ประวัติฟาโรห์โรมัน ของ ฟาโรห์โรมัน

พระนางคลีโอพัตราที่ 7 ทรงมีความสัมพันธ์กับจอมเผด็จการโรมันนามว่า จูเลียส ซีซาร์ และแม่ทัพโรมันนามว่า มาร์ค แอนโทนี แต่หลังจากนั้นเมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาลพระนางก็ทรงทำอัตวินิบาตกรรม (หลังจากมาร์ค แอนโทนีพ่ายแพ้ต่ออ็อกตาเวียน ซึ่งต่อมากลายเป็นจักรพรรดิเอากุสตุส) อียิปต์ก็ได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน จักรพรรดิโรมันพระองค์ต่อมาทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นฟาโรห์ แม้ว่าจะเป็นแค่ในมณฑลอียิปต์เท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ใช่ว่าจักรพรรดิโรมันทุกพระองค์ที่จะทรงได้รับการยอมรับว่าทรงเป็นฟาโรห์ ถึงแม้ว่าอ็อกตาเวียนจะทรงเลือกที่จะไม่สวมมงกุฎฟาโรห์เมื่อพิชิตอียิปต์ได้ ซึ่งคงจะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้จักรวรรดิกว้างใหญ่ขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเผยแพร่คำชวนเชื่อจำนวนมหาศาลที่พระองค์ทรงเผยแพร่เกี่ยวกับพฤติกรรม "แปลกประหลาด" ของพระนางคลีโอพัตราและแม่ทัพแอนโทนี[4] ชาวพื้นเมืองอียิปต์ถือว่าพระองค์ทรงเป็นฟาโรห์ ผู้ซึ่งสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากพระนางคลีโอพัตราและทอเลมี ซีซาเรียน ภาพสลักของอ็อกตาเวียน ซึ่งในปัจจุบันจะเรียกพระองค์ว่า เอากุสตุส ในเครื่องแต่งกายของฟาโรห์ตามโบราณราชประเพณี (ทรงสวมมงกุฎที่แตกต่างกันและกระโปรงสั้นแบบดั้งเดิม) และการสังเวยของเซ่นไหว้แด่เทพเจ้าต่างๆ ของอียิปต์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 15 ปีก่อนคริสตกาล และปัจจุบันปรากฏอยู่ในวิหารเดนดูร์ ซึ่งสร้างโดยกาอิอุส เพตรอนิอุส ซึ่งรั้งตำแหน่งเป็นผู้ว่าการมณฑลอียิปต์แห่งโรมัน[5] โดยก่อนหน้านั้น จักรพรรดิเอากุสตุสยังทรงได้รับตำแหน่งราชวงศ์ในภาษาอียิปต์บนจารึกศิลา เมื่อ 29 ปีก่อนคริสตกาลที่สร้างโดยกอร์เนลิอุส กัลลุส ถึงแม้ว่าตำแหน่งราชวงศ์จะไม่ปรากฏอยู่ในข้อความเดียวกันในรูปแบบภาษาละตินหรือกรีกก็ตาม[6]

ซึ่งไม่เหมือนกับฟาโรห์จากราชวงศ์ทอเลมีและฟาโรห์ของราชวงศ์ต่างเชื้อชาติก่อนหน้านี้ที่จักรพรรดิโรมันแทบจะไม่ได้ทรงปรากฏตัวในอียิปต์เลย ด้วยเหตุดังกล่าว บทบาทดั้งเดิมของฟาโรห์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งทวยเทพและระเบียบจักรวาลจึงค่อนข้างยากต่อการพิสูจน์ จักรพรรดิไม่ค่อยเสด็จเยือนมณฑลนี้มากกว่าหนึ่งครั้งในพระชนม์ชีพ ซึ่งตรงกันข้ามกับฟาโรห์พระองค์ก่อนๆ ที่ทรงใช้พระชนม์ชีพส่วนใหญ่ในอียิปต์ ถึงอย่างนั้น อียิปต์ก็มีความสำคัญอย่างมากต่อจักรวรรดิ เนื่องจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์มีการปกครองแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ โดยจักรพรรดิทรงปฏิบัติต่ออียิปต์เหมือนสมบัติส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นมณฑล ซึ่งทรงเลือกผู้ว่าการมณฑลด้วยพระองค์เองและบริหารโดยปราศจากการแทรกแซงของวุฒิสภาโรมัน ส่งผลให้วุฒิสมาชิกจึงไม่ค่อยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการมณฑลแห่งอียิปต์ และมักจะถูกห้ามไม่ให้ไปเยือนมณฑลอียิปต์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างชัดแจ้ง[7]

จักรพรรดิเวสพาซิอานุส (ค. ค.ศ. 69 – ค.ศ. 79) เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกนับตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิเอากุสตุสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลอียิปต์[8] ที่เมืองอเล็กซานเดรีย พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นฟาโรห์ ซึ่งได้ระลึกย้อนไปถึงการเฝ้าฯ รับเสด็จของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่วิหารอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเซอุส-อัมมอนที่โอเอซิสซิวา จักรพรรดิเวสพาซิอานุสทรงได้รับการประกาศให้เป็นพระโอรสแห่งเทพผู้สร้าง อามุน (เซอุส-อัมมอน) ตามแบบราชประเพณีของฟาโรห์โบราณและทรงเป็นร่างอวตารของเทพเซราพิสในแบบของผู้ปกครองจากราชวงศ์ทอเลมี[9] ตามแบบอย่างของฟาโรห์ จักรพรรดิเวสพาซิอานุสจะต้องแสดงให้เห็นถึงการเลือกอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์โดยวิธีการแบบดั้งเดิมของการถ่มน้ำลายรดและเหยียบย่ำชายตาบอดและพิการ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงสามารถรักษาชายผู้นั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์[10]

จักรพรรดิการากัลลา (ค. ค.ศ. 211 – ค.ศ. 217) ในภาพของฟาโรห์ในวิหารแห่งคอมออมโบ

สำหรับชาวอียิปต์แล้ว ศาสนาอียิปต์โบราณจำเป็นต้องมีฟาโรห์เพื่อทรงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ ด้วยเหตุดังกล่าว จักรพรรดิโรมันจึงยังคงถูกมองว่าทรงเป็นฟาโรห์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ง่ายที่สุด โดยไม่สนใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง คล้ายกับที่ชาวอียิปต์ปฏิบัติต่อผู้ปกครองชาวเปอร์เซียหรือชาวกรีกก่อนหน้าชาวโรมัน ลักษณะที่เป็นนามธรรมของบทบาทของ "ฟาโรห์โรมัน" เหล่านี้ส่งผลให้มั่นใจได้ว่านักบวชของอียิปต์สามารถแสดงความจงรักภักดีต่อวิถีดั้งเดิมและต่อผู้ปกครองต่างเชื้อชาติพระองค์ใหม่ จักรพรรดิโรมันเองส่วนใหญ่ก็ทรงมิได้สนพระราชหฤทัยในพระราชสถานะที่ชาวอียิปต์มอบให้ ซึ่งตำแหน่งภาษาละตินและภาษากรีกของพระองค์ยังคงเป็นภาษาโรมันเท่านั้น (อิมแปราตอร์ในภาษาละตินและเอาตอกราตอร์ในภาษากรีก) และบทบาทของพระองค์ในฐานะเทวกษัตริย์ก็เป็นที่ยอมรับเฉพาะในมณฑลโดยชาวอียิปต์เองเท่านั้น[11] แต่ไม่ใช่ว่าชาวอียิปต์ทุกคนจะเอนเอียงไปทางจักรพรรดิโรมันในทางบวก ก็ยังมีการประท้วงของชาวอียิปต์จำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปกครองของโรมัน และมีตัวอย่างบันทึกที่หลงเหลืออยู่โดยนักบวชชาวอียิปต์ที่คร่ำครวญถึงการปกครองอียิปต์ของจักรวรรดิโรมันและเรียกร้องให้มีการคืนสถานะของราชวงศ์พื้นเมืองของฟาโรห์[12]

เมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการยอมรับมากขึ้นภายในจักรวรรดิ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ จักรพรรดิทั้งหลายทรงไม่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยอมรับความหมายดั้งเดิมของการเป็นฟาโรห์ (ตำแหน่งที่หยั่งรากอย่างมั่นคงในศาสนาอียิปต์โบราณ) และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในเมืองอเล็กซานเดรียเอง ซึ่งเมืองหลวงของอียิปต์ตั้งแต่สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของศาสนาคริสต์ เมื่อถึงจุดนี้ ทัศนะของผู้ปกครองชาวโรมันในฐานะฟาโรห์ได้ลดลงบ้างแล้ว โดยที่มณฑลอียิปต์ซึ่งอยู่รอบนอกของจักรวรรดิโรมันนั้นแตกต่างอย่างมากจากมุมมองของฟาโรห์ดั้งเดิมที่มองว่าอียิปต์เป็นศูนย์กลางของโลก สิ่งนี้เห็นได้ชัดในตำแหน่งราชวงศ์แห่งฟาโรห์ของจักรพรรดิ ถึงแม้ว่าจักรพรรดิในช่วงแรก ๆ จะทรงได้รับตำแหน่งราชวงศ์ที่ซับซ้อนคล้ายกับของผู้ปกครองจากราชวงศ์ทอเลมีและฟาโรห์ชาวพื้นเมืองก่อนหน้าพระองค์ แต่ก็ไม่มีจักรพรรดิพระองค์ใดหลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิมาร์คุส เอาเรลิอุส (ค. ค.ศ. 161 – ค.ศ. 180) ที่จะทรงได้รับเพียงการขนานพระนามประสูติเท่านั้น (แต่ก็คงยังเขียนพระนามลงในวงคาร์ทูช) ถึงแม้ว่าจักรพรรดิโรมันจะขึ้นมาปกครองหลังจากนั้นมาอีกหลายศตวรรษ จนกระทั่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลล่มสลายในปี ค.ศ. 1453 อียิปต์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจนถึงปี ค.ศ. 641 โดยจักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้ายที่ทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นฟาโรห์คือจักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา (ทรงครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 311 – ค.ศ. 313)[13]

ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จริงก็ตาม (ปรากฏว่ามีราชวงศ์ที่แตกต่างกันอย่างน้อยจำนวน 4 ราชวงศ์ของจักรพรรดิโรมันในช่วงระหว่างรัชสมัยของจักรพรรดิเอากุสตุสและจักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา) ซึ่งช่วงเวลาที่จักรวรรดิโรมันได้ปกครองอียิปต์ทั้งหมด บางครั้งอาจจะเรียกว่า ราชวงศ์ที่สามสิบสี่[2] ซึ่งนักวิชาการคอปติกบางคนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น มิคาอิล ชารูบิม และ ริฟะ'อะ อัต-ตะฮ์ตะวิ ได้แบ่งจักรพรรดิโรมันออกเป็นสองราชวงศ์ โดยราชวงศ์ที่สามสิบสี่เป็นราชวงศ์ของจักรพรรดินอกรีต และราชวงศ์ที่สามสิบห้า ซึ่งครอบคลุมแต่จักรพรรดิที่ทรงนับถือคริสต์ศาสนา โดยนับตั้งแต่จักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 ไปจนถึงช่วงการพิชิตอียิปต์ของชาวมุสลิมในปี ค.ศ. 641 ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏจักรพรรดิโรมันที่ทรงนับถือศาสนาคริสต์พระองค์ใดเลยที่ทรงเคยถูกเรียกว่าฟาโรห์โดยชาวอียิปต์โบราณก็ตาม[14]

ใกล้เคียง

ฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์อูนัส ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 ฟาโรห์โจเซอร์ ฟาโรห์เมเนส

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟาโรห์โรมัน https://archive.org/details/keysofegyptobses00adki https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b... https://etd.ohiolink.edu/pg_10?0::NO:10:P10_ACCESS... https://oi.uchicago.edu/sites/oi.uchicago.edu/file... https://books.google.com/books?id=0M4UDAAAQBAJ https://books.google.com/books?id=lYo-wI8aBYEC&q=%... https://doi.org/10.2307%2F4238573 https://www.jstor.org/stable/4238573 https://books.google.com/books?id=dRcnDAAAQBAJ https://books.google.com/books?id=WJp3Gmerg_cC&q=m...