กิจกรรมนักเรียน ของ โรงเรียนอัสสัมชัญ

กีฬา

โรงเรียนอัสสัมชัญมีสนามฟุตซอล 1 สนามตรงด้านหลังอาคาร ฟ. ฮีแลร์ สนามบาสเกตบอล 2 สนามใต้อาคารอาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์ และสนามแบตมินตัน 6 สนาม บนหอประชุมหลุยส์ มารีย์ แกรนด์ ฮอล์ นักกีฬาโครงการฟุตบอลไปฝึกซ้อมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2 แทนทั้งหมด

ทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญ

ดูเพิ่มเติมที่: สโมสรฟุตบอลอัสสัมชัญ

นับตั้งแต่โรงเรียนมีสนามวิลลามงฟอร์ตที่ข้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ในปี พ.ศ. 2457 เป็นต้นมา ทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญก็ได้นำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนเป็นอันมาก ในการแข่งที่ต่าง ๆ ทีมอัสสัมชัญมักจะได้ถ้วยชนะเลิศเสมอ โดยเฉพาะในสมัยที่เขตร ศรียาภัย ดาราฟุตบอลสมญา "แบ็คเขตร" ของทีมอัสสัมชัญ เป็นหัวหน้าทีม ตอนนั้นทีมฟุตบอลอัสสัมชัญแกร่งและมีชื่อเสียงมาก ในปี พ.ศ. 2469 ได้ชื่อว่าเป็นทีมที่แกร่งที่สุด เคยชนะถ้วยไซ่ง่อนในปี พ.ศ. 2474 และได้รับรางวัลเครื่องบินของกองทัพอากาศในปี พ.ศ. 2478[62] จนเมื่อคราวที่โรงเรียนฉลองสุวรรณสมโภชในปี พ.ศ. 2478 เขตรได้รับรางวัลเหรียญทองคำจารึกเป็นภาษาละตินว่า "SEMPER FIDELIS" แปลเป็นภาษาไทยว่า "ซื่อสัตย์ตลอดกาล" อันเป็นเหรียญเดียวที่โรงเรียนมอบให้นักเรียนตั้งแต่สร้างโรงเรียนมาตลอดเวลา 100 ปี[63]

ปี พ.ศ. 2507 เริ่มการแข่งขันฟุตบอล "จตุรมิตรสามัคคี" ระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเทพศิรินทร์ขึ้นเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นก็ได้จัดเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทีมฟุตบอลของอัสสัมชัญจะมีชื่อเสียงมากในด้านความแข่งแกร่งในยุคของเขตร แต่ในงานกีฬาจตุรมิตร กีฬาฟุตบอลของอัสสัมชัญยังคงครองอันดับ 3 เหนือเทพศิรินทร์ ทิ้งห่างสวนกุหลาบและกรุงเทพคริสเตียน[64]

ปี พ.ศ. 2515 เริ่มมีการแข่งขันกีฬาสีอันเป็นกีฬาภายในของโรงเรียน และมีการฟื้นฟูการแข่งขันกีฬาของเครือของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล (Gymkhana) ในปี พ.ศ. 2522 อีกด้วย[65] ปัจจุบัน นักกีฬาฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญ อยู่ในการกำกับของ "โครงการช้างเผือกอัสสัมชัญ" ซึ่งเป็นโครงการนักเรียนทุนมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับเด็กต่างจังหวัดที่มีความสามารถด้านกีฬาฟุตบอลแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยโครงการนี้จะมีสนามฟุตบอลเพื่อฝึกซ้อมและมีหอพักสำหรับนักกีฬา ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2[66]

ทีมบาสเกตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนอัสสัมชัญ เริ่มมีชื่อเสียงในทีมบาสเกตบอลมากขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โรงเรียนอัสสัมชัญก็ได้คว้าแชมป์บาสเกตบอลหลายรายการ เช่น รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ในรายการ “อัสสัมชัญ บาสเกตบอล อินวิเตชั่น 2012”[67] รุ่นอายุ 13 ปี ในรายการแข่งขัน "สพฐ. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ( SPONSOR THAILAND CHAMPIONSHIP 2013 )[68][69] ในปัจจุบันทีมบาสเกตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญอยู่ภายใต้การดูแลของ "งานกีฬาโรงเรียนอัสสัมชัญ" และ "ชมรมบาสเกตบอลผู้ปกครองอัสสัมชัญ" โดยมี กฤษณะ วจีไกรลาศ (อัสสัมชนิก) เป็นผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน มาสเตอร์ธงไชย มุขพันธ์ เป็นผู้ควบคุมทีม มาสเตอร์ภูริพันธ์ โชติหิรัญธนนนท์ และเกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ เป็นผู้ฝึกสอน

เชียร์และแปรอักษร

ดูเพิ่มเติมที่: การแปรอักษร
การแปรอักษรภาพเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ของโรงเรียนอัสสัมชัญในจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 28 เมื่อปี พ.ศ. 2560

ราวกลางปี พ.ศ. 2487 ในวันชิงชนะเลิศฟุตบอลรุ่นกลางระหว่างอัสสัมชัญกับอุเทนถวาย มาสเตอร์เฉิด สุดาราจัดให้นักเรียนที่แต่งเครื่องแบบ ซึ่งเป็นเสื้อสีขาวติดกระดุม 5 เม็ด สวมหมวกหม้อตาลสีขาว และกางเกงสีน้ำเงินมาบรรจุให้เต็มเป็นพื้น จึงทำให้เกิดรูป "อสช" อย่างชัดเจน นับว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ณ สนามศุภชลาศัย[70] และในปีต่อมาก็ได้มีการดัดแปลงแก้ไขมาเป็นภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยอาศัยการย้ายตำแหน่งผู้แปร ต่อมาก็ดัดแปลงเป็นการใช้กระดาษสี ผ้าสี จนกระทั่งมาเป็นการใช้ "เพลท" และ "โค้ต" ดังในปัจจุบัน[71][72]

วารสารโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2456 ภราดาฟ. ฮีแลร์ ได้เริ่มจัดพิมพ์หนังสือของโรงเรียน ซึ่งมีทั้งภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส รวมอยู่ในเล่มเดียวกันชื่อ "อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" ( Echo de L'Assomption) ฉบับแรกออกในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2456[73] และออกทุก 4 เดือน เพื่อเสนอเกี่ยวกับข่าวทั่วไปของโรงเรียน เช่น ข่าวเหตุการณ์ ข่าวกีฬา หรือข่าวมรณะ ตลอดจนบทความต่าง ๆ[74] แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามอินโดจีนในปี พ.ศ. 2484 ภราดาฮีแลร์ ต้องอพยพไปอยู่ที่เมืองปุทุจเจรี ในเขตปกครองปุทุจเจรี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในสมัยนั้น อีกทั้งกระดาษที่จะใช้พิมพ์หนังสือก็หาได้ยากเนื่องจากสภาวะสงครามจึงทำให้หนังสือ "อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" ต้องถึงแก่กาลอวสานไป

ในปี พ.ศ. 2495 ในสมัยของเจษฎาธิการอูรแบง นักเรียนชั้นโตของโรงเรียนได้ร่วมกันจัดทำหนังสือ "อุโฆษสาร" ขึ้นแทนหนังสือ "อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" โดยทำเป็น 3 ภาษาเช่นเดิมและคอลัมน์หลักก็คล้ายคลึงกับของเดิม ฉบับปฐมฤกษ์ได้พิมพ์ออกมาในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2495 แต่ออกมาได้เพียง 4-5 เล่มก็ต้องหยุดไป มาเริ่มใหม่ในปี พ.ศ. 2506-2524 ก็หยุดไปอีก ในช่วงหลังนี้รูปแบบของหนังสือได้เปลี่ยนไปเป็นแนวหนังสือประจำปีของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นเพื่อให้ยังคงมีการเล่าข่าวคราวของโรงเรียน และเป็นสนามฝึกนักแต่งทั้งหลายเช่นเดิม ทางชุมนุม ภาษา และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาสเตอร์ประถม โสจนานนท์ และมาสเตอร์ชาลี เชาวน์ศิริ เป็นหัวเรือใหญ่ ก็ได้ออกหนังสือรายเดือนชื่อ "อัสสัมชัญสาส์น" ขึ้นเป็นฉบับแรกในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512[75] และต่อมาภายหลังได้มีผู้รับช่วงงานติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้เป็นหนังสือที่ออกโดยทางโรงเรียนเป็นครั้งเป็นคราวไป

ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการก่อตั้ง "กองบรรณาธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ" ขึ้นโดยนายวริศ ลิขิตอนุสรณ์ และนักเรียนที่มีความสนใจ เพื่อตีพิมพ์วารสาร AC Echo แจกจ่ายให้กับนักเรียนในโรงเรียน ภายใต้แนวคิด เพื่อนเขียน ให้เพื่อนอ่าน วารสารตีพิมพ์ฉบับแรกในวันที่ 5 สิงหาคม เรื่องปกเป็นเรื่องราวของนายยูน พูนนอก หรือ ลุงยูน นักการอาวุโสของโรงเรียน หลังจากนั้นได้มีการตีพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาที่เป็นที่สนใจของนักเรียน เช่น เรื่องลี้ลับในโรงเรียน ประวัติสภานักเรียน บทสัมภาษณ์ครูที่เป็นที่พูดถึง และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในหมู่นักเรียน วารสารได้มีการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์และแอปพลิเคชัน

กิจกรรมด้านศาสนา

โรงเรียนอัสสัมชัญมีกิจกรรมด้านศาสนาหลายกิจกรรม ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ได้แก่ วจนพิธีกรรม เปิดปีการศึกษา, พิธีมิสซาศุกร์ต้นเดือน, พิธีสมโภชพระวรกาย และพระโลหิตพระคริสตเจ้า, พิธีฉลองศาสนนามท่านผู้อำนวยการ, พิธีวันฉลองนักบุญเปโตร อัครสาวก, วันระลึกถึงการสถาปนานักบุญหลุยส์-มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต, พิธีบูชามิสซาสมโภชแม่พระ และพิธีเปิดไฟคริสต์มาสและพิธีเสกถ้ำพระกุมาร นอกจากนี้โรงเรียนอัสสัมชัญยังได้ส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาด้วย เช่น การถวายเทียนจำนำพรรษาและหล่อเทียนพรรษา กิจกรรมฟังธรรมะบรรยายในทุกวันศุกร์ต้นเดือน[76]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนอัสสัมชัญ http://www.acassoc.com/ http://www.acassoc.com/%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7... http://www.acassoc.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A2... http://www.acpta.com/index.php?option=com_content&... http://www.acpta.com/index.php?option=com_content&... http://www.ac106.aiafanclub.com/index.php?option=c... http://assumptionmuseum.com/th-th/ http://www.assumptionmuseum.com/th-th http://www.assumptionmuseum.com/th-th/ http://www.assumptionmuseum.com/th-th/about/