จากชาตินิยมสู่จักรวรรดินิยม ของ ประวัติศาสตร์ยุโรป

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การปฏิวัติฝรั่งเศส

การทลายคุกบาสตีย์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ

การเข้าแทรกแซงของฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติอเมริกาทำให้รัฐล้มละลาย หลังความพยายามปฏิรูปการเงินล้มเหลวหลายครั้ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกโน้มน้าวให้เปิดประชุมสภาฐานันดร ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนของประเทศอันประกอบด้วยสามฐานันดร ได้แก่ นักบวช ขุนนางและสามัญชน สมาชิกสภาฐานันดรประชุมกันที่พระราชวังแวร์ซายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 แต่การถกเถียงว่าจะใช้ระบบการออกเสียงแบบใดนั้นต่อมาจะกลายมาเป็นทางตัน เดือนมิถุนายน ฐานันดรที่สาม และมีสมาชิกอีกสองฐานันดรเข้าร่วม ประกาศตนเป็นสมัชชาแห่งชาติ และปฏิญาณว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าฝรั่งเศสจะมีรัฐธรรมนูญ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติขึ้นในเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกัน ประชาชนกรุงปารีสลุกขึ้นต่อต้าน และทลายคุกบาสตีย์ที่ขึ้นชื่อเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789

ขณะนั้น สมัชชาต้องการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และในห้วงสองปีถัดมา ได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับรวมทั้งคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง การเลิกระบบฟิวดัล และการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับกรุงโรม ในตอนแรกพระมหากษัตริย์ทรงยินยอมกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และได้รับความนิยมอยู่พอสมควรจากประชาชน แต่เมื่อการต่อต้านพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นร่วมกับการบุกครองจากต่างชาติที่คุกคาม พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงถูกถอดพระราชอำนาจ ตัดสินพระทัยลี้ภัยไปพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มีคนจำพระองค์ได้และทรงถูกนำพระองค์กลับมายังกรุงปารีส วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1793 พระองค์ถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหากบฏ

วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1792 สภากงวองซิยงแห่งชาติเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ เนื่องจากภาวะสงครามฉุกเฉิน สภากงวองซิยงแห่งชาติจึงตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ควบคุมโดยมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์แห่งสโมสรฌากอแบ็ง ขึ้นทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ คณะกรรมาธิการฯ ภายใต้อิทธิพลของรอแบ็สปีแยร์ริเริ่มสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ซึ่งในช่วงนี้มีประชาชนกว่า 40,000 คนถูกประหารชีวิตในกรุงปารีส ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง และผู้ที่ถูกศาลปฏิวัติพิพากษาลงโทษ โดยมักเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ สำหรับที่อื่นในประเทศ การก่อการกบฏต่อต้านการปฏิวัติถูกปราบปรามอย่างโหดร้าย ระบอบถูกโค่นในรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 แตร์มิดอร์ (27 กรกฎาคม ค.ศ. 1794) และรอแบ็สปีแยร์ถูกประหารชีวิต ระบอบต่อมายุติความน่าสะพรึงกลัวและผ่อนคลายนโยบายสุดโต่งกว่าของรอแบ็สปีแยร์

นโปเลียน โบนาปาร์ต ไต่เต้าจากทหาร มาเป็นกงสุลใหญ่ และจักรพรรดิ

นโปเลียน โบนาปาร์ตเป็นนายพลที่ประสบความสำเร็จที่สุดของฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติ โดยพิชิตแผ่นดินอิตาลีผืนใหญ่ และบีบให้ออสเตรียขอสันติภาพ ใน ค.ศ. 1799 เขากลับจากอียิปต์และวันที่ 18 บรูแมร์ (9 พฤศจิกายน) โค่นรัฐบาล และแทนที่ด้วยคณะกงสุล โดยมีเขาเป็นกงสุลใหญ่ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 หลังแผนลับลอบสังหารล้มเหลว เขาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิ ใน ค.ศ. 1805 นโปเลียนวางแผนบุกครองอังกฤษ แต่พันธมิตรของอังกฤษกับรัสเซียและออสเตรีย (สัมพันธมิตรที่สาม) บีบให้พระองค์หันความสนใจไปยังภาคพื้นทวีป ขณะที่ไม่อาจลวงให้กองเรืออังกฤษที่เหนือกว่าออกจากช่องแคบอังกฤษพร้อมกันนั้น ยุติลงด้วยความปราชัยเด็ดขาดของฝรั่งเศสที่ยุทธนาวีทราฟัลการ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งดับความหวังใด ๆ ที่จะบุกครองอังกฤษ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1805 นโปเลียนเอาชนะกองทัพออสเตรีย-รัสเซียที่มีจำนวนเหนือกว่าที่เอาสเทอร์ลิทซ์ บีบให้ออสเตรียถอนตัวจากสัมพันธมิตร และยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. 1806 มีการจัดตั้งสัมพันธมิตรที่สี่ วันที่ 14 ตุลาคม นโปเลียนพิชิตปรัสเซียที่ยุทธการเยนา-เออร์ชเตดท์ เคลื่อนที่ผ่านเยอรมนีและพิชิตรัสเซียเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1807 ที่ฟรีดลันด์ สนธิสัญญาทิลซิทแบ่งยุโรประหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียและสถาปนาดัชชีวอร์ซอ

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1812 นโปเลียนบุกครองรัสเซียด้วยกองทัพใหญ่ ซึ่งมีกำลังพลเกือบ 700,000 นาย หลังชัยชนะมั่นคงที่สโมเลนสก์และโบโรดีโน นโปเลียนยึดครองกรุงมอสโก และพบว่าถูกเผาโดยกองทัพรัสเซียที่ล่าถอยไป พระองค์ถูกบีบให้ล่าถอย ระหว่างการถอยทัพ กองทัพของพระองค์ถูกคอสแซกก่อกวน และประสบกับโรคระบาดและความอดอยาก มีทหารเพียง 20,000 นายที่รอดชีวิตจากการทัพ จนถึง ค.ศ. 1813 กระแสเริ่มพลิกผันจากนโปเลียน หลังถูกกองทัพเจ็ดชาติพิชิตที่ยุทธการไลป์ซิจในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1813 ตามติดด้วยการทัพหกวันและการยึดครองกรุงปารีส พระองค์ทรงถูกบีบให้สละราชสมบัติ ภายใต้สนธิสัญญาฟงแตนโบล พระองค์ทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา พระองค์กลับมาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1815 เริ่มต้นสมัยร้อยวัน พระองค์ทรงตั้งกองทัพใหม่ แต่ถูกพิชิตอย่างเบ็ดเสร็จโดยกองทัพอังกฤษและปรัสเซียที่ยุทธการวอเตอร์ลูเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย