การรักษา ของ โรคเมลิออยด์

การรักษาปัจจุบัน

การรักษาโรคเมลิออยด์แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

ระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ

ยาปฏิชีวนะเซฟตาซิดิม (Ceftazidime) ทางหลอดเลือดดำเป็นยาที่ควรเลือกใช้อันดับแรกเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เฉียบพลันในปัจจุบัน[57][58] ส่วนเมอโรเพเนม (meropenem) [59] ไอมิเพเนม (imipenem) [39] และเซโฟพีราโซน-ซัลแบคแทม (cefoperazone-sulbactam) (หรือ ซัลพีราโซน (Sulperazone)) [60] ก็มีประสิทธิภาพใช้ได้[61] ยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน-คลาวูลาเนต (amoxicillin-clavulanate) (หรือโคอะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav)) อาจเลือกใช้ได้หากไม่มียาปฏิชีวนะ 4 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น แต่อาจให้ผลด้อยกว่า[62] ควรให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอย่างน้อย 10 ถึง 14 วัน และไม่ควรหยุดให้จนกว่าอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยลดกลับมาเป็นปกติอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดติดต่อกันนานเกินหนึ่งเดือน

ในประเทศออสเตรเลีย มีการใช้ยาเมอโรเพเนมเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เป็นประจำ[63] ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี และในปัจจุบันกำลังมีการวิจัยทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเมอโรเพเนมและเซฟตาซิดิมในการรักษาโรคเมลิออยด์ในประเทศไทย โดยใช้ชื่องานวิจัยว่า ATOM[64]

ในทางทฤษฎีแล้วเชื่อว่าอัตราตายในผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาไอมิเพเนมจะน้อยกว่าผู้ที่ได้รับยาอื่น เนื่องจากยาไอมิเพเนมทำให้แบคทีเรียที่ตายปล่อยชีวพิษภายในตัวออกมาน้อยกว่า [65] และค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (mean inhibitory concentration; MIC) ของยาไอมิเพเนมก็น้อยกว่าเซฟตาซิดิม แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างอัตราตายของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอมิเพเนมและเซฟตาซิดิม[39] ค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (MIC) ของเมอโรเพเนมต่อเชื้อ B. pseudomallei มีค่าสูงกว่าเชื้ออื่นๆ และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการกรองเลือด (haemofiltration) อาจต้องได้รับยาบ่อยขึ้นหรือปริมาณสูงขึ้น[66]

เซฟีพิม (cefepime) และเออตาเพเนม (ertapenem) ไม่มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย (in vitro) [67] พิเพอราซิลลิน-ซัลแบคแทม (piperacillin-sulbactam) [67] โดริเพเนม (doripenem) และไบอะเพเนม (biapenem) [68] มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย แต่ไม่มีการวิจัยทางคลินิกเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการรักษาจริง

การให้การรักษาเสริมด้วย Granulocyte colony-stimulating factor (GCSF) [69] หรือโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) [70][71] พบว่าไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการศึกษาในประเทศไทย

ระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

หลังจากการรักษาในระยะเฉียบพลัน แนะนำให้รักษาต่อเนื่องหรือกำจัดเชื้อด้วยยาโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ร่วมกับดอกซีไซคลีน (doxycycline) เป็นเวลา 12 ถึง 20 สัปดาห์เพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ[72] ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้คลอแรมเฟนิคอลเพื่อวัตถุประสงค์นี้แล้ว โค-อะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav) เป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีน (เช่นผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี) [73][74] แต่อาจให้ประสิทธิผลดีไม่เท่า การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolone) เพียงชนิดเดียว[75] หรือดอกซีไซคลีนเพื่อการรักษาระยะต่อเนื่องนั้นไม่มีประสิทธิผล[76]

ในออสเตรเลียมีการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ[63] โดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำกว่าที่พบในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการทดลองนอกร่างกายพบว่าโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีนออกฤทธิ์ต้านกัน และโค-ไตรม็อกซาโซลตัวเดียวน่าจะให้ผลดีกว่า[77] มีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (MERTH) เพื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวกับการรักษามาตรฐานด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับดอกซีไซคลีนเริ่มในปี ค.ศ. 2006 และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2008 การศึกษาสนับสนุนความจำเป็นในการติดตามการรักษาให้เพียงพอและความร่วมมือปฏิบัติตามของผู้ป่วยอย่างดีในการรักษาระยะนี้ ปริมาณยาโค-ไตรม็อกซาโซลต้องคำนวณตามน้ำหนัก (<40 กิโลกรัม: 160/800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง; 40–60 กิโลกรัม: 240/1200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง, >60 กิโลกรัม: 320/1600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง) [78]

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการระบายหนองออกใช้เพื่อรักษาฝีในต่อมลูกหมากและข้ออักเสบติดเชื้อ อาจใช้ในการรักษาฝีในต่อมน้ำลายพาโรติด แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาฝีในตับหรือม้าม ในภาวะที่มีการติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอาจพิจารณารักษาด้วยการตัดม้ามแต่มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการรักษาด้วยวิธีนี้[79]

การรักษาในอดีต

ก่อนปี ค.ศ. 1989 การรักษามาตรฐานของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันประกอบด้วยยาสามชนิดรวมกัน ได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล โค-ไตรม็อกซาโซล และดอกซีไซคลีน การรักษาด้วยสูตรนี้มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 และไม่แนะนำให้ใช้สูตรนี้หากมียาชนิดอื่นให้เลือกรักษา[57] ยาทั้งสี่ชนิดเป็นยาปฏิชีวนะชนิดยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้โค-ไตรม็อกซาโซลยังทำงานต้านกับคลอแรมเฟนิคอลและดอกซีไซคลีนอีกด้วย[80]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคเมลิออยด์ http://www.diseasesdatabase.com/ddb30833.htm http://www.emedicine.com/emerg/topic884.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=025 http://www.jpgmonline.com/article.asp?issn=0022-38... http://pathport.vbi.vt.edu/pathinfo/pathogens/Burk... http://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT00579956 http://www.niaid.nih.gov/ //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1082802 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1153798 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1317219