด้วย[2][23]ปกติแล้ว อาการจะหายไปเองเมื่อผ่านช่วงตั้งครรภ์ บ่อยครั้งจึงเลื่อนการรักษาอย่างแอคทีฟไปจนหลังคลอดบุตรแล้ว[24]หลักฐานไม่สนับสนุนการใช้ยาจีน[25]

หัตถการ

บางครั้งอาจต้องใช้หัตถการต่าง ๆ ที่กระทำในสถานพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะปลอดภัย และนาน ๆ ครั้งจึงเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อรอบขอบทวารหนัก[6]

  • การรัดหนังยาง (Rubber band ligation) เป็นวิธีแรกที่ปกติแนะนำให้รักษาสำหรับผู้เป็นโรคในระยะที่ 1-3[6] เป็นหัตถการซึ่งใช้หนังยางรัดหัวริดสีดวงแบบภายในอย่างน้อย 1 ซม เหนือแนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนัก (dentate line) เพื่อตัดเลือด ภายใน 5-7 วัน หัวริดสีดวงก็จะเหี่ยวแห้งหลุดออกเอง หากรัดหนังยางใกล้กับแนวรอยต่อดังกล่าวมากเกินไป ก็จะทำให้เจ็บอย่างรุนแรงทันที[1] งานศึกษาพบว่าอัตราการหายขาดมีประมาณร้อยละ 87[1] โดยอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนมีถึงร้อยละ 3[6]
  • การรักษาโดยใช้สารก่อกระด้าง (Sclerotherapy) คือการฉีดสารที่ก่อความแข็งตัวเช่นฟีนอล เข้าสู่หัวริดสีดวง ซึ่งทำลายผนังหลอดเลือดดำและทำให้หัวริดสีดวงเหี่ยวเฉาไป อัตราสัมฤทธิ์ผลหลังรักษาสี่ปีเท่ากับประมาณร้อยละ 70[1]
  • ส่วนการทำลายเนื้อเยื่อด้วยการเผา (cauterization) นั้น หลายวิธีใช้ได้ผลดีกับหัวริดสีดวง แต่ปกติจะใช้เฉพาะเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล หัตถการนี้อาจใช้การจี้ด้วยไฟฟ้า (electrocautery) การฉายรังสีอินฟราเรด การใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด[1] หรือศัลยกรรมใช้ความเย็น (cryosurgery)[26] การทำลายหลอดเลือดหรือเนื้อเยื่อด้วยแสงอินฟราเรดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับโรคระยะที่ 1 หรือที่ 2[6] แต่สำหรับระยะที่ 3 หรือ 4 อัตราการกลับมาเป็นอีกจะสูง[6]
แผนภาพแสดง Stapled hemorrhoidectomy

การผ่าตัด

เทคนิคการผ่าตัดอื่น ๆ อาจใช้ถ้าแนวทางการรักษาแบบอนุรักษ์ธรรมดา ๆ ไม่ได้ผล[6]การผ่าตัดทุกกรณีก็จะสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนอยู่บ้าง รวมทั้งเลือดออก ติดเชื้อ ช่องทวารหนักตีบ (anal stricture) และปัสสาวะคั่งค้าง (urinary retention) เนื่องจากลำไส้ตรงอยู่ใกล้กับเส้นประสาทของกระเพาะปัสสาวะ[1]บางครั้งอาจเสี่ยงกลั้นอุจจาระไม่อยู่บ้าง โดยเฉพาะอุจจาระเหลว[2][27]อัตราที่รายงานอยู่ระหว่างร้อยละ 0-28[28]การปลิ้นออกนอกของเยื่อเมือก (Mucosal ectropion) อาจเกิดหลังจากตัดหัวริดสีดวงทวารออก (hemorrhoidectomy) โดยบ่อยครั้งเกิดร่วมกับภาวะทวารหนักตีบ (anal stenosis)[29]เป็นการปลิ้นออกของเยื่อเมือกออกจากปากทวาร คล้ายกับภาวะไส้ตรงยื่นย้อย (rectal prolapse) แบบอ่อน ๆ[29]

  • การผ่าตัดริดสีดวง (Excisional hemorrhoidectomy) จะใช้เฉพาะกรณีที่อาการรุนแรง[1] ซึ่งจะเจ็บมากหลังผ่าตัด และปกติต้องใช้เวลา 2-4 อาทิตย์เพื่อฟื้นตัว[1] อย่างไรก็ดี สำหรับโรคริดสีดวงระยะ 3 ในระยะยาวจะมีประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับการรัดหนังยาง[30] การผ่าตัดเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับริดสีดวงทวารภายนอกแบบมีลิ่มเลือดอุดตัน หากกระทำให้เสร็จภายใน 24-72 ชั่วโมง[12][6] ยาทาไนโตรกลีเซอรีนที่ใช้หลังหัตถการ จะช่วยลดอาการเจ็บปวดและช่วยเยียวยารักษา[31]
  • การตัดหลอดเลือดแดงที่ผ่านเข้าหัวริดสีดวง (transanal hemorrhoidal dearterialization) นำทางด้วยคลื่นเสียงแบบดอปเพลอร์ เป็นวิธีการรักษาแบบเกิดแผลน้อยที่สุด โดยใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบดอปเพลอร์เพื่อหาตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่วิ่งเข้ามาที่หัวริดสีดวง แล้วผูกเส้นเลือดและเย็บเนื้อเยื่อที่ยื่นออกให้เข้าสู่ตำแหน่งเดิม โอกาสกลับมาเป็นอีกจะสูงกว่าเล็กน้อย แต่เปรียบเทียบกับการผ่าตัดออกแล้ว จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า[1]
  • Stapled hemorrhoidectomy/hemorrhoidopexy เป็นการใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อตัดเนื้อเยื่อริดสีดวงที่พองผิดปกติโดยตัดออกส่วนมาก แล้วเย็บเนื้อเยื่อที่เหลือกลับเข้าตำแหน่งเดิม เป็นวิธีที่โดยทั่วไปจะเจ็บน้อยกว่า และหายเป็นปกติได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการตัดหัวริดสีดวงทั้งหมดออก[1] อย่างไรก็ดี โอกาสเป็นโรคริดสีดวงอีกอาจจะมากกว่าการตัดหัวริดสีดวงออกแบบทั่วไป[32] จึงมักแนะนำให้ใช้เฉพาะโรคระยะที่ 2 หรือ 3[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคริดสีดวงทวาร http://www.diseasesdatabase.com/ddb10036.htm http://www.emedicine.com/emerg/topic242.htm http://www.emedicine.com/med/topic2821.htm http://abcnews.go.com/GMA/PainManagement/story?id=... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=455 http://mlb.mlb.com/news/article.jsp?ymd=20090305&c... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1465185... http://www.siumed.edu/surgery/clerkship/colorectal... http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perse... http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perse...