ประวัติ ของ โรงเรียนอัสสัมชัญ

ช่วงแรก

ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนอัสสัมชัญ คือ บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ (คุณพ่อกอลมเบต์) อธิการโบสถ์อัสสัมชัญ ชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2420 โดยเริ่มจากการให้การศึกษาแก่เด็กคาทอลิก (คริสตัง) ณ วัดสวนท่าน อันเป็นโบสถ์คาทอลิกแห่งหนึ่งในชุมชนแถบบางรัก ใกล้ริมฝั่งเจ้าพระยา เขาเข้ามาอาศัยในประเทศสยามแล้วประมาณ 5 ปี ท่านได้เริ่มให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ ในละแวกนั้น ซึ่งมีทั้งเด็กคาทอลิกที่ยากจน และกำพร้า เพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้มีความรู้ ด้วยการสอนวิชาความรู้และศาสนาควบคู่กันไป จากหนังสือประวัติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2507 กล่าวถึงการจัดการศึกษาฝ่ายโรงเรียนราษฎร ว่า "...ใน พ.ศ. 2420 มีโรงเรียนไทย-ฝรั่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่าโรงเรียนอัสสัมชัญ..."[14] อันที่จริง โรงเรียนไทย-ฝรั่งที่ว่านี้ ที่ถูกต้องคือ โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน ซึ่งตั้งขึ้น โดยบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Piere Emile Colombet) นั่นเอง โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศสแห่งนี้ กล่าวได้ว่าคือรากฐานที่พัฒนามาสู่โรงเรียนอัสสัมชัญในอีก 8 ปีต่อมา โดยแรกเริ่มมีนักเรียน 12 คน

เรือนไม้ที่คุณพ่อกอลมเบต์ใช้สอนหนังสือ เป็นอาคารเรียนแห่งแรกของโรงเรียนภาพหมู่นักเรียนอัสสัมชัญและคณะภราดาในช่วงยุคแรกของโรงเรียน

ในช่วงปีแรกนั้น นักเรียนยังมีจำนวนน้อย ท่านต้องเดินไปตามบ้านเพื่อขอร้องให้ผู้ปกครองส่งเด็กมาเรียนหนังสือกับท่าน จนต่อมาท่านก็ได้ใช้เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 3 งาน ตรงบริเวณนั้นก็มีบ้านของคุณพ่อกังตอง (pere Ganton) อันเป็นเรือนไม้เก่าขนาดเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นโดยมุขนายกฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว เมื่อ พ.ศ. 2392 เป็นบริเวณที่พักของคุณพ่อกังตองซึ่งเป็นหัวแรงใหญ่ในการดูแลงานโรงเรียน มีเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ซึ่งกั้นเป็นห้องเรียนได้ 1 ห้อง และบนเรือนเป็นห้องเรียนได้อีก 1 ห้อง เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน และมีลานเล่นทีมีหลังคามุงด้วยจาก พอให้นักเรียนได้มีที่กำบังแดดและฝนยามวิ่งเล่นอีกหลังหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้คุณพ่อกอลมเบต์ยังได้จ้างนายคอนอแว็น ชาวอังกฤษให้มาเป็นครูใหญ่ โรงเรียนของท่านได้เริ่มเปิดเรียนวันแรกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ (Le Collège de l'Assomption) ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้ ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียน 33 คน[2]

ประตูรั้วโรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ

ด้วยจำนวนนักเรียนเพียง 33 คน ทำให้ครูใหญ่รู้สึกท้อถอยและคิดจะลาออกกลับไปยังประเทศของตน แต่คุณพ่อกอลมเบต์ก็ได้ปลุกปลอบและให้กำลังใจเรื่อยมา จนในที่สุดก็มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน โดยนักเรียนคนแรกของโรงเรียน คือ ยวงบัปติส เซียวเม่งเต็ก (อสช 1)[15] ปีต่อมามีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 130 คน การเรียนการสอนในยุคแรกเป็นภาษาไทยควบคู่กับภาษาฝรั่งเศส

เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สถานที่จึงคับแคบลง คุณพ่อกอลมเบต์ปรารถนาที่จะสร้างอาคารใหม่ ท่านจึงได้ออกเรี่ยไรเงินไปตามบ้านผู้มีจิตศรัทธาต่าง ๆ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไปถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับคุณพ่อกอลมเบต์เพื่อใช้ในการดำเนินงานการก่อสร้างเรียนครั้งนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน 50 ชั่ง (4,000 บาท) และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชทาน 25 ชั่ง (2,000 บาท) พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ ก็ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลในครั้งนี้ด้วย

23 เมษายน พ.ศ. 2430 คุณพ่อกอลมเบต์ลงนามสัญญาก่อสร้างตึกเรียนหลังแรกกับมิวเตอร์กราซี (Mr. Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี ด้วยจำนวนเงิน 50,000 บาท และได้เริ่มวางรากฐานการก่อสร้างตึกหลังแรกของโรงเรียนซึ่งมีชื่อว่า "Le Collège de l'Assomption" (ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ตึกเก่า") ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 และในวันที่ 15 สิงหาคม ปีนั้น อันเป็นวันสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (อัสสัมชัญ) ซึ่งนับว่าเป็นฤกษ์ดี คุณพ่อกอลมเบต์จึงเลือกการวางศิลารากโรงเรียนในวันนั้น โดยเชิญคุณพ่อดองต์ (d'Hondt) ผู้ช่วยมุขนายกมิสซังกรุงเทพมหานคร มาทำการเสกศิลา และได้พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งกลไฟชื่อ "อาเลกซันตรา" ซึ่งกรมหมื่นดำรงราชนุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ พระยาภาสกรวงษ์ ผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ได้นำคุณพ่อดองต์ และคุณพ่อกอลมเบต์ ไปรับเสด็จที่ท่า ผ่านกระบวนนักเรียน ตามทางประดับด้วยผ้าแดง ธงต่าง ๆ ต้นกล้วย ใบไม้ เสื่อลวด ดังปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 4 แผ่นที่ 18 หมายเลข 138 [16] ว่า "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ เวลาบ่าย 4 โมงเสศ...ทรงจับฆ้อนเคาะแผ่นศิลานั้น" แล้วดำรัสว่า ให้ที่นี้ถาวรมั่นคงสืบไป อาคารใหม่ (ตึกเก่า) หลังนี้ได้สร้างสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2433[17]

ตึกเก่า กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของโรงเรียนอัสสัมชัญในอดีต ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไป เพื่อนำที่ดินมาใช้สร้าง ตึก ฟ.ฮีแลร์

ปี พ.ศ. 2439 จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจนถึง 300 คน และเพิ่มเป็น 400 คนในปีต่อมา จนทำให้ภาระของคุณพ่อกอลมเบต์เพิ่มมากขึ้น ศิษย์ของท่านมีทั้งชาวไทย ชาวจีน แขก ฝรั่ง ทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ โรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ ศาสนาอิสลาม ลัทธิขงจื๊อ ฯลฯ ทำให้ท่านมีเวลาเพื่อศาสนากิจอันเป็นงานหลักของท่านน้อยเกินไป ดังนั้นเมื่อตึกเรียนได้เริ่มใช้งานมา 10 ปีแล้ว คือเริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2433 การดำเนินงานของโรงเรียนก็เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เมื่อท่านป่วยและต้องเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเพื่อรักษาตัวในปี พ.ศ. 2433 ท่านจึงได้มอบหมายภาระทางด้านโรงเรียนนี้ให้กับคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เพื่อมาดำเนินงานต่อจากท่าน เมื่อท่านได้กลับมาประเทศไทย หลังจากที่รักษาตัวที่อยู่ที่ฝรั่งเศสเกือบ 3 ปี ท่านยังแวะเวียนมาดูแลภราดรและโรงเรียนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะทุกวันอาทิตย์และทุกปิดเทอมที่ท่านร่วมขบวนทัศนาจรด้วย[18]

ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนเก่า (พ.ศ. 2420 - พ.ศ. 2427) กับโรงเรียนใหม่ (พ.ศ. 2428 เป็นต้นมา)[18][19] ของคุณพ่อกอลมเบต์ก็คือ โรงเรียนใหม่มิได้มุ่งสอนเฉพาะเด็กโรมันคาทอลิกอีกต่อไป หากเปิดกว้างสำหรับนักเรียนทุกเชื้อชาติ ศาสนา เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนคือ พ.ศ. 2428 จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐกำลังจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นตามวัด เพื่อให้ราษฎรทั่วไปมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนตามแบบหลวงที่ได้จัดให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการมาก่อนแล้ว เมื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ หรืออาซมซาน กอเล็ศ เปิดขึ้นจึงเป็นการสอดรับกับนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐพอดี ทั้งยังเป็นการช่วยขยายการศึกษาออกสู่ราษฎรอีกประการหนึ่ง[20]

คณะเซนต์คาเบรียลรับช่วงต่อ

เหล่าคณะภราดาคณะเซนต์คาเบรียลที่มารับช่วงต่อจากคุณพ่อกอลมเบต์

ในปี พ.ศ. 2443 บาทหลวงกอลมเบต์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือด้านบุคลากรมาจากคณะภราดาเซนต์คาเบรียลประเทศฝรั่งเศส และในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ภราดา 5 ท่าน โดยการนำของภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ ภราดาอาแบล ภราดาออกุสต์ ภราดาคาเบรียล เฟอร์เร็ตตี และภราดาฮีแลร์ ได้เดินทางถึงกรุงเทพมหานคร และเข้ารับช่วงงานและสานต่องานด้านการศึกษาจากบาทหลวงกอลมเบต์ ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญกลายเป็นโรงเรียนแห่งแรกในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ในเวลานั้นโรงเรียนมีอาคารอยู่ 3 หลังด้วยกันคือ "ตึกเก่า" เรือนไม้หลังแรก บ้านคุณพ่อกังตอง และลานเล่นที่มุมด้วยหลังคาจาก ซึ่งเป็นที่เล่น พักผ่อน และที่ทำโทษให้ "ยืนเสา" เมื่อทำผิด

เมื่อท่านภราดาเพิ่งเข้ามารับการสอนแทนคุณพ่อกอลมเบต์ใหม่ ๆ นั้น คุณพ่ออื่น ๆ ที่เคยเป็นครูก็ออกไปสอนศาสนากันทั้งสิ้น เหลือแต่คุณพ่อกังตองผู้เดียวที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่เหล่าภราดาและนักเรียน จนกระทั่งวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2455 คุณพ่อกังตองก็จากไปรับตำแหน่งใหม่ที่ฮ่องกง และมรณภาพที่นั่นในปีต่อมา ตอนนั้นเหล่าภราดาที่เข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ยังไม่ชำนาญภาษาไทย จึงได้มีการจัดให้มีครูไทยกำกับแปลในชั้นเรียนต่ำ ๆ ที่เด็กยังไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศ ปอล จำเริญ (ขุนสถลรถกิจ) จึงได้สมัครมาช่วยเป็นครูแปลให้ จนสิ้นปี พ.ศ. 2445 ภราดาต่าง ๆ ก็สามารถจะพูดไทยได้ดีขึ้น[21]

ในสมัยนั้นคณะภราดาจะทำหน้าที่สอนภาษาฝรั่งเศสและจ้างครูมาสอนภาษาอังกฤษแต่มิได้เป็นครูประจำ ครูประจำมีแต่ภาษาไทยเท่านั้น แต่เมื่อชั้นเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องหาครูมาประจำตอนแรกก็เป็นพวกลูกครึ่งแขก-อังกฤษหรือลูกครึ่งโปรตุเกสบ้าง แต่แล้วในที่สุดก็พบว่านักเรียนเก่าของโรงเรียนที่จบออกมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้านั้นสามารถทำงานได้อย่างดี เพราะคุ้นเคยกับวิธีการสอน และระบบการทำงานของโรงเรียนมากกว่าคนนอก

ตั้งแต่เริ่มแรก การเรียนปีหนึ่งจะเริ่มจากสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์และเรียนเรื่อยไปจนวันที่ 21 ธันวาคมของทุกปี อันเป็นวันแจก Diploma Certificater และรางวัลต่าง ๆ สำหรับผู้ที่จบหลักสูตรและมีผลการเรียนดีเด่น ในวันนั้นจะมีการแสดงละครทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นประเพณีทุกปี บรรดาผู้ปกครองได้รับเชิญให้มาร่วมในงานนี้ด้วย[22]

การพัฒนาโรงเรียนในช่วงก่อน พ.ศ. 2475

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ภราดามาร์ตินได้ขอเปลี่ยนโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งขึ้นทะเบียนของกระทรวงธรรมการอย่างโรงเรียนมัธยมพิเศษ เป็นโรงเรียนอุดมศึกษา และขอให้เจ้าพนักงานไปควบคุมการสอบไล่ของนักเรียน พ.ศ. 2455 แต่ทางกระทรวงฯ ก็ยังไม่ได้รับรองเทียบเท่าชั้นมัธยม 6 ให้เพราะจัดสอบไล่เองและข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด กระทรวงฯ มิได้เป็นผู้ตัดสินและตรวงสอบ จนกระทั่งในการสอบปลายปี 2485 โรงเรียนจึงได้ใช้ข้อสอบของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นภาษาไทยแทน ในปี พ.ศ. 2456 ได้มีการจัดตั้งสภานักแต่งชื่อ "อัสสัมชัญอาคาเดมี" ขึ้นเพื่อรับสมาชิกเอก โท ตรี สำหรับนักเรียนที่ยังเรียนอยู่ และผู้ที่ออกไปแล้วจะได้หัดแต่งเรื่องราวให้มีโวหารสำนวนน่าชวนอ่าน และได้มีการจัดตั้ง "อัสสัมชัญยังแม็น" (A.C.Y.M.A.) สำหรับนักเรียนใหม่มีโอกาสรื่นเริงบันเทิงใจด้วยกัน และคบหาสมาคมกับนักเรียนเก่าที่เป็นผู้ใหญ่ รู้ขนบธรรมเนียมของโลกและการงานต่าง ๆ ด้วย ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2457 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นแถวบางรัก เพลิงโหมตั้งแต่บ่ายสามถึงราวเที่ยงคืน อยู่ห่างจากโรงเรียนเพียง 2-3 ร้อยหลา[23]

ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2457 ได้มีการเปิดการแข่งขันกรีฑาของคณะเซนต์คาเบรียล (Gymkhana) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโรงเรียนอัสสัมชัญก็ได้เข้าร่วมในกรีฑาครั้งนี้ด้วย และในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เป็นวันที่โรงเรียนมีนักเรียนที่กำลงศึกษาอยู่ถึง 1,000 คน จากนั้น 2 ปี เกิดเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในช่วงวันที่ 15-25 ตุลาคม พ.ศ. 2461 ทำให้โรงเรียนหยุดชั่วคราว มีครูและนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เป็นอันมาก ต่อมา เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อตี 4 ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ที่บ้านติดกับเรือนไม้ของโรงเรียน ทุกคนเห็นตรงกันว่า โรงเรียนรอดมาได้ราวกับปฏิหาริย์ เพราะคำภาวนาของท่านภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ ซึ่งคุกเข่าสวดมนต์หันหน้าเข้าหาไฟอยู่บนระเบียงของเรือนไม้[24]

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2463 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอสมุดวิชรญาณสำหรับพระนคร ได้เสด็จทรงเยี่ยมดูโรงเรียนและพบปะกับภราดาฮีแลร์เพื่ออธิบายความคิดเห็นของพระองค์ในเรื่องหนังสือดรุณศึกษา ซึ่งภราดาฮีแลร์เป็นผู้แต่งขึ้นสำหรับใช้สอนภาษาไทยให้กับเด็กๆ[25] โดยมีภราดาหลุยส์ อีแบร์ ครูวาดเขียนเป็นผู้วาดรูปถ่าน และรูปสีต่างๆประกอบ

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน พระองค์ได้พระราชทาน พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า[26]

...ที่จริงโรงเรียนนี้ข้าได้คิดมานานแล้วว่าอยากจะมาดูสักทีหนึ่ง เพราะว่าในการที่พวกคณะโรมันคาทอลิกอุตสาหะสร้างโรงเรียนนี้ขึ้น ก็นับว่าเป็นกุศลเจตนาบุญกิริยา ซึ่งน่าชมเชยและน่าอนุโมทนาเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระบรมชนกนาถของข้าจึงได้ทรง อุดหนุนมาเป็นอันมากและก็การที่โรงเรียนนี้ได้รับความอุดหนุน รับพระมหากรุณาของพระเจ้าอยู่หัว มาทุกรัชกาลนั้นก็ไม่เป็นการเปล่าประโยชน์และผิดคาดหมาย เพราะโรงเรียนนี้ได้ตั้งมั่นคงและได้ทำการสั่งสอนนักเรียนได้ผลดีเป็นอันมากสมกับที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระเจ้าแผ่นดินเป็นลำดับมาโรงเรียนนี้ได้เพาะข้าราชการและพลเมืองที่ดีขึ้นเป็นอันมาก นักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้ได้รับราชการในตำแหน่งสูง ๆ อยู่เป็นอันมาก...

ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2470 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการก็ได้เสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โรงเรียนได้จัดงาน "สุวรรณสมโภช" หรือการฉลองครบรอบ 50 ปีในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2476

การนัดหยุดเรียนประท้วงของนักเรียนอัสสัมชัญและเซนต์คาเบรียล

ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2475 นักเรียนชั้นโตของโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียล นัดหยุดเรียน และไปชุมนุมในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงการธรรมการ เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ลดค่าเล่าเรียนตามสมควร ให้หยุดเรียนในวันพิธีของศาสนาพุทธ และให้รับนักเรียนที่ถูกไล่ออกกลับเข้าเรียน ในที่สุด โรงเรียนให้คำตอบ ปรกติโรงเรียนก็พิจารณาลดค่าเล่าเรียนให้นักเรียนที่มีฐานะไม่ดีจ่ายค่าเล่าเรียนตามกำลังทรัพย์อยู่แล้ว และโรงเรียนยังมีเด็กกำพร้าและเด็กอนาถาที่งดเก็บค่าเล่าเรียน และจะต้องเลี้ยงดูอยู่หลายร้อยคน จึงขอให้พวกมีฐานะที่จะเสียได้ ได้ช่วยกันเสียค่าเล่าเรียนตามที่กำหนดด้วย ส่วนวันหยุดนั้นไม่อาจจะวางตายตัวได้ เพราะที่โรงเรียนเรียนมีนักเรียนหลายศาสนามาก หากหยุดก็ต้องหยุดในวันศาสนาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นการยุ่งยาก แต่อย่างไรก็ตามก็ได้อนุญาตให้นักเรียนลาหยุดในวันศาสนาของแต่ละคนอยู่แล้วมิได้ขัดขวาง ส่วนจะให้รับนักเรียนที่ถูกไล่ออกไปกลับเข้าเรียนตามเดิมนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยจะทำให้โรงเรียนเสียระบบการปกครองไป

ในการหยุดเรียนคราวนั้นโรงเรียนได้ปิดตัวเองไปเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ๆ โดยถือโอกาสเป็นปิดเทอมแทนเดือนตุลาคมไป และเปิดเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2475 เหตุการณ์ครั้งนั้นนับว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักเรียนบางคนเท่านั้น[27]

การพัฒนาโรงเรียนหลัง พ.ศ. 2475

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 โรงเรียนก็ได้เปิดแผนกพาณิชย์ขึ้นในโรงเรียน โดยมีภราดาโรกาเซียงเป็นผู้ควบคุมดูแล ต่อมาแผนกนี้ได้ถูกย้ายไปเปิดเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการปัจจุบัน ต่อมาโรงเรียนอัสสัมชัญได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จเยี่ยมโรงเรียนอย่างไม่เป็นทางการ โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยคุณพ่อโชแรง บาทหลวงอาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย และในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งจัดโดยสถานทูตฝรั่งเศสหอประชุมสุวรรณสมโภช ในวโรกาสที่โรงเรียนเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานวชิรสมโภชอีกด้วย[24][28]

จากความคิดเพื่อต้องการเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์และนักเรียน ระหว่างโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ทั้ง 4 แห่งของไทย ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ มาสเตอร์บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญในขณะนั้น จึงตัดสินใจร่วมมือจัดการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีระหว่าง 4 สถาบันขึ้น ซึ่งได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ[29]

โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

สืบเนื่องจากโรงเรียนอัสสัมชัญคับแคบ ประกอบกับจำนวนนักเรียนทุกระดับชั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ต่อมาได้มีแนวคิดที่จะแยกแผนกประถมและแผนกมัธยมศึกษาออกจากกัน และในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ก็เริ่มมีการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกของแผนกประถมศึกษา คือ "ตึกมาร์ติน เดอ ตูรส์"[30] บนสนามส่วนหนึ่งของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ด้านติดเซนต์หลุยส์ซอย 3 ถนนสาทรใต้ ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 5 ไร่ 4 งาน ใน พ.ศ. 2509 นักเรียนชั้นประถม 1-4 ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ณ เลขที่ 90/1 ซอยสาทร 11 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ เพื่อลดจำนวนนักเรียนลงให้พอกับห้องเรียนที่มีอยู่ขณะนั้น

เปิดสอนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 มีภราดาวิริยะ ฉันทวโรดมดำรงตำแหน่งอธิการ และเริ่มให้นักเรียนเข้าเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 โดยพระคุณเจ้ายวง นิตโย เป็นผู้เสกอาคาร และหม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี[31][32]

ปัจจุบันโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ส่วนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ใช้ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรักเช่นเดิม

หลังแยกแผนกประถมศึกษา

ใน พ.ศ. 2511 ภราดาพยุง ประจงกิจได้ตั้งคณะ "วาย.ซี.เอส" (Y.C.S) ขึ้นเพื่ออบรมสั่งสอนให้นักเรียนคาทอลิกได้รู้จักการเป็นคาทอลิกที่ดีอยู่ในศีลธรรม ตามคำสอนของศาสนา[33] ส่วนบัตรประจำตัวนักเรียนเริ่มใช้ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2513 เป็นวันแรก

ใน พ.ศ. 2513 ตึกเก่า ซึ่งมีอายุได้ 80 ปีแล้ว ถูกรื้อถอนเพื่ร้างอาคารเรียนหลังใหม่ชื่อ ตึก ฟ.ฮีแลร์ ในช่วงระหว่างกำลังก่อสร้างอาคาร ทำให้ห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเรียนการสอน นักเรียนในขณะนั้นต้องผลัดกันเรียนเป็นผลัดเช้าและผลัดบ่ายที่ตึกกอลมเบต์ จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น สองผลัด ของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2515 และนักเรียนรุ่นนั้น (พ.ศ. 2505 - 2517) ยังเป็นนักเรียนรุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก ตลอดตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 จนจบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5[34] รุ่นต่อจากนี้จะย้ายไปเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมแทน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิด ตึก ฟ.ฮีแลร์ ในปีเดียวกัน วันที่ 30 มิถุนายน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่๗เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมสุวรรณสมโภชของโรงเรียน เพื่อทอดพระเนตรละครเรื่อง "อานุภาพแห่งความเสียสละ" ซึ่งจัดขึ้น ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,000 บาท แก่โรงเรียนเพื่อสมทบทุนสร้างตึก "ฟ. ฮีแลร์"[35] ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 จอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้มาเป็นประธานเปิดงานชุมนุมผู้แทนองค์การศาสนา ครั้งที่ 8 ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช สองปีถัดมาในปี พ.ศ. 2517 มีการจัดตั้งสภานักเรียนขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นคณะกรรมการนักเรียน[36] ใน พ.ศ. 2527 โรงเรียนอัสสัมชัญมีอายุครบ 100 ปี ขณะนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 อยู่ระหว่างเสด็จเยือนประเทศไทย มีการแปรอักษรเนื่องในโอกาสพิเศษนี้เป็นครั้งแรก[37] และพระองค์ทรงเสกศิลาฤกษ์ ตึกอัสสัมชัญ 100 ปี ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงโขนชุด "สมโภชพระราม" ในงานสมโภชอัสสัมชัญ 100 ปี ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช ภายในโรงเรียน[38]

ลานแดง และตึก ฟ.ฮีแลร์ ซึ่งสร้างขึ้นแทน ตึกเก่า เพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2530 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานงานเฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนครบรอบ 100 ปี (15 สิงหาคม 2430) และเป็นครั้งแรกที่คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญร่วมกันแปรอักษร ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งใหม่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ในโอกาส "ครบรอบ 108 ปี โรงเรียนอัสสัมชัญ" ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในศุภวาระสมโภชครั้งนี้ด้วย ต่อมา ในสมัยภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม เป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญสมัยที่ 2 นับได้ว่าเป็นช่วงสำคัญของโรงเรียนอัสสัมชัญ อาทิเช่น โรงเรียนได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ไปแสดงศิลปะและวัฒนธรรมไทยเทิดพระเกียรติ ณ โอเปร่าฮอล กรุงออตตาวา เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้น ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โรงเรียนอัสสัมชัญได้เป็นเจ้าภาพเปิดงานประชุมสมัชชาภราดาภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ในเครือนักบุญหลุยส์ เดอ มงฟอร์ต ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2542 คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมแปรอักษรกับ 4 สถาบันจตุรมิตรในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกล และ แปซิฟิกตอนใต้ หรือ เฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ณ สนามศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต[39]

นอกจากนี้ ทุก 2 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญจะร่วมแปรอักษรกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ (ยกเว้น พ.ศ. 2554 โรงเรียนกลุ่มจตุรมิตรสามัคคีร่วมแปรอักษรในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ครบ 100 ปี)[40][41]

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญจำนวน 1,250 คน ร่วมกันแปรอักษรเป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ จำนวน 10 ภาพ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โรงเรียนอัสสัมชัญได้รับหน้าที่ในโอกาสพิเศษ ที่องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญกว่า 1,250 คน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 4 โรงเรียนเดียวที่เป็นโรงเรียนคาทอลิกร่วมแปรอักษรในพิธีสหบูชามิสซา เพื่อประชาสัตบุรุษ ณ สนามศุภชลาศัย เป็นการแปรอักษรในโอกาสพิเศษครั้งที่ 2 ในรอบ 35 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จากการรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทย[37][42] ซึ่งการซ้อมแปรอักษรดังกล่าวเป็นการซ้อมแปรอักษรในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29ที่จัดก่อนหน้าพิธีดังกล่าวเพียง 1 สัปดาห์ภายในโรงเรียนด้วย[43]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนอัสสัมชัญ http://www.acassoc.com/ http://www.acassoc.com/%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7... http://www.acassoc.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A2... http://www.acpta.com/index.php?option=com_content&... http://www.acpta.com/index.php?option=com_content&... http://www.ac106.aiafanclub.com/index.php?option=c... http://assumptionmuseum.com/th-th/ http://www.assumptionmuseum.com/th-th http://www.assumptionmuseum.com/th-th/ http://www.assumptionmuseum.com/th-th/about/