สังคม ของ ชาวโตราจา

ครอบครัว

ผู้เฒ่าชาวโตราจาในชุดพื้นเมืองขณะรวมตัวกันระหว่างพิธีศพ (wake ceremony), มีนาคม 2014

ครอบครัวเป็นกลุ่มทางสังคมระดับปฐมภูมิและกลุ่มทางการเมืองในสังคมโตราจา หมู่บ้านหนึ่ง ๆ เป็นครอบครัวขยายหนึ่งครอบครัว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ตงโกนัน หรือบ้านโตราจาพื้นถิ่น ตงโกนัน แต่ละแห่งจะมีชื่อของตน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นชื่อของหมู่บ้าน ผู้นำของครอบครัวมีหน้าที่ดูแลความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหมู่บ้าน การสมรสระหว่างญาติที่ห่างสายกัน (ญาติลำดับที่สี่ขึ้นไป) เป็นการปฏิบัติปกติเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นในเครือญาติ สังคมโตราจาห้ามการสมรสระหว่างญาติระดับใกล้ชิดกัน (น้อยกว่าหรือเท่ากับระดับที่สาม) ยกเว้นแต่ในชนชั้นสูงเพื่อป้องกันการกระจายทรัพย์สิน[16] เครือญาตินั้นช่วยเหลือกันและกันอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าครอบครัวขยายจะช่วยกันและกันทำการเกษตร, เป็นเจ้าของร่วมของควายที่ใช้ในพิธีกรรม และจ่ายหนี้สิน

แต่ละบุคคลเป็นของทั้งครอบครัวมารดาและบิดา ถือเป็นระบบสายครอบครัวแบบสองฝั่งแบบเดียวในประเทศอินโดนีเซีย[17] ดังนั้น เด็ก ๆ จึงได้รับสืบทอดความเกี่ยวดองทางบ้านจากทั้งมารดาและบิดา รวมถึงสืบทอดที่ดินและหนี้ ชื่อของเด็กตั้งตามพื้นฐานของเครือญาติ และโดยทั่วไปมักเลือกมาจากญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ชื่อของป้า, ลุง หรือญาติคนอื่น ๆ มักถูกนำมาสื่ออยู่ในชื่อของมารดา, บิดา และพี่น้อง

ก่อนการเริ่มต้นระบบการปกครองของหมู่บ้านโตราจาอย่างเป็นทางการโดยเรเจนซีตานาโตราจา หมู่บ้านโตราจาแต่ละแห่งเคยปกครองตัวเองมาก่อน ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนซึ่งครอบครัวโตราจาครอบครัวหนึ่งไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ด้วยตนเอง หมู่บ้านต่าง ๆ อาจรวมกันเป็นกลุ่มและบางครั้งหมู่บ้านต่าง ๆ อาจรวมกันเพื่อต้านทานกับหมู่บ้านอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแสดงออกผ่านทางเลือด, การแต่งงาน และบ้านบรรพชนที่อาศัยร่วมกัน (ตงโกนัน) ซึ่งกระทำผ่านการแลกเปลี่ยนควายและหมูในโอกาสเชิงพิธีกรรม การแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างความผูกพันทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการระบุถึงตำแหน่งของแต่ละบุคคลในลำดับขั้นทางสังคมด้วย เช่น ผู้ที่เทไวน์ปาล์ม, ผู้ที่ห่อศพและเตรียมเครื่องถวาย, จุดที่บุคคลหนึ่งนั่งได้หรือห้ามนั่ง, อาหารจานใดที่ควรใช้หรือควรเลี่ยง หรือแม้แต่ชิ้นส่วนของเนื้อที่บุคคลหนึ่ง ๆ จะได้รับ[18]

ลำดับขั้น

ควายเผือกและเขาที่ประดับเป็นสีทอง

ในสังคมโตราจายุคแรก ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับลำดับขั้นทางสังคม สังคมประกอบด้วยสามระดับ: ชนชั้นสูง, คนธรรมดา และ ทาว (ทาสถูกยกเลิกไปแล้วในปี 1909 โดยรัฐบาลดัตช์อีสต์อินดีส) ลำดับทางสังคมจะส่งผ่านจากมารดา ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามแต่งงาน "ลงล่าง" ไปหาสตรีที่ชั้นต่ำกว่า ในขณะที่การแต่งงานกับสตรีของชนนั้นสูงกว่าจะช่วยยกระดับทางสังคมของรุ่นลูกถัดไปได้ ทัศนคติที่วางตัวเหนือกว่าผู้อื่นของชนชั้นสูงยังคงปรากฏในปัจจุบันเพื่อดำรงไว้ซึ่งความมีศักดิ์ศรีของตระกูล[7]

ชนชั้นสูงถือว่าเป็นผู้สืบทอดสายตรงจากผู้ที่สืบทอดมาจากสวรรค์[19] จะอาศัยใน ตงโกนัน ในขณะที่คนธรรมดาอาศัยในบ้านที่ธรรมดากว่า (บ้านสร้างจากไผ่ เรียกว่า บานัว; banua) ส่วนทาสอาศัยในกระท่อมซึ่งต้องสร้างอยู่รอบ ๆ ตงโกนัน ของเจ้าของทาส คนธรรมดาสามารถแต่งงานกับใครก็ได้ แต่ชนชั้นสูงปรารถนาที่จะแต่งงานกันในตระกูลมากกว่า เพื่อคงสถานะทางสังคมของตระกูล บางครั้งชนชั้นสูงอาจแต่งงานกับชาวบูกีสหรือชาวมากัสซาร์ นอกจากนี้ คนธรรมดาและทาสยังถูกห้ามไม่ให้จัดพิธีฉลองคนตาย ถึงแม้จะมีความใกล้ชิดทางวงศ์วานและการสืบทอดทางสังคม ในชาวโตราจายังคงมีความยืดหยุ่นทางสังคม ที่ซึ่งการแต่งงานหรือสถานะความมั่งคั่งล้วนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะมางสังคมได้[16] ความมั่งคั่งนั้นนับกันจากจำนวนควายที่มี

ในสมัยที่ยังมีทาสนั้น ทาสในสังคมโตราจาเป็นสมบุติส่วนครอบครัว มีบางครั้งที่ชาวโตราจาตัดสินใจมาเป็นทาสด้วยตนเองเพื่อทำงานจ่ายหนี้ ทาสสามารถถูกยึดไปได้ในสงคราม และการค้าทาสก็ปรากฏทั่วไป ทาสสามารถซื้ออิสระของตนได้ แต่ลูกยังคงสืบทอดสถานะทาสต่อไป ทาสจะถูกห้ามสวมใส่ทองแดงหรือทอง, แกะสลักบ้านของตน, ทานอาหารจากจานเดียวกับเจ้าของ หรือมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่เป็นอิสระ ทั้งหมดนี้เป็นอาชญากรรมที่ต้องโทษประหารชีวิต

ศาสนา

นักบวชโตราจาในระหว่างเทศกาลหนึ่ง

ระบบความเชื่อท้องถิ่นของชาวโตราจามีลักษณะเป็นลัทธิวิญญาณนิยมแบบพหุเทวนิยม เรียกว่า อาลูก หรือ "หนทาง" (บางครั้งแปลว่า "กฎเกณฑ์") ในปรัมปราโตราจา บรรพชนของชาวโตราจาลงมาจากสวรรค์โดยใช้บันได ที่ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้ในฐานะสื่อกลางการติดของชาวโตราจากับ ปวงมาตัว (Puang Matua) ซึ่งเป็นพระผู้สร้าง[20] ตามความเชื่อ อาลูก จักวาลแบ่งออกเป็นโลกชั้นบน (สวรรค์), โลกมนุษย์ และใต้โลก[12] ในตอนแรก สวรรค์และโลกได้แต่งงานกัน จากนั้นจึงบังเกิดความมืด, การแยก และแสงในที่สุด สัตวฺอาศัยอยู่ในใต้โลก ที่ซึ่งถูกสื่ออกมาในรูปของพื้นที่สี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยเสา, โลกเป็นของมนุษยชาติ ปกคลุมด้วยหลังคาทรงอานม้า เทพเจ้าของโตราจาองค์อื่น ๆ เช่น โปงบังไงดีรันเตอ (Pong Banggai di Rante; เทพแห่งโลก), อินโด อนกน-อนกน (Indo' Ongon-Ongon; เทวีผู้สามารถก่อแผ่นดินไหว), ปง ลาลนดง (Pong Lalondong; เทพแห่งความตาย) และ อินโด เบโล ตุมบัง (Indo' Belo Tumbang; เทวีแห่งการแพทย์) และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ อีกมากมาย[21]

ผู้มีอำนาจทางโลก ผู้ซึ่งคำพูดและการกระทำสามารถแตกออกเป็นชีวิต (เกษตรกรรม) และความตาย (พิธีศพ) เรียกว่า to minaa (นักบวชของ อาลูก) อาลูก ไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อ แต่เป็นการผสมผสานของกฎหมาย, ศาสนา แบะพฤติกรรม อาลูก มีอำนาจต่อชีวิตทางสังคม, พิธีทางการเกษตร และพิธีเกี่ยวเนื่องกับบรรพชน รายละเอียดของ อาลูก อาจแตกต่างกันไปตามหมู่บ้าน กฎทั่วไปกฎหนึ่งคือการแยกพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตกับความตายออกจากกัน เพราะความเชื่อว่าศพอาจถูกทำลายลงหากนำมาร่วมพิธีกับพิธีทางชีวิต[22] พิธีทั้งสองล้วนสำคัญเท่าเทียมกัน ในสมัยของมิชชันนารีชาวดัตช์ ชาวโตราจาที่เป็นคริสต์ชนถูกห้ามเข้าร่วมหรือประกอบพิธีชีวิต แต่ยังคงได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีความตาย[13] ในปัจจุบันจึงส่งผลให้พิธีศพและพิธีเกี่ยวเนื่องยังคงปรากฏอยู่ทั่วไป ส่วนพิธีเกี่ยวกับชีวิตค่อย ๆ สูญหายไป