จุดชนวนความขัดแย้ง ของ ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ

ความต้องการด้านการบินและการวางแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่รวดเร็ว จึงมีความกังวลว่าท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวอาจบรรจุคนได้ถึงขีดจำกัดในปี พ.ศ. 2513[1][2] แต่ในขณะนั้น การขยายท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เนื่องจากมีปัญหาด้านทรัพยากรเป็นอย่างมาก[3] คณะรัฐมนตรีนำโดย ฮายาโตะ อิเกดะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงมติอนมุติให้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505[4]

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้วางแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ "ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวใหม่" โดยได้มีการวางแผนว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 23 ตารางกิโลเมตร[5] ซึ่งในบริเวณดังกล่าวรวมถึงเขตเมืองโทมิซาโตะ ยาจิมาตะ และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองในจังหวัดจิบะและจังหวัดอิบารากิ เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คณะกรรมการด้านการบินได้รายงานถึงกระทรวงคมนาคมว่าแนะนำให้เลือกเขตเมืองโทมิซาโตะเป็นเขตก่อสร้าง โดยไม่ได้อ้างอิงว่าจะได้ที่ดินบริเวณนั้นมาใช้ในการก่อสร้างได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีนำโดย เอซากุ ซาโต นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แถลงเกี่ยวกับวางแผนการก่อสร้างในเขตเมืองโทมิซาโตะอย่างไม่เป็นทางการและอย่างไม่คาดคิด โดยพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างที่วางแผนไว้กินเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของเมืองโทมิซาโตะ และอาจนำมาสู่การสูญหายของเมืองหลายเมืองได้ ประกอบกับในขณะนั้น การใช้อากาศยานยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปมากนัก ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นกังวลว่าการก่อสร้างท่าอากาศยานจะเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางเสียง หรือปัญหาอื่นๆ ก็ตาม โดยก่อนหน้านั้นมีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยาน ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรและพรรคที่คัดค้านการก่อสร้างในครั้งนี้ด้วย (ซึ่งได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นและพรรคประชาธิปไตยสังคมญี่ปุ่น) และยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวที่ไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างด้วย จนทำให้คณะรัฐมนตรีต้องชะลอการตัดสินใจการก่อสร้างนี้ไปก่อน[6][7]

การกำหนดสถานที่ก่อสร้างใหม่

จนถึงปี พ.ศ. 2509 กระแสการคัดค้านก็ไม่มีท่าทีที่จะเบาลง จนรัฐบาลกังวลว่าการก่อสร้างอาจจะนำไปสู่การหยุดชะงัก คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงต่อรองกับโทกุจิ วาคาซะ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทาเกโตะ โทโมโน นายกเทศมนตรีจังหวัดชิบะ และโชจิโร คาวาชิมะ ผู้ช่วยประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยในขณะนั้นอย่างลับๆ[6] โดยได้ตัดสินใจกำหนดสถานที่ก่อสร้างใหม่ไปยังไร่โกเรียว ซึ่งอยู่ห่างจากแห่งเดิม 4 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการเวนคืนที่ดินส่วนบุคคล และยังมีการคาดการณ์ว่าจะชดใช้ชุมชนเกษตรกรรมในบริเวณเมืองซันริซูกะซึ่งเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยความยากจนเมื่อมีเงินมากพอที่จะสามารถชดใช้ได้ จนรัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกบริเวณเขตเมืองซันริซูกะเป็นสถานที่ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2509[8][7] โดยมีกำหนดเสร็จสิ้นในปลายปี พ.ศ. 2516[9]

ใกล้เคียง

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง ความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งนิยมรัสเซียในประเทศยูเครน พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งภายในพม่า ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ ความขัดแย้งในรัฐกะชีน ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 ความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัค ความขัดแย้งอิสราเอล–กาซา พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (พ.ศ. 2555–ปัจจุบัน)