คุรุอรชุน
คุรุอรชุน

คุรุอรชุน

คุรุอรชุน (อังกฤษ: Guru Arjan[3][4]; ปัญจาบ: ਗੁਰੂ ਅਰਜੁਨ) หรือในบางเอกสารทับศัพท์อิงภาษาอังกฤษว่า คุรุอาร์จัน เป็นคุรุศาสดาองค์ที่ 5 ของศาสนาซิกข์ ท่านได้รวบรวมบันทึกของซิกข์ขึ้นเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรและจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นครั้งแรก โดยเรียกเอกสารชุดที่ท่านรวบรวมเขีบนขึ้นนั้นว่า คัมภีร์ อดิ กรันตะ (Adi Granth) ซึ่งต่อมาได้ถูกต่อยอดเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซิกข์ "มหาคัมภีร์ คุรุกรันตสาหิบ" (Guru Granth Sahib)ท่านเกิดในเมืองโคอินทวาล (Goindval) ในแคว้นปัญจาบ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของคุรุรามดาส (ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า ภาอี เชฐา; Bhai Jetha) กับ มทา ภานี (Mata Bhani) ธิดาของคุรุอมรทาส[5] อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นคุรุศาสดาองค์แรกที่เป็นซิกข์แต่กำเนิด ต่างจากองค์ก่อน ๆ ที่เปลี่ยนศาสนามาจากศาสนาฮินดูเป็นซิกข์ในภายหลัง[6] ท่านคุรุอรชุนดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณของชาวซิกข์ร่วม 25 ปี นอกจากนี้ท่านยังสืบทอดการก่อสร้างวิหารต่อจากคุรุรามดาสผู้ขุดสระน้ำอมฤตและสร้างเมืองอมฤตสาร์ โดยท่านได้ก่อสร้างดะบาสาหิบจนสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นหริมันทิรสาหิบ แห่งอมฤตสาร์[7][8][9] และท่านคุรุอรชุนยังได้ประมวลเพลงสวดภาวนาของคุรุศาสดาองค์ก่อนหน้าและคำสอนต่าง ๆ เป็นคัมภีร์อดิ กรันตะ และอัญเชิญประดิษฐานในหริมันทิรสาหิบ[7]ท่านคุรุอรชุนยังพัฒนาระบบ "มสันท์" (Masand) ซึ่งคุรุรามดาสได้วางรากฐานไว้ขึ้นเสียใหม่ โดยเสนอระบบการบริจาคเงินของซิกข์ให้บริจาคทรัพย์สิน สินค้า หรือการบริการเป็นจิตอาสา ให้ได้ 1 ใน 10 ของที่ตนมีถวายแด่องค์กรของซิกข์ หากไม่พร้อมที่จะบริจาคจำนวนเท่านั้นก็มิได้เป็นปัญหาอะไร ให้บริจาคเท่าที่ตนให้ได้และไม่ทรมานตนเอง นอกจากการสร้างกองทุน "ทัศวันธ์" (Dasvand) ที่รับบริจาคแล้ว ท่านคุรุยังริเริ่มระบบการศึกษาศาสนาซิกข์อย่างเป็นระบบขึ้นในมสันต์ เพื่อเผยแผ่ศาสนาไปยังคนรุ่นใหม่ที่สนใจในภูมิภาคปัญจาบในสมัยของท่านนั้น กองทุนทาสวันต์ถือได้ว่ามั่งคั่งเป็นอย่างมาก สามารถนำไปสร้างศาสนสถาน (คุรุทวารา)จำนวนมาก และ "ลังเกอร์" หรือ "ลังกัร" (Lankar) ที่คนไทยเรียกกันว่า โรงครัวพระศาสดา ซึ่งเป็นโรงครัวอาหารแจกจ่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกเช่นกัน[10]ท่านคุรุอรชุนถูกจับโดยพระราชกระแสของจักรพรรดิชะฮันคีร์ แห่งจักรวรรดิโมกุล และถูกร้องขอให้เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม[11][12] ซึ่งท่านยืนยันปฏิเสธ จนสุดท้ายถูกทรมานจนถึงแก่ชีวิตในปี ค.ศ. 1606[11][13] นักประวัติศาสตร์ยังเป็นที่ถกเถียงว่าท่านคุรุเสียชีวิตจากการทรมานอย่างหนักหรือจากการถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการทำให้จมน้ำหรือกดน้ำ[11][14] การสละชีพเพื่อความเชื่อ (matyrdom) ของท่านนั้นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ซิกข์[11][15] ปัจจุบันบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นที่สำเร็จโทษของท่าน ได้สร้างเป็นคุรุทวาราชื่อว่า คุรุทวาราเดราสาหิบ (Gurdwara Dera Sahib) ปัจจุบันตั้งอยู่เยื้องกับมัสยิดบาดชาฮี ในเมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน

คุรุอรชุน

รู้จักจาก
ที่ฝังศพ คุรุทวาราเดราซาฮิบ, ในกำแพงเมืองลาฮอร์
คู่สมรส มาตา คงคา
บุตร คุรุหรโคพินท์
เกิด 15 เมษายน ค.ศ.1563
ตาย 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1606 (43 ปี)[1]
ผู้ดำรงตำแหน่งถัดมา คุรุหรโคพินท์
คำนำหน้าชื่อ คุรุองค์ที่ 5 ของศาสนาซิกข์
บิดามารดา คุรุรามทาส กับ Mata Bhani
ชื่ออื่น คุรุองค์ที่ 5
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้า คุรุรามทาส
ศาสนา ศาสนาซิกข์