การวินิจฉัย ของ โรคริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวารโดยปกติแล้วจะวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจร่างกาย[6]การตรวจดูปากทวารและบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้วินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคริดสีดวงภายนอกหรือแบบยื่นย้อยออกมา (prolapsed)[8]การตรวจปลายลำไส้ตรงอาจทำเพื่อแยกว่าเป็นเนื้องอกในลำไส้ตรง ติ่งเนื้อเมือก ต่อมลูกหมากโต หรือฝี หรือไม่[8]โดยอาจต้องใช้ยาระงับประสาทที่เหมาะสมเพื่อระงับความเจ็บ แม้ริดสีดวงภายในส่วนมากจะไม่เจ็บ[1]เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นโรคริดสีดวงภายใน อาจต้องส่องกล้องทวารหนัก (anoscopy) โดยใช้อุปกรณ์เป็นท่อกลวงซึ่งมีไฟติดที่ข้างหนึ่ง[5]

โรคริดสีดวงทวารมีสองประเภทคือ ภายนอกและภายใน โดยต่างกันตรงตำแหน่งเมื่อเทียบกับแนวรอยต่อระหว่างปลายลำไส้กับทวารหนัก (dentate line)[1]คนไข้บางรายอาจมีอาการของทั้งสองประเภทในเวลาเดียวกัน[5]หากรู้สึกเจ็บหรือมีแผลปริที่ปากทวาร โรคริดสีดวงภายนอกจะเป็นไปได้มากกว่าแบบภายใน[5]

แบบภายใน

โรคริดสีดวงภายในจะเกิดเหนือแนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนัก (dentate line)[12]ซึ่งปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อ columnar epithelium ที่ไร้ตัวรับความรู้สึกเจ็บปวด[2]ในปี ค.ศ. 1985 ได้มีการจัดโรคเป็นสี่ระยะ โดยขึ้นกับขนาดการยื่นออกมา (prolapse)[2][1]

  • ระยะที่ 1 - ไม่ยื่นออกมา เพียงแต่หลอดเลือดจะปรากฏชัดขึ้น[6]
  • ระยะที่ 2 - จะยื่นออกเมื่อเบ่ง แต่จะกลับเข้าไปเอง
  • ระยะที่ 3 - จะยื่นออกมาเมื่อเบ่ง และจะต้องดันให้กลับเข้าไป
  • ระยะที่ 4 - จะยื่นออกมาโดยดันกลับเข้าไปไม่ได้

แบบภายนอก

โรคริดสีดวงทวารภายนอกชนิดเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

โรคริดสีดวงทวารภายนอกจะเกิดใต้แนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนัก (dentate/pectinate line)[12]และปกคลุมด้วยเยื่อบุรูทวารหนัก (anoderm) ใต้แนวรอยต่อ และด้วยผิวหนังเหนือแนวรอยต่อ โดยทั้งสองส่วนจะสามารถรู้สึกเจ็บและร้อนเย็นได้[2]

การวินิจฉัยแยกโรค

ปัญหาบริเวณปลายลำไส้และทวารหนัก รวมทั้งแผลปริที่ปากทวาร แผลชอนทะลุทวารหนัก ฝี มะเร็งลำไส้ตรง เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรง และอาการคันทวารหนัก ต่างก็มีอาการคล้ายคลึงกัน ทำให้อาจระบุผิด ๆ ว่า เป็นโรคริดสีดวงทวาร[1] อาการเลือดออกในลำไส้ตรง อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันจากมะเร็งลำไส้ตรง, จากลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) รวมทั้งแบบไม่ทราบสาเหตุ (inflammatory bowel disease), จากโรคถุงลำไส้ใหญ่ (diverticular disease), และจากความผิดปกติของเส้นเลือด (angiodysplasia)[6]หากมีภาวะโลหิตจาง ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของสาเหตุอื่น ๆ ด้วย[5]

ภาวะอื่น ๆ ที่เกิดก้อนเนื้อบริเวณปากทวารหนักได้แก่ผิวหนังเป็นติ่ง (acrochordon) หูดทวารหนัก ลำไส้ตรงยื่น (rectal prolapse) ติ่งเนื้อเมือก และปุ่มพองออกบริเวณทวารหนัก (enlarged anal papillae)[5]เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรงกับทวารหนัก (Anorectal varices) ซึ่งเกิดจากความดันโลหิตสูงในระบบเส้นเลือด Hepatic portal system อาจมีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวาร แต่จริง ๆ เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งต่างหาก[5]และอาการนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของริดสีดวงทวาร[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคริดสีดวงทวาร http://www.diseasesdatabase.com/ddb10036.htm http://www.emedicine.com/emerg/topic242.htm http://www.emedicine.com/med/topic2821.htm http://abcnews.go.com/GMA/PainManagement/story?id=... http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=455 http://mlb.mlb.com/news/article.jsp?ymd=20090305&c... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1465185... http://www.siumed.edu/surgery/clerkship/colorectal... http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perse... http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perse...