ประวัติ ของ การยึดครองเยอรมนีของสยาม

ปูมหลัง

เมื่อวูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 ทำให้สหรัฐเข้าฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะจักรวรรดิเยอรมนีร่วมฝ่ายกับมหาอำนาจกลาง อันได้แก่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนี ราชอาณาจักรบัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม ทรงดำเนินนโยบายเป็นกลาง เมื่อแรกเริ่มสงครามก็ทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับจักรวรรดิเยอรมนีมาตลอด แต่พระองค์ทรงไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่แล้วว่า หากเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นคุณแก่สยามมากกว่า[1]

ก่อนหน้านี้สยามต้องเผชิญกับการเสียดินแดนในบังคับ อันได้แก่ ลาวและกัมพูชาแก่ฝรั่งเศส และดินแดนคาบสมุทรมลายูตอนบนบางส่วน คือ รัฐเกอดะฮ์ รัฐปะลิส รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และบางส่วนของรัฐเปรัก แก่จักรวรรดิบริเตน ทั้งยังถูกบีบบังคับให้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่พลเมืองที่ถือสัญชาติสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอเมริกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อสิทธิประโยชน์ของฝ่ายสยาม[4]: 149 

การเข้าร่วมสงคราม

ทหารอาสาสยามที่มาร์แซย์ เมื่อ พ.ศ. 2462

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ทรงประกาศทำสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2460 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและการต่อต้านจากพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี[5]: 27–9, 149  กองทัพสยามได้ยึดเรือเดินสมุทรจำนวน 12 ลำ บริเวณน่านน้ำเยอรมนีเหนือเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม[1][3]

ฝ่ายสยามส่งทหารอาสาในกำกับของพลตรี พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จำนวน 1,284 นาย เข้าร่วมกองทัพบกของฝรั่งเศสและบริเตนในแนวรบด้านตะวันตก รวมทั้งส่งทหารไปยังกองกำลังการบินทหารบกด้วย[1][3] เมื่อทหารอาสาของสยามมาถึงฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2461 จึงเข้าฝึกที่โรงเรียนการบินของฝรั่งเศสที่เมืองอาวอร์ (Avord) และเมืองอิสทร์ (Istres) พบว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติด้านการบินจำนวน 95 นาย ส่วนทหารอาสาคนอื่น ๆ ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนปืนใหญ่บิซการอซ (Biscarrosse) โรงเรียนเครื่องบินทิ้งระเบิดเลอกรอตัว (Le Crotoy) โรงเรียนลาดตระเวนลาชาแปล-ลา-แรน (La Chapelle-la-Reine) นักบินชาวสยามได้ขึ้นบินครั้งแรกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของสงคราม แต่บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าสงครามสิ้นสุดลงก่อนที่ทหารอาสาเหล่านี้จะฝึกจนจบหลักสูตร[1][6]

การยึดครอง

สถานีรถไฟน็อยชตัท (ไวน์สตราเซอ) เมื่อ พ.ศ. 2554

ยานพาหนะของกองกำลังทหารอาสาสยามอยู่ที่ฟัลทซ์ (Pfalz) ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2462 ส่วนใหญ่ยานพาหนะเหล่าจะออกปฏิบัติการในเมืองน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Neustadt an der Weinstraße)[6] เมื่อฝ่ายเยอรมนีพ่ายแพ้และลงนามสงบศึก ภาคีสมาชิกตกลงที่จะยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์ต่อไป

กองกำลังรบนอกประเทศสยาม (The Siamese Expeditionary Forces) ได้จัดตั้งที่ทำการใหญ่ที่โรงแรมซุมเลอเวิน (Hotel zum Löwen) ใกล้สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกองทหารกระจายอยู่ทั่วไป เช่น มุสบัค อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ (Mußbach an der Weinstraße) ไกน์ไชม์ (Geinsheim) โฮชชเปอแยร์ (Hochspeyer) มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าหน้าที่สยามเรียกร้องให้ชาวเยอรมันเคารพพวกเขา ทั้งยังต้องประพฤติตนด้วยความยับยั้งชั่งใจ ด้วยมีข้อจำกัดด้านภาษา และโดยทั่วไปจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับประชากรในท้องถิ่น[7] ในช่วงเวลานั้นมีประชากรราว 20,000 คน อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม[8] แม้จะมีอุปสรรคทางภาษา แต่ก็พบเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างทหารชาวสยามกับหญิงเยอรมันจำนวนหนึ่ง ไม่มีบันทึกเรื่องราวด้านความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเจ้าหน้าที่ชาวสยามกับชาวเยอรมันในท้องถิ่น มีเพียงเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้สลักสำคัญอันใด[7]

เจ้าหน้าที่ของกองกำลังรบนอกประเทศสยามเสียชีวิตลง 19 นาย ส่วนใหญ่ป่วยตายหลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน นอกนั้นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และไม่มีทหารสยามเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการสู้รบแม้แต่คนเดียว[3]

ถอนกำลัง

กองกำลังทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

หลังสงครามสิ้นสุดลง ทหารชาวสยามถอนตัวออกจากน็อยชตัท อัน เดอร์ ไวน์สตราเซอ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 เพื่อร่วมเดินสวนสนามแห่แหนชัยชนะที่ประตูชัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ก่อนเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สยามได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2463 สยามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ[1][3] โดยการเข้าประชุมสันนิบาตชาติทุกครั้ง คณะผู้แทนสยามได้ย้ำเตือนต่อคณะผู้แทนจากตะวันตกอย่างละมุนละม่อมว่า สยามไม่มีอิสระที่จะกำหนดนโยบายของตนในฐานะรัฐที่มีอธิปไตย เพราะยังมีข้อกำหนดของสนธิสัญญาไม่เสมอภาคดำรงอยู่[9]

การตัดสินพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเข้าฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มสัมฤทธิ์ผล เมื่อสหรัฐประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2463 จักรวรรดิญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2464 ต่อมาหลังการเจรจาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตใน พ.ศ. 2467 และสหราชอาณาจักรประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน[1][3] ประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2468 ราชอาณาจักรอิตาลี ประเทศเบลเยียม และประเทศนอร์เวย์ ใน พ.ศ. 2469 ส่วนประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรีย และประเทศฮังการี ผู้แพ้สงคราม สนธิสัญญาสันติภาพให้สยามพ้นจากข้อผูกมัดที่เสียเปรียบในสนธิสัญญาโดยปริยาย[10]

ใกล้เคียง

การยึดกรุงไซ่ง่อน การยึดครองญี่ปุ่น การยึดครองเยอรมนีของสยาม การยึดครองเซอร์เบียของออสเตรีย-ฮังการี การยึดกรุงคาบูล (พ.ศ. 2564) การยึดครองกลุ่มรัฐบอลติก การยึดครองโรมาเนียของโซเวียต การยึดครองพม่าของญี่ปุ่น การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น การยึดครองเมืองซารันจ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: การยึดครองเยอรมนีของสยาม https://www.firstworldwar.com/features/thailand.ht... https://encyclopedia.1914-1918-online.net/article/... https://books.google.com/books?id=yTAoDgAAQBAJ https://books.google.com/books?id=fKa_swEACAAJ https://books.google.com/books?id=GdhGngEACAAJ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/pub_jss/arti... http://www.firstworldwar.com/features/thailand.htm https://web.parliament.go.th/assets/portals/62/fil...