รัฐยะโฮร์และอิทธิพลของชาวยุโรป ของ ประวัติศาสตร์มาเลเซีย

ภาพเมืองมะละกาภายใต้การปกครองของโปรตุเกส

การเสียเมืองมะละกาให้แก่โปรตุเกสทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาค หลังจากที่สุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์เสียชีวิตที่เมืองกัมปาร์ใน ค.ศ. 1528 บุตรชายคนที่สองของสุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์คือมูซัฟฟาร์ (Muzaffar) เดินทางไปตั้งตนเป็นสุลต่านขึ้นที่เปรัก เป็นสุลต่านคนแรกของรัฐสุลต่านเปรัก (Perak sultanate) และบุตรชายคนที่สามเดินทางไปตั้งตนเป็นสุลต่านขึ้นที่เมืองยะโฮร์ลามา (Johor Lama) เป็นสุลต่านอลาอุดดินรีอายะต์ชาฮ์ที่ 2 (Alauddin Riayat Shah II) สุลต่านคนแรกของรัฐสุลต่านยะโฮร์ (Johor sultanate) รัฐสุลต่านยะโฮร์สามารถดำรงรักษาดินแดนส่วนใหญ่ของรัฐมะละกาเอาไว้ได้ทั้งสองฝั่งของช่องแคบมะละกา และสืบทอดความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองประเพณีวัฒนธรรมมาจากมะละกา อย่างไรก็ตามสมัยของรัฐสุลต่านยะโฮร์เป็นสมัยที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองจากภายคุกคามต่างชาติทำให้สุลต่านแห่งยะโฮร์ย้ายเมืองหลวงเป็นจำนวนมากกว่าสิบแห่งซึ่งแต่ละแห่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของยะโฮร์เพียงชั่วคราวเท่านั้น

สงครามสามฝ่าย

เมื่อชาวมลายูเสื่อมอำนาจลงในภูมิภาคทำให้รัฐสุลต่านอาเจะฮ์ (Aceh sultanate) ของชนชาติอาเจะฮ์ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะสุมาตราเรืองอำนาจขึ้น ใน ค.ศ. 1564 สุลต่านอลาอุดดินอัลกาฮาร์ (Alauddin al-Qahar) แห่งอาเจะฮ์ยกทัพเข้าบุกยึดเผาทำลายเมืองยะโฮร์ลามาและจับตัวสุลต่านอลาอุดดินรีอายะต์ชาฮ์แห่งยะโฮร์ไปประหารชีวิตที่เมืองอาเจะฮ์ ในสมัยต่อมาของสุลต่านอาลียัลลาอับดุลยาลีลชาฮ์ (Ali Jalla Abdul Jalil Shah) ฟืนฟูเมืองยะโฮร์ลามาขึ้นอีกครั้ง แต่ทัพเรือโปรตุเกสบุกเผาทำลายเมืองยะโฮร์ลามาอีกใน ค.ศ. 1587 สุลต่านอาลียัลลาฯจึงย้ายเมืองหลวงไปยังบาตูเซอวาร์ (Batu Sewar) สุลต่านอาลียัลลาฯมีบุตรชายสองคน คนโตขึ้นสืบทอดตำแหน่งสุลต่านชื่อว่าสุลต่านอัลลาอุดดินรีอายะต์ชาฮ์ที่ 3 (Alauddin Riayat Shah III) แห่งยะโฮร์ บุตรชายคนรองชื่อว่ารายาบงซู (Raja Bongsu) ในสมัยของสุลต่านอัลลาอุดดินฯที่สาม อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่รายาบงซูผู้เป็นน้องชาย รายาบงซูสร้างความสัมพันธกับฮอลันดาโดยการส่งคณะทูตไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1603 และทำสนธิสัญญาทางการค้าและการทหารกับนายคอร์เนลิส มาเตเลียฟ เดอ ยอร์จ (Cornelis Matelief de Jorge) ข้าหลวงใหญ่ของฮอลันดาในภูมิภาคอินเดียตะวันออกใน ค.ศ. 1606 โดยที่ยะโฮร์ให้ความช่วยเหลือทางทหารและเป็นที่พักพิงแก่ทัพเรือฮอลันดาในการต่อสู้กับโปรตุเกส เพื่อเป็นการคานอำนาจกับกับโปรตุเกสและอาเจะฮ์ในภูมิภาค

ในสมัยของสุลต่านอิซกันดาร์มุดา (Iskandar Muda) แห่งรัฐอาเจะฮ์ อาเจะฮ์แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังแหลมมลายู

สงครามระหว่างรัฐยะโฮร์ รัฐอาเจะฮ์ และโปรตุเกสที่เมืองมะละกา เรียกว่า สงครามสามฝ่าย (Triangular War) แม้ว่ารัฐยะโฮร์จะได้รับการสนับสนุนจากฮอลันดาแต่ก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากรัฐอาเจะฮ์อย่างหนัก ใน ค.ศ. 1613 สุลต่านอิซกันดาร์มุดา (Iskandar Muda) แห่งอาเจะฮ์ยกทัพเข้ายึดเมืองบาตูเซอวาร์จับตัวรายาบงซูกลับไปและทำให้สุลต่านอลาอุดดินฯที่สามแห่งยะโฮร์ต้องหลบหนีเสียชีวิต ใน ค.ศ. 1615 สุลต่านอิซกันดาร์มุดาแห่งอาเจะฮ์นำตัวรายาบงซูกลับมาตั้งขึ้นเป็นสุลต่านอับดุลเลาะฮ์มะอายะต์ชาฮ์ (Abdullah Ma’ayat Shah) แห่งยะโฮร์ และปีเดียวกันสุลต่านอิซกันดาร์มุดายกทัพเข้ายึดรัฐปะหังปลดสุลต่านวงศ์เดิมออกจากตำแหน่งและตั้งรายาบูยัง (Raja Bujang) บุตรชายของสุลต่านอลาอุดดินฯที่สามขึ้นเป็นสุลต่านแห่งปะหังแทน ใน ค.ศ. 1619 สุลต่านอิซกันดาร์มุดาบุกยึดเมืองไทรบุรี ใน ค.ศ. 1623 สุลต่านอับดุลเลาะฮ์มะอายะต์ฯเสียชีวิต รายาบูยังแห่งปะหังจึงขึ้นเป็นสุลต่านอับดุลยาลีลชาฮ์ (Abdul Jalil Shah) แห่งยะโฮร์ต่อมา รัฐยะโฮร์และปะหังจึงผนวกรวมเข้าด้วยกันเป็นรัฐเดียว สุลต่านอับดุลยาลีลชาฮ์ตั้งเมืองหลวงที่เกาะตัมเบอลัน (Tambelan Islands) ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะบอร์เนียวแห่งอันห่างไกลเพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจของรัฐอะเจะฮ์ ต่อมาเมื่อฮอลันดาสามารถปราบปรามรัฐอะเจะฮ์ได้ อิทธิพลของรัฐอาเจะฮ์ในภูมิภาคมลายูจึงเสื่อมลง

ทัพเรือของโปรตุเกสและทัพเรือฮอลันดาประลองยุทธกัน

ใน ค.ศ. 1641 สุลต่านอับดุลยาลีลชาฮ์ส่งแม่ทัพเรือลักษมณาตุนอับดุลยามีล (Tun Abdul Jamil) เข้านำทัพเรือมลายูร่วมกับทัพเรือของฮอลันดาเข้าบุกยึดเมืองมะละกามาจากโปรตุเกสได้สำเร็จทำให้อิทธิพลของโปรตุเกสสิ้นสุดลง ฝ่ายยะโฮร์ยินยอมให้ฮอลันดาเข้าปกครองเมืองมะละกาต่อจากโปรตุเกสภายใต้เงื่อนไขว่าฮอลันดาจะได้ไม่แสวงหาขยายดินแดนเพิ่มเติมในแหลมมลายู เมื่ออำนาจของอาเจะฮ์และโปรตุเกสสิ้นไปแล้วสุลต่านอับดุลยาลีลชาฮ์จึงย้ายเมืองหลวงกลับมายังเมืองบาตูเซอวาร์ ขณะนั้นบนเกาะสุมาตรารัฐสุลต่านยัมบี (Jambi Sultanate) กำลังเรืองอำนาจขึ้น สุลต่านอับดุลยาลีลฯต้องการสานสัมพันธ์กับรัฐยัมบีจึงให้คำสัญญาว่าให้ยัมตวนมุดา (Yamtuan Muda) หรือทายาทสมรสกับบุตรสาวของสุลต่านแห่งยัมบี แต่ต่อมาสุลต่านอับดุลยาลีลฯผิดคำสัญญาให้ยัมตวนมุดาสมรสกับบุตรสาวของแม่ทัพเรือตุนอับดุลยามีลแทน นำไปสู่งสงครามยะโฮร์-ยัมบี (Johor-Jambi War) ใน ค.ศ. 1673 ทัพเรือยัมบีเข้าบุกยึดทำลายเมืองบาตูเซอวาร์สุลต่านอับดุลยามีลฯหลบหนีไปเมืองปะหังและเสียชีวิต ยัมตวนมุดาจึงขึ้นเป็นสุลต่านอิบราฮิมชาฮ์ (Ibrahim Shah) สุลต่านอิบราฮิมชาฮ์ว่าจ้างทหารรับจ้างชาวบูกิส (Bugis) มาจากทางตอนใต้ของเกาะสุลาเวสีมาเพื่อสู้รบกับทัพของรัฐยัมบีจนได้รับชัยชนะใน ค.ศ. 1679 หลังจากสิ้นสุดสงครามยะโฮร์-ยัมบีแล้วบรรดาทหารรับจ้าวชาวบูกิสไม่กลับถิ่นฐานของพวกตนแต่มาตั้งรกรากอยู่ที่แคว้นเซอลาโงร์

วงศ์เบินดาฮาราและอิทธิพลของชนชาติบูกิส

อาคารสตัดธิวส์ (Stadthuys) อาคารสีแดงเป็นที่ทำการของทางการอาณานิคมฮอลันดา ปัจจุบันอยู่ที่จตุรัสฮอลันดา (Dutch Square) ในเมืองมะละกา

สุลต่านอิบราฮิมชาฮ์ถูกวางยาพิษเสียชีวิตใน ค.ศ. 1685 บุตรชายขึ้นเป็นสุลต่านต่อมาชื่อว่าสุลต่านมาฮ์มุดที่สอง (Mahmud II) สุลต่านมาฮ์มุดมีพฤติกรรมวิปลาสและโหดเหี้ยม ขุนนางชื่อว่าเมอกะต์ศรีราม (Megat Sri Rama) จึงทำการลอบสังหารสุลต่านมาฮ์มุดใน ค.ศ. 1699 บรรดาขุนนางยกเสนาบดีเบินดาฮาราตุนอับดุลยาลีล (Tun Abdul Jalil) ขึ้นเป็นสุลต่านอับดุลยาลิลชาฮ์ (Abdul Jalil Shah) ทำให้วงศ์มะละกา (Melaka dynasty) ซึ่งปกครองรัฐยะโฮร์มาเป็นเวลาประมาณหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปีสิ้นสุดลง วงศ์เบินดาฮารา (Bendahara dynasty) ขึ้นครองรัฐสุลต่านยะโฮร์ต่อมา อย่างไรก็ตามมีชายผู้หนึ่งจากเมืองซีอะก์ (Siak) บนเกาะสุมาตราชื่อว่ารายาเกอซิล (Raja Kecil) อ้างตนเป็นบุตรชายของสุลต่านมาฮ์มุดซึ่งถูกลอบสังหารไปนั้น รายาเกอซิลได้รับการสนับสนุนจากชาวมินังกาเบา (Minangkabau) ซึ่งอพยพจากเกาะสุมาตรามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดินแดนบริเวณรัฐเนอเกอรีเซิมบีลันในปัจจุบัน รายาเกอซิลนำทัพมินังกาเบาเข้าชิงตำแหน่งสุลต่านจากสุลต่านอับดุลยาลีลฯใน ค.ศ. 1718 ปลดสุลต่านอับดุลยาลีลฯออกจากตำแหน่ง อดีตสุลต่านอับดุลยาลีลฯหลบหนีไปยังเมืองปะหังเพื่อสะสมกำลังทหาร สุลต่านรายาเกอซิลส่งคนไปลอบสังหารอดตสุลต่านอับดุลยาลีลฯใน ค.ศ. 1721 และจับตัวบุตรชายของอับดุลยาลีลฯคือสุลัยมานกลับมา ปีต่อมา ค.ศ. 1712 ดาเอ็งปารานี (Daeng Parani) ผู้นำของชนชาติบูกิสยกทัพของชาวบูกิสเข้ายึดอำนาจปลดสุลต่านรายาเกอซิลออกจากตำแหน่งสุลต่าน และยกตำแหน่งสุลต่านให้แก่สุลัยมาน เป็นสุลต่านสุลัยมานบัดรุลอลัมชาฮ์ (Suleiman Badrul Alam Shah) วงศ์เบินดาฮาราจึงกลับมาปกครองยะโฮร์อีกครั้ง ฝ่ายรายาเกอซิลหลบหนีกลับไปยังเมืองซีอะก์และตั้งตนขึ้นเป็นสุลต่านที่เมืองซีอะก์ ก่อตั้งรัฐสุลต่านซีอะก์ศรีอินทรปุระ (Sultanate of Siak Sri Indrapura) แยกดินแดนบนเกาะสุมาตราทั้งหมดของรัฐยะโฮร์ออกไปเป็นอิสระ

เนื่องจากชาวบูกิสซึ่งมีผู้นำคือดาเอ็งปารานีมีบทบาทช่วยเหลือสุลต่านสุลัยมานฯในการยึดอำนาจจากรายาเกอซิล สุลต่านสุลัยมานฯจึงมอบรางวัลและอำนาจให้แก่ชาวบูกิสอย่างมาก สุลต่านสุลัยมานฯแต่งตั้งให้น้องชายของดาเอ็งปารานีเชื่อว่าดาเอ็งเมอเรอวะฮ์ (Daeng Merewah) ให้ดำรงตำแหน่งเป็นยัมตวนมุดาหรือผู้สำเร็จราชการแทนสุลต่าน ทำให้ชาวบูกิสเรืองอำนาจขึ้นมีบทบาทในการปกครองและการเมืองของรัฐยะโฮร์ ในสมัยของวงศ์เบินดาฮาราสุลต่านแห่งยะโฮร์เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ยัมตวนมุดาซึ่งเป็นตำแหน่งที่ครอบครองโดยชาวบูกิสและสืบตำแหน่งทางสายเลือด ใน ค.ศ. 1743 ยัมตวนมุดาดาเอ็งเชอละก์ (Daeng Chelak) ให้บุตรชายของตนคือรายาลูมู (Raja Lumu) เข้าปกครองแคว้นเซอลาโงร์ซึ่งมีชาวบูกิสอาศัยอยู่จำนวนมาก ต่อมารายาลูมูเข้าช่วยเหลือสุลต่านแห่งเปรักในการชิงอำนาจภายใน สุลต่านแห่งเปรักจึงตั้งให้รายาลูมูเป็นสุลต่านซาเลอฮุดดิน (Sallehuddin) แห่งเซอลาโงร์ เป็นปฐมสุลต่านแห่งรัฐสุลต่านเซอลาโงร์ (Sultanate of Selangor) สุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์ที่ 3 (Mahmud Shah III) แห่งยะโฮร์พยายามลดอำนาจของบูกิสด้วยความช่วยเหลือของฮอลันดาโดยการตกลงสัญญาทางการทหารกับฮอลันดาใน ค.ศ. 1784 เมื่อได้รับการสนับสนุนจากฮอลันดาสุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์จึงประกาศปลดชาวบูกิสออกจากตำแหน่งยัมตวนมุดาและขับชาวบูกิสออกจากรัฐยะโฮร์ อิทธิพลของชาวบูกิสที่ปกครองยะโฮร์เป็นเวลานานทำให้อำนาจของสุลต่านเสื่อมลงและขุนนางท้องถิ่นต่างแยกตัวเป็นอิสระ เสนาบดีเบินดาฮารามีอำนาจขึ้นที่เมืองปะหัง ในขณะที่ขุนนางตำมะหงงปกครองสิงคโปร์

อิทธิพลของสยามและอังกฤษเหนือรัฐไทรบุรี

รูปปั้นของนายฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) ที่เมืองจอร์จทาวน์

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน ค.ศ. 1767 ทำให้รัฐสุลต่านมลายูทางตอนเหนือได้แก่ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูเป็นอิสระจากอิทธิพลของสยามเป็นการชั่วคราว ใน ค.ศ. 1786 นายฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) ชาวอังกฤษเข้าพบสุลต่านอับดุลเลาะฮ์มุกการัมชาฮ์ (Abdullah Mukkaram Shah) แห่งไทรบุรี เพื่อเจรจาขอดินแดนเกาะปีนังหรือเกาะหมากให้แก่อังกฤษ โดยที่นายฟรานซิสไลต์ให้การตอบแทนแก่สุลต่านแห่งไทรบุรีด้วยสัญญาทางทหารว่าหากไทรบุรีถูกทัพสยามเข้ารุกรานอังกฤษจะให้การช่วยเหลือ สุลต่านอับดุลเลาะฮ์มุกการัมฯแห่งไทรบุรีจึงยินยอมยกเกาะปีนังให้แก่อังกฤษ นายฟรานซิสไลต์ตั้งชื่อเกาะปีนังว่า "เกาะเจ้าชายแห่งเวลส์" (Prince of Wales) และตั้งเมืองขึ้นใหม่บนเกาะเจ้าชายแห่งเวลส์ชื่อว่าเมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ แต่ในปีเดียวกันนั้นเองกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงยกทัพเข้ายึดเมืองปัตตานี[6] ทำให้สุลต่านอับดุลเลาะฮ์มุกการัมฯเกรงกลัวอิทธิพลของสยามจึงร้องขอความคุ้มครองทางทหารจากอังกฤษ แต่เนื่องจากนายฟรานซิสไลต์กระทำเจรจากับรัฐไทรบุรีการโดยพลการและไม่ได้ขอความเห็นชอบจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) ที่เมืองกัลกัตตา ทำให้นายฟรานซิสไม่สามารถมอบกำลังทหารให้แก่สุลต่านไทรบุรีได้ สุลต่านอับดุลเลาะฮ์มุกการัมฯมีความโกรธเคืองว่าอังกฤษไม่ทำตามสัญญาจึงยกทัพเข้ายึดเกาะปีนังคืนแต่พ่ายแพ้แก่กองเรือของอังกฤษ นำไปสู่การเจรจาสงบศึกโดยไทรบุรีจำยอมยกดินแดนเพิ่มเติมบนแผ่นดินไทรบุรีเรียกว่าเซอเบอรังเปไร (Seberang Perai) ให้แก่อังกฤษ ซึ่งฟรานซิสไลต์ตั้งชื่อดินแดนใหม่นี้ว่าโพรวินซ์เวลซ์เลย์ (Province Wellesley) หรือจังหวัดเวลซ์เลย์ เมื่อไม่ได้รับความคุ้มครองจากอังกฤษรัฐไทรบุรีจึงกลับมาอยู่ในอิทธิพลของสยามอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์เฉกเช่นเดียวกับกลันตันและตรังกานู เกาะเจ้าชายแห่งเวลส์และโพรวินซ์เวลซ์เลย์เป็นดินแดนอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษในแหลมมลายูและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ใน ค.ศ. 1820 สุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฮาลิมชาฮ์ที่ 2 (Ahmad Tajuddin Alim Shah II) แห่งไทรบุรี หรือเอกสารไทยเรียกว่า "ตวนกูปะแงหรัน" (Tunku Pangeran) หยุดส่งบุหงามาศให้แก่กรุงเทพและแข็งเมืองเป็นอิสระ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโอการให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพเรือจากเมืองท่าสงขลาและสตูล[7]เข้าบุกโจมตียึดเมืองอาโลร์เซอตาร์ (Alor Setar) เมืองหลวงของไทรบุรีได้สำเร็จใน ค.ศ. 1821 สุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฯหลบหนีไปเกาะปีนังอยู่กับอังกฤษ รัฐไทรบุรีถูกผนวกรวมเข้ากับนครศรีธรรมราชปกครองโดยตรงทำให้ไทรบุรีไม่มีสุลต่านปกครองเป็นเวลาประมาณยี่สิบปี พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) บุตรชายของเจ้าพระยานครฯเป็นพระยาไทรบุรี จนกระทั่งเกิดกบฏหวันหมาดหลีใน ค.ศ. 1830 ทัพเรือสลัดมลายูสามารถเข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์คืนจากสยามได้ พระยาอภัยธิเบศร์ต้องถอยออกจากเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชโองการโปรดฯให้พระยาราชพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ยกทัพเข้าสมทบกับทัพของเจ้าพระยานครฯในการปราบกบฏไทรบุรี ทัพสยามสามารถเข้ายึดเมืองอาโลร์เซอตาร์และปราบทัพเรือสลัดได้สำเร็จ ฝ่ายสยามจึงจัดระเบียบการปกครองไทรบุรีเสียใหม่ใน ค.ศ. 1843 โดยการแบ่งไทรบุรีออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ กูบังปาซู สตูล ปะลิส และไทรบุรีเดิม

ยะโฮร์มอบสิงคโปร์ให้อังกฤษ

เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ผู้ก่อตั้งนครสิงคโปร์ในปัจจุบัน

สุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์ที่สามแห่งยะโฮร์มีบุตรชายสองคน บุตรชายคนโตชื่อว่าเต็งกูฮุสเซ็น (Tengku Hussein) และบุตรชายคนรองชื่อว่าอับดุลราะฮ์มาน (Abdul Rahman) ใน ค.ศ. 1812 ขณะที่เต็งกูฮุสเซ็นกำลังพำนักอยู่ที่เมืองปะหังนั้น สุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์เสียชีวิต ตามประเพณีของมลายูผู้ดำรงตำแหน่งสุลต่านคนต่อไปต้องเข้าร่วมงานศพของสุลต่านคนก่อนหน้าจึงจะสามารถสืบทอดตำแหน่งสุลต่านต่อไปได้ ยัมตวนมุดาชาวบูกิสชื่อว่ารายายาอะฟาร์ (Raja Ja’afar) ฉวยโอกาสนี้ปิดบังข่าวการเสียชีวิตของสุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์ไม่ให้เต็งกูฮุสเซ็นทราบ เต็งกูฮุสเซ็นจึงไม่ได้เข้าร่วมงานศพของสุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์ รายายาอะฟาร์จึงยกตำแหน่งสุลต่านให้แก่อับดุลราะฮ์มานบุตรชายคนรองของสุลต่านมาฮ์มุดชาฮ์ขึ้นเป็นสุลต่านอับดุลราะฮ์มันมูอัซซัมชาฮ์ (Abdul Rahman Muazzam Shah) เพื่อเป็นหุ่นเชิดของตนในการที่จะฟื้นฟูอำนาจของชาวบูกิสขึ้นมาอีกครั้ง ฝ่ายเต็งกูฮุสเซ็นทราบข่าวการยึดอำนาจจึงพำนักอยู่ที่เมืองปะหังต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงภัยทางการเมือง นายสแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Stamford Ruffles) ชาวอังกฤษมีความเห็นว่าอังกฤษควรจะมีฐานที่มั่นทางการค้าและการทหารในภูมิภาคแหลมมลายู จึงเดินทางมาเข้าพบกับตำมะหงงอับดุลราะฮ์มาน (Abdul Rahman) ซึ่งปกครองเกาะสิงคโปร์ในขณะนั้นและเป็นผู้ให้การสนับสนุนแก่เต็งกูฮุสเซ็น สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ยื่นข้อเสนอที่จะสนับสนุนเต็งกูฮุสเซ็นขึ้นเป็นสุลต่าน ตำมะหงงอับดุลราะฮ์มานจึงเดินทางไปเชิญเต็งกูฮุสเซ็นมายังเกาะสิงคโปร์ และสแตมฟอร์ดแรฟเฟิลส์จึงประกาศให้เต็งกูฮุสเซ็นขึ้นเป็นสุลต่านฮุสเซ็นชาฮ์ (Hussein Shah) ที่สิงคโปร์ ซึ่งนายแรฟเฟิลส์ได้รับการตอบแทนด้วยการที่อังกฤษเข้ามาตั้งรกรากอาณานิคมบนเกาะสิงคโปร์

ฝ่ายฮอลันดาไม่พอใจที่อังกฤษเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของรัฐยะโฮร์จึงให้การสนับสนุนแก่สุลต่านอับดุลราะฮ์มาน ใน ค.ศ. 1822 ฮอลันดาประกาศให้สุลต่านอับดุลราะฮ์มานเป็นสุลต่านโดยชอบธรรมถูกต้องตามประเพณีที่เกาะลิงกาในทะเล เกิดเป็นรัฐสุลต่านริเอา-ลิงกา (Sultanate of Riau-Lingga) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอังกฤษและฮอลันดาในภูมิภาคมลายูนำไปสู่สนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลันดาปี ค.ศ. 1824 (Anglo-Dutch Treaty of 1824) แบ่งเขตอิทธิพลระหว่างอังกฤษและฮอลันดา โดยที่ฮอลันดาสละยกดินแดนทุกส่วนในแหลมลายูรวมทั้งเมืองมะละกาให้แก่อังกฤษ ในขณะที่ฮอลันดายังคงมีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะริเอาและเกาะลิงกา สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้รัฐยะโฮร์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ ส่วนของแหลมลายูซึ่งปกครองโดยสุลต่านฮุสเซ็นชาฮ์ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษกลายเป็นดินแดนของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน และส่วนหมู่เกาะรีเอาและเกาะลิงกาปกครองโดยสุลต่านอับดุลเราะฮ์มานภายใต้อิทธิพลของฮอลันดา กลายเป็นดินแดนของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย