ประวัติการสอบขุนนางในแต่ละช่วงราชวงศ์ ของ การสอบขุนนาง

Chinese Examination Cells at the South River School (Nanjiangxue) Nanjing (China). Shown without curtains or other furnishings.

ย้อนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีน การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนางมีปรากฏอยู่ในหลายช่วงราชวงศ์ แม้ว่ารูปแบบการสอบในแต่ละราชวงศ์จะแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีการหยุดการสอบในบางยุคสมัยด้วย ในอดีตมีการคัดเลือกข้าราชการจากการทดสอบ แข่งขัน และการสัมภาษณ์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่วนการสอบคัดเลือกขุนนางที่ใช้ระบบข้อสอบมาตรฐานเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (Hanwudi) มีการริเริ่มและพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนักในรูปแบบของการใช้พื้นฐานปรัชญาลัทธิขงจื๊อ (Confucian) ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันต่อมาในยุคหลัง

การสอบคัดเลือกขุนนางตั้งอยู่บนหลักการ "สมัครใจในการเข้าสอบ จัดสอบแข่งขันอย่างเปิดเผย และบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง" จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับชั้นเข้าร่วมการสอบแข่งขัน ประชันความรู้ความสามารถ และมีสิทธิ์เข้ารับราชการได้อย่างเท่าเทียมกัน[3]

ราชวงศ์ฮั่น

สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดสอบขุนนางขึ้นอย่างเป็นระบบ การแต่งตั้งข้าราชการในราชสำนักนั้นมักมาจากการแนะนำโดยชนชั้นสูง (aristocrats) และข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งบุคคลที่ถูกแนะนำส่วนมากจะเป็นผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูง สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (อังกฤษ: emperor Wu; จีน: 漢武帝; พินอิน: Han Wu di) (141 - 87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ทรงริเริ่มการสอบคัดเลือกข้าราชการท้องถิ่นจากการสอบปรัชญาขงจื๊อ (Confucian classics) เพื่อให้ได้ผู้มีจิตกตัญญูและมีความซื่อสัตย์เข้ามาทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นโดยมากมักเลือกโดยการแนะนำโดยบุคคลที่อยู่ฝ่ายเดียวกันหรือเป็นพรรคพวกเดียวกัน ทำให้การสอบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมที่มีอิทธิพลของการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือเส้นสายในการสอบลดความสำคัญลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในการคัดเลือกข้าราชการระดับสูงในราชสำนัก คุณภาพของขุนนางจึงดีขึ้น ส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

ยุคสามก๊กจนถึงราชวงศ์สุย

ในช่วงเริ่มต้นของยุคสามก๊ก (Three Kingdoms period) (ด้วยระบบ nine-rank system ในสมัยวุยก๊ก) เจ้าหน้าที่ราชสำนักจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมิณคุณภาพของบุคคลที่มีความสามารถที่มักมาจากการแนะนำของชนชั้นสูงในท้องถิ่น ระบบนี้ใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงยุคของจักรพรรดิสุยหยางแห่งราชวงศ์สุย (อังกฤษ: Emperor Sui Yangdi; จีน: 楊廣) (ค.ศ. 569-618) ซึ่งมีการจัดระบบการสอบที่เรียกว่า จิ้นซื่อ (จีน: 进士科; พินอืน: Jìnshì kē) ขึนในปี ค.ศ. 605 เป็นครั้งแรก โดยมีมาตรฐานการสอบอย่างชัดเจนเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับราชการ แต่ระบบนี้ก็มีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก ทำให้ยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ และถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

ราชวงศ์ถังและราชวงศ์โจว

ยุคราชวงศ์ถัง ระบบการสอบขุนนางได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น และยังเป็นระบบและกระบวนการสอบที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าในยุคเริ่มแรกของการสอบช่วงราชวงศ์สุยที่ผ่านมา เช่น มีคำถามเกี่ยวกับด้านนโยบาย หรือมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย เป็นต้น[4] อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ซึ่งควรจะช่วยคัดกรองผู้สอบให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ในทางปฏิบัติกลับเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการคัดเลือกอย่างไม่โปร่งใสโดยกับเฉพาะผู้เข้าสอบที่มาจากกลุ่มชนชั้นสูงได้ไม่ยากนัก[5][6]

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์การสอบขุนนางนั้นเกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (อังกฤษ: Empress Wu, Wu Zetian; จีนตัวย่อ: 武则天; พินอิน: Wǔ Zétiān) พร้อม ๆ กับการขึ้นสู่อำนาจของพระองค์ โดยทรงเป็นสตรีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีน[7]

สมัยองค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยน ในปี ค.ศ. 655 นั้น พระองค์มีราชบัณฑิตผู้สอบได้วุฒิจิ้นซี่อ หรือปริญญาชั้นสูงเพียง 44 คน แต่ในช่วงต่อมามีผู้สอบคัดเลือกได้วุฒิจิ้นซื่อมากถึง 58 คนต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วง 7 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากพระองค์เปิดโอกาสและเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ผู้สอบได้วุฒิจิ้นซื่อในการเข้ารับราชการในราชสำนักมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งพระองค์ใช้บัณฑิตรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นฐานสร้างอำนาจของพระองค์เอง และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ทางแถบจีนตะวันออกเฉียงใต้ร่วมเข้าสอบได้ด้วย[7] ทั้งนี้เนื่องจากผู้สนับสนุนของจักรพรรดิในตระกูลหลี่แห่งราชวงศ์ถังเป็นกลุ่มที่อยู่ทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในบริเวณโดยรอบเมืองหลวงฉางอาน องค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยนจึงค่อย ๆ สะสมอำนาจการเมืองผ่านระบบการสอบขุนนาง โดยได้รับการสนับสนุนจากบัณฑิตเหล่านี้ที่เดิมถูกกีดกัน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสอบขุนนางเพื่อเป็นบัณฑิตเหมือนชนเผ่าทางเหนือ รวมทั้งมีปัญญาชนจากชนบทห่างไกลที่พยายามศึกษาเล่าเรียนเพื่อเข้าสอบ และเมื่อสอบผ่านเข้ารับราชการ จึงเป็นประโยชน์แก่ราชสำนักในการปกครองเมืองห่างไกลเหล่านี้โดยทางอ้อมด้วยนั่นเอง[8]

ปี ค.ศ. 681 เริ่มมีการสอบข้อเขียนความรู้ทางด้านปรัชญาขงจื๊อขึ้น โดยผู้เข้าสอบต้องสามารถจดจำความรู้เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อได้และเขียนลงบนกระดาษข้อสอบ[9]

มาจนถึงปี ค.ศ. 690 สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงเริ่มให้มีการจัดอันดับผลการสอบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเรียกผู้ที่สอบได้อันดับที่ 1 เรียกว่า จ้วงโถว (Zhuang Tou, 状头) หรือ จ้วงเยฺหวียน (จอหงวน) อันดับที่ 2 เรียกว่า ป่างเหยียน (Bang Yan, 榜眼) และผู้ที่สอบได้อันดับที่ 3 เรียกว่า ถ้านฮัว (Tan Hua, 探花)  และเรียกทั้งสามอันดับนี้รวมกันว่า ซานติ่งเจี้ย (San Ding Jia, 三鼎甲)

ปี ค.ศ. 693 ราชสำนักภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้ขยายการสอบขุนนางให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อครอบคลุมถึงการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนด้วย[10] โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขยายอำนาจและรวบรวมอิทธิพลเพื่อก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ของพระนางเองขึ้นเป็น "ราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) " ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยระบบใหม่ที่พระนางคัดเลือกมานั้น ได้แก่ จางเยว่ (Zhang Yue) ลี่เจียว (Li Jiao) และเฉินชวนชี่ (Shen Quanqi) เป็นต้น พระนางบูเช็กเทียนยังได้เปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ มีสิทธิ์ในการสอบขุนนางได้มากขึ้น เช่น สามัญชนซึ่งเดิมทีไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าสอบ สามารถเข้าสอบได้ด้วย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบการสอบขุนนางแบบเดิมในสมัยราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก บุคคลเหล่านี้เมือสอบผ่านจึงเป็นเสมือนฐานอิทธิพลในราชสำนักให้แก่พระนางได้เป็นอย่างดี[11]

ในระหว่างปี ค.ศ. 730 และ 740 ในช่วงการฟื้นคืนของราชวงศ์ถังยุคหลัง มีการทดสอบการเขียนกวีนิพนธ์เพิ่มขึ้น (รวมการเขียนบทกวีทั้งแบบ shi และ fu) โดยเฉพาะสำหรับการสอบวุฒิจิ้นซี่อ ซึ่งเป็นวุฒิขั้นสูงสุด ในการสอบระดับทั่วไปจะมีผู้สอบผ่านประมาณร้อยละ 10-20 แต่สำหรับการสอบจิ้นซี่อ ซึ่งมีผู้เข้าสอบราวพันกว่าคนทุกปี จะมีผู้สอบผ่านเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น โดยมีจำนวนผู้สอบผ่านจิ้นซี่อในสมัยราชวงศ์ถังทั้งสิ้น 6,504 คน (หรือโดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ได้รับวุฒิจิ้นซี่อ ราว 23 คนต่อปี)[9]

อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลายและเปลี่ยนถ่ายแผ่นดินมาเป็น "ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร" การสอบขุนนางก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง มีการเล่นพรรคเล่นพวกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสในการสอบผ่านเป็นขุนนางของคนธรรมดาสามัญกลับน้อยลงไปดังเดิมก่อนหน้านี้[8]

ราชวงศ์ซ่ง

The emperor receiving a candidate during the Palace Examination. Song Dynasty.

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song dynasty, ค.ศ. 960 - 1279) มีการจัดสอบระดับสูงกว่าร้อยครั้ง ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกมานั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในราชการ การสอบจึงเสมือนเป็นบันไดในการยกระดับฐานะของตนขึ้นสู่การเป็นข้าราชการระดับสูงของทั้งชายชาวจีนและผู้ที่อยู่ในดินแดนที่ถูกครอบครองทางตอนเหนือในสมัยนั้นด้วย[12] มีผู้ประสบความสำเร็จในการยกระดับฐานะของตนขึ้นจากสามัญชนหรือชนชั้นล่างมาเป็นข้าราชการระดับสูงผ่านการสอบขุนนางหลายราย อาทิ หวังอันฉือ (จีน: 王安石; พินอิน: Wáng Ānshí) อัครมหาเสนาบดีซึ่งตรงกับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในปัจจุบัน และกวีสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปการสอบโดยให้มีการสอบปฏิบัติมากขึ้น และ จู ซี (อังกฤษ: Zhu Xi หรือ Chu Hsi; จีน: 朱熹, October 18, 1130 – April 23, 1200) นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อผู้ขยายความบทนิพนธ์ Four Classics (อังกฤษ: Four Classics หรือ Four Books; จีน: 四書; พินอิน: Sì Shū) จนกลายเป็นตำราขงจื๊อใหม่ (อังกฤษ: Neo-Confucianism; จีนตัวย่อ: 宋明理学; จีนตัวเต็ม: 宋明理學; พินอิน: Sòng-Míng Lǐxué) ที่มีบทบาทอย่างมากในราชวงศ์ต่อ ๆ มา แต่เนื่องจากกระบวนการเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอสำหรับสอบได้สำเร็จนั้นต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายที่มาก จำนวนชนชั้นสามัญที่เข้าสอบจนสำเร็จจึงมีจำนวนไม่มากนัก[13]

หลังปี ค.ศ. 937 จักรพรรดิซ่งไท่จู่ (Taizu Emperor of Song) มีพระประสงค์ให้องค์จักรพรรดิเป็นผู้ดูแลและควบคุมการสอบในราชสำนักด้วยพระองค์เอง และเพื่อให้การสอบมีความโปร่งใสในการคัดเลือกขุนนางมากขึ้น ในปี ค.ศ. 992 จึงมีการริเริ่มการตรวจข้อสอบโดยไม่ระบุชื่อผู้สอบในกระดาษคำตอบสำหรับการสอบระดับราชสำนัก (palace examination) และขยายวิธีการนี้ไปสู่การสอบระดับภูมิภาค (departmental examinations) ในปี ค.ศ. 1007 และระดับจังหวัด (prefectural level) ในปี ค.ศ. 1032

ในเวลาต่อมายังมีการเพิ่มระบบการคัดสำเนากระดาษคำตอบ เพื่อไม่ให้ผู้ตรวจข้อสอบใช้วิธีการจดจำลายมือเขียนของผู้เข้าสอบในการทุจริตคัดเลือกบุคคลที่ต้องการ โดยระบบนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1105 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับเมืองหลวงและระดับภูมิภาค และเริ่มในปี ค.ศ. 1037 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับจังหวัด[14]

จากสถิติ มีผู้สอบผ่านได้รับวุฒิบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ซ่งจำนวนมากกว่าบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ถังถึงกว่าสองเท่า โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้สอบผ่านในแต่ละปีมากกว่า 200 คน และในบางปีมีมากถึง 240 คน[8]

ราชวงศ์หยวน

ในช่วงปี ค.ศ. 1279 ถึง ค.ศ. 1315 ไม่มีการสอบคัดเลือกขุนนาง เนื่องจากระบบการสอบในสมัยราชวงศ์ซ่งได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการสิ้นสุดราชวงศ์ จากความพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิมองโกลในปี ค.ศ. 1279 นั้นเอง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิกุบไล ข่าน (อังกฤษ: Kublai Khan; จีน: 忽必烈) สามารถเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีนได้ ทรงสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หยวนแห่งประเทศจีน (หรือ หยวนมองโกเลีย (Yuan Mongolia)) โดยครอบครองดินแดนมองโกเลีย แมนจูเรีย (Manchuria) เกาหลี และดินแดนตอนเหนือของจีน รวมทั้งดินแดนทางใต้ของประเทศจีนที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการปกครองของราชวงศ์ซ่งด้วย

หลังจากได้มีการสืบทอดราชวงศ์หยวนต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1315 ระบบการสอบขุนนางก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิหยวนเหรินจง (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อายูบาร์ดา ข่าน (Ayurbarwada Buyantu Khan)) พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้วย โดยปรับระบบการสอบไปเป็นลักษณะใกล้เคียงกับระบบมองโกล และผู้สอบชาวมองโกลจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ อีกทั้งมีระบบที่จำกัดจำนวนหรือโควต้า (ทั้งจำนวนผู้เข้าสอบและผู้ได้รับวุฒิ) จากกลุ่มผู้เข้าสอบตามเชื้อชาติ หรือวรรณะทางสังคม และ/หรือ Ethnic group (ethnicities) โดยแบ่งเป็นสี่กลุ่ม คือกลุ่มชาวมองโกล (Mongols) กลุ่มชนชาติที่ไม่ใช่ชาวฮั่น (non-Han allies หรือ Semu-ren) กลุ่มชาวจีนเหนือ (Northern Chinese) และกลุ่มชาวจีนใต้ (Southern Chinese)[15] ภายใต้การฟื้นฟูและปรับปรุงระบบการสอบขุนนางแบบใหม่นี้ ทำให้มีจำนวนผู้สอบผ่านได้คุณวุฒิเพียง 21 คนต่อปีเท่านั้น[15]

ในารแบ่งปันสัดส่วนจำนวนผู้สอบผ่านในแต่ละชนกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ มองโกล Semu-ren จีนเหนือ และจีนใต้ ให้มีจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่ได้กำหนดจำนวนผู้สอบผ่านตามสัดส่วนจำนวนประชากรหรือจำนวนผู้เข้าสอบของแต่ละกลุ่ม เป็นการเอื้อให้แก่กลุ่มชาวมองโกล Semu-ren และจีนเหนือ มากกว่ากลุ่มชาวจีนใต้ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่ากลุ่มอื่นมาก จากการสำรวจประชากรในปี ค.ศ. 1290 ชาวจีนใต้มีประชากรประมาณ 12,000,000 ครอบครัว (หรือประมาณ 48% ของประชากรทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวน) เทียบกับ 2,000,000 ครอบครัวของชาวจีนเหนือ ในขณะที่ชาวมองโกลและ Semu-ren มีประชากรน้อยกว่านี้มาก[15]

ราชวงศ์หมิง

A 15th-century portrait of the Ming official Jiang Shunfu, now in the Nanjing Museum. The decoration of two cranes on his chest is a "rank badge" that indicate he was a civil official of the first rank.

ราชวงศ์หมิงได้แข้ามาแทนที่ราชวงศ์หยวนในปี ค.ศ. 1368 ในช่วงราชวงศ์นี้ระบบการสอบขุนนางไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรมากนัก โดยในช่วงแรกระบบมองโกลยังได้รับอนุญาตให้คงไว้เหมือนเดิม

ราชวงศ์ชิง

ในยุคอาณาจักรไท่ผิง (Taiping Heavenly Kingdom; 太平天国) ที่มีความพยายามจะยึดครองอำนาจจากราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) และในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในยุคนี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าสอบเป็นจอหงวนได้เป็นครั้งแรก  แต่ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้ทางการทหารในช่วงทศวรรษ 1890 จึงถูกกดดันในมีการปฏิรูประบบการศึกษาขึ้น โดยมีนักปฏิรูป อาทิ คัง โหย่วเหวย (อังกฤษ: Kang Youwei,  จีนตัวเต็ม: 康有为,  จีนตัวย่อ: 康有為,  พินอิน: Kāng Yǒuwéi) และ เหลียง ฉี่เชา (อังกฤษ: Liang Qichao, จีนตัวเต็ม: 梁啟, 超,  จีนตัวย่อ: 梁启超,  พินอิน: Liáng Qǐchāo) ได้ริเริ่มการปฏิรูปร้อยวัน (Hundred Days' Reform) ขึ้นในปี ค.ศ. 1898 โดยเสนอให้มีการปฏิรูปหลายภาคส่วนให้มีความทันสมัยมากขึ้น และต่อมาหลังจากเกิดกบฏนักมวย (Boxer Uprising)  วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1905 ได้มีการออกประกาศให้ยกเลิกการสอบขุนนางในทุกระดับทั้งหมดในปีถัดไป  ถือเป็นการสิ้นสุดระบบการสอบขุนนางในประเทศจีน

สำหรับระบบการศึกษายุคใหม่นั้นมีการเทียบเคียงวุฒิกับระบบการสอบขุนนางแบบเก่าไว้ด้วย โดยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะเที่ยบเท่ากับวุฒิเซิงเหยวียน หรือ เซิงหยวน (Shengyuan) หรือ ซิ่วไฉ่ (xiu cai) ซึ่งระบบใหม่นี้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสิ้นสุดราชวงศ์หรือระบอบราชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911[16]

ใกล้เคียง

การสอบขุนนาง การสอบสวนประเด็นการโกงผลคะแนนในรายการของสถานีโทรทัศน์ เอ็มเน็ต การสอบสนามหลวง การสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น การสอดแนมมวลชน การสอบเอ็นทรานซ์ การสอน การสอบสวนโดยไม่เชื่อ การสอดแนมไซเบอร์ การสอดแนม

แหล่งที่มา

WikiPedia: การสอบขุนนาง http://books.google.com.au/books?id=Pk0UAAAAYAAJ&q... http://thai.cri.cn/learnchinese/lesson11/6.html http://books.google.com/books?id=8hOgAAAAIAAJ http://books.google.com/books?id=F3baSe8QlPUC&pg=P... http://books.google.com/books?id=cpfgQNWXpyoC&pg=P... http://www.princeton.edu/~ealj/robe.htm http://e-asia.uoregon.edu/node/4838 https://archive.org/details/pratiquedesexam00zigoo... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Imperi...