ประวัติศาสตร์มาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยทางทิศใต้ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคคือช่องแคบมะละกา (Straits of Malacca) ซึ่งเป็นทางผ่านของเส้นทางการคมนาคมและการค้ามาแต่สมัยโบราณ ประวัติศาสตร์มาเลเซียเริ่มต้นเมื่อชาวโพรโต-มาเลย์ (Proto-Malay) อพยพมาถึงดินแดนประเทศมาเลเซียจากทางทะเล จากนั้นอารยธรรมอินเดียได้แผ่ขยายมาถึงแหลมมลายู กำเนิดเป็นรัฐโบราณต่าง ๆ ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู กลุ่มอำนาจที่สำคัญในสมัยโบราณคืออาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นศูนย์รวมของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วภูมิภาค การติดต่อทางการค้ากับชาวอาหรับ อินเดีย และเปอร์เซียทำให้ศาสนาอิสลามเผยแพร่มาสู่ดินแดนประเทศมาเลเซียในสมัยต่อมา ชนชั้นผู้ปกครองเจ้าผู้ครองอำนาจในมาเลเซียจึงหันมารับนับถือศาสนาอิสลาม ดำรงตำแหน่งเป็นสุลต่าน ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 รัฐสุลต่านมะละกา (Malacca Sultanate) เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมในโลกทัศน์ของชาวมลายู ในเวลาเดียวกันนักสำรวจชาวยุโรปมาถึงยังดินแดนภูมิภาคนี้ นำไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหารและชาวโปรตุเกสเข้ายึดเมืองมะละกาได้ใน ค.ศ. 1511 เมื่อรัฐมะละกาล่มสลายศูนย์กลางทางการเมืองของมลายูจึงย้ายไปอยู่ที่รัฐสุลต่านยะโฮร์ (Johor Sultanate) ในขณะที่รัฐต่าง ๆ ในภาคเหนือของมลายูเช่นไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยามอาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ในสมัยต่อมาชาวฮอลันดาเข้ามามีอำนาจแทนที่ชาวโปรตุเกส ต่อตามมาด้วยชาวอังกฤษ นำไปสู่สนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลันดาปี ค.ศ. 1824 (Anglo-Dutch Treaty of 1824) แบ่งเขตอิทธิพลระหว่างสองอำนาจ ดินแดนส่วนของอังกฤษที่มาจากสนธิสัญญานี้จะกลายเป็นประเทศมาเลเซียในที่สุด อังกฤษจัดตั้งอาณานิคมขึ้นที่สิงคโปร์และปีนัง เรียกว่า อาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ใน ค.ศ. 1895 รัฐทั้งสี่รัฐได้แก่ปะหัง เปรัก เซอลาโงร์ และเนอเกอรีเซิมบีลัน ทำสนธิรัญญายินยอมเข้าเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ นำไปสู่การจัดตั้งสหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) และอาณานิคมมลายาของอังกฤษ (British Malaya) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐทั้งสี่ได้แก่ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส เข้ามาอยู่ในอิทธิพลของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองอาณานิคมมลายาของอังกฤษเป็นเวลาชั่วคราว หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองอังกฤษเข้ามาพยายามฟื้นฟูระบอบการปกครองของอาณานิคมตามเดิม แต่เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นนำไปสู่การปะทะทางทหารเพื่อปลดแอกมาเลเซียจากอังกฤษเรียกว่า ภาวะฉุกเฉินมลายา (Malayan Emergency) ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (Malayan Communist Party) เป็นแกนนำหลักในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช แม้ว่าอังกฤษจะได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่มาเลเซียก็ได้รับเอกราชในที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 ประเทศมาเลเซียก่อตั้งขึ้นภายใต้ผู้นำตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (Tunku Abdul Rahman) ความพยายามของอาณานิคมบอร์เนียวเหนือซึ่งประกอบด้วยซาบะฮ์และซาราวักในการที่จะเข้าร่วมกับประเทศมาเลเซียนำไปสู่สงครามระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย (Konfrontasi) มาเลเซียชนะสงครามและสามารถผนวกเอาดินแดนภาคเหนือของเกาะบอร์เนียวมารวมเข้ากับประเทศมาเลเซียได้สำเร็จ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวมลายูกับชาวจีนนำไปสู่การขับสิงคโปร์ออกจากประเทศมาเลเซียใน ค.ศ. 1965 นายกรัฐมนตรีอับดุลระฮ์มันออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ ภูมิบุตร (Bumiputera) หรือชาวมลายูท้องถิ่นดั้งเดิม ในสมัยของนายกรัฐมนตรีมาฮาดีร์ บิน โมฮามัด เศรษฐกิจของมาเลเซียเจริญเติบโตขึ้น

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติศาสตร์อินเดีย