ยุทธการ ของ กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง

กองทัพบกไทย โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังตอบโต้เพื่อเข้าตีและยึดฐานปฏิบัติการปางหนุนกลับคืนพร้อมทั้งช่วยเหลือกำลังพลทั้ง 19 นายจากกองทัพพม่าโดยใช้กำลังเข้าพลักดันกองกำลังของกองทัพพม่าดังกล่าวออกไป พร้อมทั้งจัดกำลังอีกส่วนเข้าตีทหารพม่าจากฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งเข้าไปยังที่ตั้งของทหารพม่าในด้านของฐานนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าต่อกองทัพพม่า เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยุติลงด้วยการเจรจาหยุดยิง ยึดฐานปฏิบัติการปางหนุนคืนและช่วยเหลือกำลังพลทหารพรานทั้ง 19 นายได้[2]

สำหรับกำลังพลในการปฏิบัติการนั้น ส่วนของฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งเป็นกำลังจากกองพลทหารม้าที่ 1 จำนวน 1 กองร้อยเตรียมพร้อม พร้อมกับรถถังเบาแบบ 21 เอฟวี101 สกอร์เปียน กำลังจากหมวดลาดตระเวนระยะไกล กองกำลังผาเมือง ส่วนของฐานปฏิบัติการปางหนุนนั้นเป็นกำลังจากทหารพราน เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 ม.ม. จากกองร้อยเครื่องยิงหนัก[2] หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 3 และการปฏิบัติการพิเศษจากกองพันจู่โจม[4] การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามแผนเผชิญเหตุของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งนโยบายของ พลเอก วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ แม่ทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้นคือการตอบโต้ด้วยอัตราส่วน หากยิงมา 1 นัดจะต้องตอบโต้กลับไป 3 นัด[2]

ปฏิบัติการทางทหาร

ในคืนวันที่ 9 ต่อเนื่องกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 กองทัพบกได้มีคำสั่งการให้กองพันจู่โจม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จัดกำลังจำนวน 1 กองร้อยจู่โจมเพื่อปฏิบัติการพิเศษยึดฐานปางหนุนคืนจากฝ่ายพม่า[4] โดยเป็นหน่วยปฏิบัติการในแนวหน้า และสนับสนุนการเข้าตีโดยกองกำลังทหารพรานจากองทัพภาคที่ 3 พร้อมทั้งมีการเตรียมพร้อมกำลังขนาดใหญ่ของทหารราบและทหารม้าเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจลุกลาม[3]

จากนั้นเวลา 03.40 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หน่วรบพิเศษได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังฐานปางหนุนเพื่อช่วยเหลือทหารพรานที่ถูกคุมตัวไว้ทั้ง 19 นาย โดยใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงได้ช่วยเหลือทหารพรานทั้งหมดออกจากฐานดังกล่าวได้[3] และได้ดำเนินการทางการทูตกับประเทศพม่าและมีมติร่วมกันจากการหารือที่ท่าขี้เหล็กของทั้งสองประเทศ ให้พม่าถอนทหารออกจากฐานปางหนุนก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ยังคงมีการคงทหารไว้ในฐานต่อไป[5]

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เวลา 03.00 น. กองร้อยจู่โจมได้ปฏิบัติการเคลื่อนกำลังเข้าไปยังเป้าหมายและได้ปะทะรวมถึงซุ่มยิงกองกำลังทหารพม่าจากบริเวณพื้นที่ตรงข้ามเป้าหมาาย[4] เวลา 05.45 น. กองกำลังผาเมืองได้ปฏิบัติการเข้าตีทหารพม่า โดยแม่ทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้ยิงถล่มไปยังฐานปฏิบัติการปางหนุนซึ่งเหลือแค่เพียงทหารพม่าที่ยึดครองอยู่ ทำให้ฝ่ายพม่าเกิดการสูญเสียอย่างหนัก และระดมกำลังเสริมจากเชียงตุง พร้อมด้วยรถถังแบบ ที-52 จากเมืองเชียงตุง และฝ่ายไทยสามารถรับรู้การเคลื่อนกำลังจากข่าวกรองในพื้นที่ จึงได้เสริมกำลังเพื่อตอบโต้ประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 ม.ม. รถถังเบาแบบ 21 เอฟวี101 สกอร์เปียน พร้อมทั้งยิงสนับสนุนไปยังฐานปฏิบัติการปางหนุน โดยเกิดการปะทะกันตลอดแนวชายแดนไทยพม่าประมาณ 30 กิโลเมตร จากฐานปฏิบัติการปางหนุน ไปจนถึงฐานปฏิบัติการกู่เต็งนาโย่งในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตั้งฐานปฏิบัติการทางทหารของไทยบริเวณนั้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อ้างสิทธิของทั้งสองประเทศ และระดมยิงไปยังฐานของทหารพม่าในฝั่งประเทศพม่า ทำให้ที่ตั้งของที่บัญชาการทางยุทธวิธี (Tactical Command Post) ของทหารพม่าละลายทั้งฐาน และนายทหารยศพันโทของพม่าเสียชีวิตพร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาประมาณ 10 นาย

เวลา 12.00-14.00 น. พม่าตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องยิงลูกระเบิด (ปืน ค.)[3] และปืนใหญ่[5] เข้าใส่ตลาดแม่สาย[3] วัดถ้ำผาจม วัดเวียงพาน บ้านป่าเหมือด หลังโรงพยาบาลแม่สาย และหลังวัดพระธาตุดอยวาวในฝั่งไทย[5] จนทำให้มีราษฎรชาวไทยเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 8 ราย[3] ทหารไทยบาดเจ็บ 9[5] - 11[4] นาย รถยนต์เสียหาย 1 คัน[5] และเกิดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของทั้งสองฝ่ายว่าทหารพม่าจะบุกเข้าโจมตีแม่สาย และทหารไทยจะบุกเข้ายึดครองเมืองท่าขี้เหล็กและลึกไปจนถึงเชียงตุง พร้อมทั้งมีการเสริมกำลังในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า รวมทั้งฝ่ายไทยได้เสริมกำลังทหารปืนใหญ่ซึ่งนำโดย พันโท ศุภฤกษ์ สถาพรผล กองพันทหารม้าที่ 18 ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองพันทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง ไปยังพื้นที่ดอยเวา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 กองร้อยทหารปืนใหญ่ ซึ่งมีภูมิประเทศที่ได้เปรียบเชิงยุทธวิธีเหนือกว่าพม่า และสังเกตเห็นที่ทำการทางยุทธวิธีของทหารพม่าชัดเจน[3] รวมถึงได้เข้าผลักดันทหารออกจากพื้นที่สำนักสงฆ์กู่เต็งนาโย่ง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทหารพม่าได้เข้ามายึดครองในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2543[5]

ด้วยอำนาจในการรบที่สูงและรุนแรงกว่าโดยเฉพาะด้านการยิงทำให้เวลา 19.00 น. ทหารพม่าจึงได้ขอเจรจาหยุดยิง และมีทหารพม่าถูกทหารไทยจับกุมได้ 1 นาย[2] ในขณะที่มีทหารไทยถูกทหารพม่าจับกุม 1 นาย[4]เช่นกัน[3]

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1149 บนเทือกเขาแดนลาว มองเข้าไปยังฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งฐานปฏิบัติการทั้งสองตั้งอยู่บนเทือกเขาแดนลาวดังกล่าว แต่อยู่คนละอำเภอ

ปฏิบัติการทางการทูต

ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีการเปิดเผยบันทึกช่วยจำที่ได้ยื่นต่อเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โดย หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญอู ลา หม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยมาเข้าพบ และได้ระบุรายละเอียดส่วนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเจรจาทางการทูต และปฏิบัติการทางทหารของประเทศพม่า ซึ่งส่วนของทางการทูต ประกอบไปด้วย[5]

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หลังจากทหารพม่าได้ยึดฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 963 (ฐานฯ ปางหนุน) แล้ว รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ผ่านการประสานงานผ่านผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำย่างกุ้ง และผู้ช่วยทูตทหารพม่าประจำประเทศไทย รวมไปถึงได้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ในเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และได้มติว่าทหารพม่าจะถอนกำลังออกจากฐานปฏิบัติการปางหนุนภายในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน แต่ทหารพม่าไม่ได้ถอนกำลังออกจากฐานแต่อย่างใด ทำให้ประเทศไทยตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารเพื่อผลักดันทหารพม่าออกจากพื้นที่ประเทศไทยบริเวณฐานปางหนุน และเกิดการยิงปืนใหญ่เข้าใส่พื้นที่พลเรือนในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายจนมีประชาชนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย ไทยถือว่าพม่าได้ละเมิดอธิปไตยของไทยและไม่อาจยอมรับได้ จึงได้มีการยื่นข้อเรียกร้องทางการทูต 3 ข้อ ได้แก่[5]

  • ให้ทางการพม่ายุติการดำเนินการที่ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยดินแดนไทย รวมไปถึงการยั่วยุอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมไปถึงค่าเสียหายที่เกิดต่อพลเรือนไทยในกรณีดังกล่าว
  • เรียกร้องให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-พม่า (Regional Border Committee: RBC) ครั้งที่ 18 อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนร่วมกันป้องกันปัญหาในอนาคต

ใกล้เคียง

กรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา กรณีพิพาทอินโดจีน กรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง กรณีพิพาทอโยธยา กรณีพิพาทชื่อทะเลญี่ปุ่น กรณีพิพาทกัศมีร์ กรณีพิพาทเปดราบรังกา กรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ กรณีพิพาทกุญแจเข้ารหัสเอเอซีเอส