สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ของ ประวัติศาสตร์มาเลเซีย

ทวีปซุนดาแลนด์ (Sundaland)

ในยุคหินเก่า หรือยุคน้ำแข็ง เมื่อประมาณ 100,000 ปีก่อนถึงเมื่อ 12,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลอยู่ต่ำกว่าระดับในปัจจุบันประมาณ 30-40 เมตร ทำให้ทะเลจีนใต้บางส่วนตื้นเขินขึ้นมาเป็นแผ่นดินและคาบสมุทรมลายูเป็นดินแดนผืนแผ่นเดียวกันกับเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว เรียกว่า ดินแดนซุนดาแลนด์ (Sundaland) มีการค้นพบกระดูกมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซียคือ มนุษย์เปรัก (Perak Man) ที่เมืองเลิงกง (Lenggong) รัฐเปรักในปัจจุบัน มีอายุประมาณ 11,000 ก่อน จากหลักฐานทางพันธุกรรมและการกระจายตัวของชาติพันธุ์ในปัจจุบัน ตามทฤษฏีออกจากแอฟริกา (Out of Africa theory) มนุษย์โฮโมเซเปี้ยนส์กลุ่มแรกที่มาถึงดินแดนมาเลเซียคือกลุ่มชาติพันธุ์นิกรอยด์[1] หรือเรียกว่าเนกริโต (Negrito) มาถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 60,000 ปีก่อน ปัจจุบันคือชาวซาไก (Sakai) หรือซึ่งชาวมลายูเรียกว่า เซมัง (Semang) หรือเซนอย (Senoi) ซึ่งคนไทยรู้จักในนาม “เงาะป่า” ชาวซาไกเป็นมนุษย์กลุ่มแรกในภูมิภาคและดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์เก็บของป่า ต่อมาเมื่อประมาณ 20,000 ปีก่อนกลุ่มชนที่พูดภาษาในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) มาถึงยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชนกลุ่มออสโตรเอเชียติกมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มนิกรอยด์เดิม ทำให้ชนกลุ่มเนกริโตรับเอาภาษาของชาวออสโตรเอเชียติกมาใช้กลายเป็นภาษากลุ่มอัซลี (Asilan languages) ในปัจจุบัน ชาวมลายูเรียกชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่ในมาเลเซียก่อนการมาถึงของชาวมลายูรวม ๆ กันว่า ชาวโอรังอัซลี (Orang Asli)

การกระจายตัวของชาวออสโตรนีเซียนออกจากเกาะไต้หวันไปตามที่ต่าง ๆ ได้แก่บริเวณหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงหมู่เกาะโอเชียเนียและเกาะมาดากัสการ์ชาวเซมัง (Semang) หรือชาวซาไก (Sakai) หรือ "เงาะป่า" เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์เนกริโต (Negrito) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่อาศัยในมาเลเซีย

ชาวมลายูซึ่งใช้ภาษามลายูอันเป็นภาษาในกลุ่มภาษาออสโตรนีเซียน (Austronesian) กลุ่มย่อยมลายู-โพลีนีเซียน (Malayo-Polynesian) ต้นกำเนิดของชาวมลายูทฤษฎีเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 ระบุว่าชาวมลายูอพยพมาถึงดินแดนประเทศมาเลเซียด้วยการเดินเรือทางทะเลในสองระลอก[2] ระลอกแรกเรียกว่าชาวโพรโต-มาเลย์ (Proto-Malay) เป็นชาวมลายูกลุ่มแรกที่มาถึงภูมิภาคหมู่เกาะของเอเชียอุษาคเนย์เมื่อประมาณ 6000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งชาวโพรโตมาเลย์หรือชาวมลายูกลุ่มแรกนั้นกลายเป็นชาติพันธุ์กลุ่มโพรโต-มาเลย์ในปัจจุบัน เช่น ชาวดายัก (Dayak) ชาวบาตัก (Batak) และชาวนียัซ (Nias) บนเกาะบอร์เนียว และชาวจาคุน (Jakun) บนแหลมมลายู ตามมาด้วยชาวดิวเทอโร-มาเลย์ (Deutero-Malay) หรือชาวมลายูระลอกหลัง ซึ่งอพยพมาเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล กลายเป็นชาวมลายูส่วนใหญ่ซึ่งต่อมารับวัฒนธรรมอินเดียและอิสลามและสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมมาเลย์ในปัจจุบัน ในปัจจุบันมีทฤษฎีออกจากไต้หวัน (“Out of Taiwan” hypothesis)[2] โดยใช้หลักฐานทางภาษาศาสตร์ว่าภาษากลุ่มออสโตรนีเซียนมีต้นกำเนิดอยู่บนเกาะไต้หวัน ชาวออสโตรนีเซียนเริ่มอพยพออกจากเกาะไต้หวันเมื่อประมาณ 6000 ปีก่อนคริสตกาล เข้ามาตั้งรกรากในหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงหมู่เกาะโอเชียเนียในมหาสมุทรแปซิฟิก

ใน ค.ศ. 2009 มีการเสนอทฤษฏีใหม่ในเรื่องต้นกำเนิดของชาวมลายูคือ ทฤษฎีซุนดาแลนด์ (Sundaland Theory) จากการศึกษาทางพันธุศาสตร์เกี่ยวกับดีเอ็นเอไมโตคอนเดรีย พบว่าชาวมลายูอาจจะมีต้นกำเนิดที่แผ่นดินซุนดาแลนด์ เมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อนยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลงระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้แผ่นดินซุนดาแลนด์จมใต้น้ำ ชาวมลายูจึงกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องต้นกำเนิดของชาวมลายูยังคงเป็นที่ถกเถียง เมื่อชาวมลายูเข้ามาตั้งรกรากจับจองพื้นที่ทำมาหากินตามชายฝั่งทะเล ทำให้ชาวโอรังอัซลีเดิมต้องถอยร่นเข้าลึกไปในแผ่นดิน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย