ประวัติศาสตร์ ของ ไท่ช่างหฺวัง

พระเจ้าอู่หลิง (武灵) แห่งแคว้นจ้าว (赵) เป็นหนึ่งในบรรดากษัตริย์จีนพระองค์แรก ๆ ที่สละราชย์ พระองค์ได้รับสมัญญาว่า พระชนก (主父)

ส่วนสมัญญาพระเจ้าหลวงนั้น ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉินประทานให้พระเจ้าจฺวังเซียง (莊襄) พระบิดาที่สิ้นพระชนม์แล้ว เป็นบุคคลแรก[1]

ต่อมาในราชวงศ์ฮั่น จักรพรรดิเกาจู่ (高祖) ประทานสมัญญาพระเจ้าหลวงให้แก่หลิว ไท่กง (劉太公) พระบิดาที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อแสดงพระกตัญญูภาพ และเพื่อกำหนดศักดิ์สูงต่ำระหว่างบิดากับบุตร[2]

ครั้น ค.ศ. 301 ในราชวงศ์จิ้น เกิดกบฏแปดอ๋อง (八王之亂) แล้วซือหม่า หลุน (司馬倫) ได้เถลิงราชย์โดยบีบให้จักรพรรดิฮุ่ย (惠) ออกจากบัลลังก์ไปใช้สมัญญาพระเจ้าหลวง[2]

ต่อมาใน ค.ศ. 471 จักรพรรดิเซี่ยนเหวิน (獻文) แห่งแคว้นเว่ย์เหนือ (北魏) สละราชสมบัติให้แก่ทั่วป๋า หง (拓拔宏) ผู้เป็นพระโอรส แล้วพระองค์ได้รับสมัญญาพระเจ้าหลวง แต่ยังทรงกำกับราชกิจของพระโอรสต่อไปกระทั่งสวรรคตใน ค.ศ. 476

ใน ค.ศ. 577 เกา เหฺว่ย์ (高緯) แห่งแคว้นฉีเหนือ (北齊) สละราชย์ให้พระโอรส คือ เกา เหิง (高恆) แล้วทรงได้รับสมัญญาพระเจ้าหลวง

ใน ค.ศ. 617 จักรพรรดิเกาจู่แห่งราชวงศ์ถังมอบสมัญญานี้ให้แก่จักรพรรดิหยาง (煬) แห่งราชวงศ์สุยผู้เป็นพระบิดา[2]

ใน ค.ศ. 626 เกิดเหตุการณ์ประตูเสฺวียนอู่ (玄武門之變) ซึ่งองค์ชายหลี่ ชื่อหมิน (李世民) ประหารพระญาติพระวงศ์ตายสิ้นเพื่อขจัดคู่แข่งราชสมบัติ เป็นเหตุให้พระบิดา คือ จักรพรรดิเกาจู่แห่งราชวงศ์ถัง ยอมสละราชสมบัติให้ แล้วจักรพรรดิเกาจู่ได้สมัญญาพระเจ้าหลวงกระทั่งสิ้นพระชนมายุใน ค.ศ. 635[2][3]

ต่อมาใน ค.ศ. 712 องค์หญิงไท่ผิง (太平) ยุยงให้จักรพรรดิรุ่ยจง (睿宗) แห่งราชวงศ์ถังสละราชย์ให้พระโอรสองค์ที่สาม ต่อมาคือ จักรพรรดิเสฺวียนจง (玄宗) แล้วจักรพรรดิรุ่ยจงได้สมัญญาพระเจ้าหลวงกระทั่งวายพระชนม์ในสี่ปีถัดมา

ใน ค.ศ. 756 เกิดกบฏอันชื่อ (安史之亂) จักรพรรดิเสฺวียนจงถูกกบฏขับออกจากพระนคร จึงสละราชสมบัติให้พระโอรสซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิซู่จง (肅宗) แล้วจักรพรรดิเสฺวียนจงได้สมัญญาพระเจ้าหลวง นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติเนื่องจากพระเจ้าหลวงสละให้ แล้วพระองค์ก็ต้องพ้นจากราชสมบัติในฐานะพระเจ้าหลวงเช่นกัน[4]

พระเจ้าแผ่นดินจีนพระองค์สุดท้ายที่ได้รับสมัญญาพระเจ้าหลวง คือ จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) แห่งราชวงศ์ชิง ผู้สละราชบัลลังก์ให้แก่พระโอรส คือ จักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉慶) ใน ค.ศ. 1796 เพราะไม่ต้องการครองราชย์นานกว่าพระอัยกา คือ จักรพรรดิคังซี (康熙) แต่แม้จะออกจากราชสมบัติไปแล้ว พระเจ้าหลวงเฉียนหลงก็ทรงควบคุมราชการงานเมืองต่อไปกระทั่งเสด็จสวรรคาลัยในอีกสามปีให้หลัง

ในราชวงศ์ชิงนี้ยังมีกรณีที่พระบิดามีพระชนม์อยู่ แต่ไม่ได้เป็นพระเจ้าหลวง คือ อี้เซฺวียน องค์ชายฉุนชั้นหนึ่ง (醇親王奕譞) พระบิดาของจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光緒) จักรพรรดิหุ่นเชิดของพระพันปีฉือสี่ (慈禧太后) กับไจ้เฟิง องค์ชายฉุนชั้นหนึ่ง (醇親王載灃) พระบิดาของผู่อี๋ (溥儀) หรือจักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (宣统)