อาการทางคลินิก ของ โรคเมลิออยด์

โรคเมลิออยด์เฉียบพลัน

ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่สามารถระบุเวลาที่ติดเชื้อได้ พบว่าระยะฟักตัวเฉลี่ยของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันคือ 9 วัน (ตั้งแต่ 1-12 วัน) [39] ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเมลิออยด์แอบแฝงอาจไม่แสดงอาการเลยได้หลายสิบปี โดยช่วงเวลาตั้งแต่สันนิษฐานว่าติดเชื้อจนถึงระยะปรากฏอาการที่นานที่สุดเท่าที่มีรายงานคือ 62 ปี[40] ระยะฟักตัวที่ยาวนานเริ่มเป็นที่รู้จักกันจากในทหารสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิสงครามเวียดนามที่ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากหลังกลับจากสมรภูมิหลายสิบปี จนได้รับสมญานามว่า "ระเบิดเวลาเวียดนาม" (Vietnam time-bomb) ความรุนแรงของโรคเมลิออยด์มีได้หลากหลาย ในผู้ป่วยเรื้อรังอาจแสดงอาการได้นานเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเร็วร้าย (fulminant infection) โดยเฉพาะภาวะจมน้ำ อาจแสดงอาการรุนแรงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์เฉียบพลันมักมีอาการมาด้วยไข้ อาการปวดหรืออาการอื่น ๆ อาจช่วยบ่งบอกการติดเชื้อเฉพาะที่ได้ โดยพบได้ราวร้อยละ 75 ของผู้ป่วย อาการอื่นเช่นไอหรือเจ็บหน้าอกอาจบ่งถึงภาวะปอดอักเสบ อาการปวดข้อหรือกระดูกอาจบ่งถึงภาวะกระดูกอักเสบหรือข้ออักเสบติดเชื้อ หรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis) การติดเชื้อในช่องท้องเช่นฝีในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก มักไม่แสดงอาการมาด้วยปวดเฉพาะที่ จึงควรตรวจด้วยการวินิจฉัยทางรังสีเช่นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ในการศึกษาผู้ป่วย 214 ราย พบว่าร้อยละ 27.6 มีฝีที่ตับและม้าม (ช่วงความเชื่อมั่น 95%, 22.0% ถึง 33.9%) ลักษณะของฝีที่เกิดจากเชื้อ B. pseudomallei ในภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (honeycomb) หรือ เนยแข็งสวิส (swiss cheese) คือทึบเสียง มีผนังกั้นหลายอัน และแบ่งเป็นหลายช่อง (hypoechoic, multi-septate, multiloculate) [41][42]

อาการของการติดเชื้อเฉพาะส่วนแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ฝีของต่อมน้ำลายพาโรติด พบในผู้ป่วยเด็กชาวไทย แต่ในผู้ป่วยออสเตรเลียมีรายงานพบเพียงหนึ่งราย[43] ในทางกลับกัน ฝีของต่อมลูกหมากพบได้ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลียแต่ไม่พบรายงานในที่อื่น อาการสมองและไขสันหลังอักเสบพบได้ในตอนเหนือของออสเตรเลีย

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์มักมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ทาลัสซีเมีย การดื่มแอลกอฮอล์ หรือโรคไต และมักให้ประวัติอาชีพหรืองานที่สัมผัสกับโคลนหรือน้ำใต้ดิน[44] อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่แข็งแรงรวมทั้งเด็กก็อาจเป็นโรคนี้ได้

ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอาจไม่พบอาการของการติดเชื้อและต้องวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อจากเลือดหรือการป้ายคอมาตรวจ อาจกล่าวได้ว่าโรคเมลิออยด์ทำให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ยกเว้นลิ้นหัวใจ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมลิออยด์ตามหลังฝีในสมองที่แตกออก แต่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองโดยตรง อาการแสดงที่พบได้ไม่บ่อยได้แก่การติดเชื้อในหลอดเลือด ฝีของต่อมน้ำเหลือง (1.2-2.2%) [45] เยื่อหุ้มหัวใจเป็นหนอง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในประจันอก (mediastinum) ฝีในต่อมไทรอยด์และถุงอัณฑะ และการติดเชื้อในดวงตา

โรคเมลิออยด์เรื้อรัง

โรคเมลิออยด์เรื้อรังส่วนมากหมายถึงมีอาการยาวนานกว่า 2 เดือน พบได้ในผู้ป่วยราวร้อยละ 10[46] อาการแสดงทางคลินิกของโรคเมลิออยด์เรื้อรังมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาจมาด้วยการติดเชื้อที่ผิวหนังเรื้อรัง แผลที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบเรื้อรัง โดยแสดงอาการเลียนแบบวัณโรค บางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า "วัณโรคเวียดนาม" (Vietnamese tuberculosis) [47] โรคเมลิออยด์เรื้อรังอาจแสดงอาการเลียนแบบวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (tuberculous pericarditis) ได้[48]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคเมลิออยด์ http://www.diseasesdatabase.com/ddb30833.htm http://www.emedicine.com/emerg/topic884.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=025 http://www.jpgmonline.com/article.asp?issn=0022-38... http://pathport.vbi.vt.edu/pathinfo/pathogens/Burk... http://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT00579956 http://www.niaid.nih.gov/ //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1082802 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1153798 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1317219