เรื่องการกำเนิดของพระเยซู ของ การประสูติของพระเยซู_(ศิลปะ)

การนมัสการของโหราจารย์” โดย ลอเร็นโซ โมนาโค ราวปี ค.ศ. 1420-1422

ตัวเรื่องของการกำเนิดของพระเยซูเกี่ยวเนื่องมาจากประวัติการสืบเชื้อสายบรรพบุรุษของพระเยซูซึ่งกล่าวไว้ในพระวรสารนักบุญมัทธิวและพระวรสารนักบุญลูกา เชื้อสาย หรือ “ต้นไม้ครอบครัว” (Family tree) มักจะวาดในรูปที่เรียกว่า “ต้นเจสสี” หรือ “เถาเจสสี” (Tree of Jesse) ซึ่งงอกออกมาจากร่างของเจสสี บิดาของพระเจ้าดาวิดผู้เป็นกษัตริย์องค์ที่สองของอาณาจักรอิสราเอลเมื่อประมาณพันปีก่อนคริสตกาล

พระวรสารกล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระแม่มารีย์ว่าได้หมั้นหมายไว้กับโยเซฟ แต่ก่อนที่จะแต่งงานกัน กาเบรียลทูตสวรรค์ก็มาปรากฏตัวต่อหน้านางและประกาศว่านางจะมีลูกเป็น “พระบุตรพระเป็นเจ้า” เหตุการณ์นี้เรียกว่า “แม่พระรับสาร” เป็นฉากหนึ่งที่นิยมสร้างกันในศิลปะ พระวรสารนักบุญมัทธิวกล่าวต่อไปว่าทูตสวรรค์ปลอบใจโยเซฟเมื่อรู้ข่าวว่ามารีย์ท้องและบอกให้ตั้งชื่อลูกชายว่า เอ็มมานูเอล ซึ่งแปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา เมื่อให้ตั้งชื่อลูกก็เป็นเริ่มความรับผิดชอบต่อเด็กที่จะเกิดของโยเซฟ[1] ฉากนี้ไม่ค่อยนิยมสร้างกันในศิลปะ

ในพระวรสารนักบุญลูกาโยเซฟและมารีย์เดินทางไปเบธเลเฮมซึ่งเป็นบ้านของบรรพบุรุษของโยเซฟเพื่อลงชื่อในสำมะโนประชากรผู้เสียภาษี การเดินทางไปเบธเลเฮมเป็นหัวเรื่องที่ไม่ค่อยนิยมสร้างกันทางตะวันตกแต่มักจะสร้างกันในชุดทางไบแซนไทน์[2] ขณะที่อยู่ที่เบธเลเฮมมารีย์ก็คลอดพระเยซูในโรงนาเพราะหาที่พักในโรงแรมไม่ได้ เมื่อคลอดออกมาก็มีเทวดามาปรากฏต่อหน้าคนเลี้ยงแกะบนเนินบริเวณนั้นและกล่าวว่า “พระผู้ช่วยให้รอด พระคริสต์เจ้าได้มาบังเกิดแล้ว” (Saviour, Christ the Lord was born) คนเลี้ยงแกะก็ไปที่โรงนาไปพบเด็กเกิดใหม่ห่อตัวอยู่ในผ้าในรางหญ้าตามที่เทวดาบรรยาย

ตามปฏิทินศาสนาห้าวันหลังจากการกำเนิดของพระเยซูในวันที่ 1 มกราคมพระองค์ก็ได้เข้าทำพิธีสุหนัต ซึ่งมิได้กล่าวถึงโดยตรงในพระวรสารแต่ก็สรุปได้ว่าคงจะเกิดขึ้นตามกฎและประเพณีของชาวยิว และการถวายพระกุมารในพระวิหาร หรือ “Candlemas” ซึ่งฉลองกันในวันที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ตามคำบรรยายของพระวรสารนักบุญลูกา[3]

พระวรสารนักบุญมัทธิวกล่าวถึง “โหราจารย์” จากตะวันออกผู้เห็นดาวสว่างบนฟ้าเมื่อพระเยซูเกิด ปราชญ์จึงได้ติดตามดาวมาเพราะเชื่อว่าดาวจะนำไปสู่พระราชาองค์ใหม่ เมื่อมาถึงกรุงเยรูซาเลมก็เข้าไปในวังซึ่งเป็นที่ที่ควรจะพบพระราชา พอไปถึงก็ไปถามพระเจ้าเฮโรดมหาราช ด้วยความที่กลัวจะถูกโค่นอำนาจ จึงส่งโหราจารย์ออกไปค้นหาพระราชาองค์ใหม่ที่ว่า และสั่งว่าเมื่อพบตัวก็ให้รีบมาบอก โหราจารย์ก็ตามดาวไปจนถึงเบธเลเฮม พอพบพระเยซูก็ถวายของขวัญที่เป็นทองคำ กำยาน (frankincense) และมดยอบ (myrrh) แล้วก็เตือนถึงความฝันที่ว่าพระเจ้าเฮโรดจะฆ่าเด็ก ว่าแล้วก็เดินทางกลับประเทศของตนเอง ในพระวรสารมิได้กล่าวถึงจำนวนหรือฐานะของโหราจารย์ ตามประเพณีแล้วก็ขยายความว่าเมื่อเป็นของขวัญสามอย่างก็ควรจะเป็นปราชญ์สามคน และบางที่ก็ให้ตำแหน่งเป็น “ราชา” บางครั้งจึงเรียกว่า “สามกษัตริย์” (Three Kings) ซึ่งจะพบในศิลปะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา[4] หัวเรื่อง “การนมัสการของโหราจารย์” (Adoration of the Magi) ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นิยมทำกันเช่นกัน

ฉาก “คนเลี้ยงแกะรับสาร” (Annunciation to the Shepherds) จากทูตสวรรค์ หรือ “การนมัสการของคนเลี้ยงแกะ” (Adoration of the Shepherds) ซึ่งเป็นภาพคนเลี้ยงแกะนมัสการพระกุมาร มักจะรวมกับฉาก “การประสูติของพระเยซู” และ “การนมัสการของโหราจารย์” ตั้งแต่เริ่มทำกันมา ฉากแรกเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่พระเยซูต่อชาวยิว และฉากหลังในการรวมกับ “การนมัสการของโหราจารย์” เป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่พระเยซูต่อชนชาติอื่น[5]

การประหารทารกผู้วิมล” โดยโคเด็กซ์ เอ็กเบอรติ (Codex Egberti) คริสต์ศตวรรษที่ 10

เรื่องดำเนินต่อไปว่าพระเจ้าเฮโรดทรงปรึกษาที่ปรึกษาถึงคำทำนายโบราณซึ่งบรรยายของการเกิดเด็กเช่นที่ว่า ที่ปรึกษาก็แนะนำว่าควรจะฆ่าเด็กเกิดใหม่ในเวลานั้นให้หมด พระเจ้าเฮโรดก็ทรงทำตามคำแนะนำโดยสั่งให้ฆ่าเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่าสองขวบทุกคนในเมืองเบธเลเฮม แต่โยเซฟมีคนมาเตือนในฝันจึงพามารีย์และพระเยซูหนีไปอียิปต์ ฉากการสังหารเด็กอย่างทารุณกลายมาเป็นหัวเรื่องที่นิยมเขียนกันในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น และสมัยบาโรกที่เรียกกันว่า “การประหารทารกผู้วิมล” (Massacre of the Innocents) อีกหัวข้อหนึ่งที่นิยมคือ “พระเยซูหนีไปอียิปต์” แสดงเป็นภาพมารีย์อุ้มพระเยซูนั่งบนลาจูงโดยโยเซฟ ซึ่งคล้ายกับไอคอนไบเซนไทน์ฉากที่โยเซฟกับมารีย์เดินทางไปเบธเลเฮ็ม

ในศิลปะจากเนเธอแลนด์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาก็มีการนิยมสร้างรูปที่มิได้มาจากพระคัมภีร์โดยตรง เช่น ภาพครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ (Holy Family) พักระหว่างการเดินทาง ที่เรียกว่า “การหยุดพักระหว่างทางไปอียิปต์” (Rest on the Flight to Egypt) โดยจะมีทูตสวรรค์ประกอบ และบางครั้งจะมีเด็กผู้ชายตามไปด้วยที่เข้าใจว่าเป็นลุกของโยเซฟจากการแต่งงานหนแรก[6] ฉากหลังจะเป็นปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีการเขียนภาพภูมิทัศน์หลังฉาก จนกระทั่งมาถูกจำกัดลงจากผลของการสังคายนาแห่งเทรนต์ ฉากปาฏิหาริย์หนึ่งที่ใช้กันคือปาฏิหาริย์ข้าวสาลีซึ่งทหารที่ไล่ตามครอบครัวพระเยซูมาหยุดถามชาวนาว่าครอบครัวพระเยซูผ่านมาหรือไม่ ชาวนาก็ตอบตามความเป็นจริงว่าทรงผ่านเมื่อกำลังหว่านเมล็ดข้าว ว่าแล้วข้าวสาลีก็โตขึ้นเต็มที่ในทันที หรือปาฏิหาริย์รูปต้องห้าม ที่รูปต้องห้ามหล่นลงมาจากแท่นเมื่อพระทารกผ่านไป หรือน้ำพุธรรมชาติพุ่งขึ้นมาจากทะเลทราย หรืออีกตำนานหนึ่งกล่าวว่ากลุ่มโจรเลิกปล้นผู้เดินทาง และต้นปาล์มโน้มลงมาให้เก็บผล[7]

อีกเรี่องหนึ่งคือตอนที่พระเยซูพบยอห์นผู้ให้บัพติศมา ลูกพี่ลูกน้องหลังจากที่ยอห์นได้รับการช่วยเหลือจากยูเรียลไม่ให้ถูกฆ่า และเด็กสองคนมาพบกับที่อียิปต์ รูปพระเยซูพบยอห์นผู้ให้บัพติศมาวาดกันมากในสมัยเรอเนซองส์โดยมีเลโอนาร์โด ดา วินชีและต่อมาราฟาเอลเป็นผู้ริเริ่มทำให้แพร่หลาย[8]

ใกล้เคียง

การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 การปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง การประกวดความงาม การปรับตัว (ชีววิทยา) การประเมินตัวเองหลัก (จิตวิทยา) การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ การปรับอากาศรถยนต์ การประมาณราคา การประกันภัย การปรับตัวของประสาท

แหล่งที่มา

WikiPedia: การประสูติของพระเยซู_(ศิลปะ) http://findarticles.com/p/articles/mi_m0422/is_1_8... http://www.tau.ac.il/arts/projects/PUB/assaph-art/... http://www.ibiblio.org/wm/paint/auth/le-brun/sheph... http://commons.wikimedia.org/wiki/image:Georges_de... http://commons.wikimedia.org/wiki/image:Gerard_van... http://commons.wikimedia.org/wiki/image:Giovenone_... http://commons.wikimedia.org/wiki/image:Krippe_cri... http://en.wikipedia.org/wiki/image:Basilica_of_Con... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Nativi...