ประวัติ ของ ภาษาถิ่นโตเกียว

ภาพแสดงบริเวณย่านยามาโนเตะกับย่านชิตามาจิ (แดง: ยามาโนเตะ, น้ำเงิน: ชิตามาจิ)

ภาษาถิ่นโตเกียวพัฒนามาจากภาษาเอโดะ (ญี่ปุ่น: 江戸言葉; โรมาจิ: Edo Kotoba; ทับศัพท์: เอโดะโคโตบะ) ถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาเมืองเอโดะหลังจากที่โทกูงาวะ อิเอยาซุ ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาที่เมืองดังกล่าว ภาษาเอโดะเป็นภาษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างภาษาญี่ปุ่นถิ่นตะวันออกกับภาษาญี่ปุ่นถิ่นตะวันตกเนื่องจากมีผู้คนจากถิ่นต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามายังเอโดะไม่ขาดสาย[3] อย่างไรก็ตาม ภาษาคามิงาตะ (ญี่ปุ่น: 上方言葉; โรมาจิ: Kamigata Kotoba; ทับศัพท์: คามิงาตะโคโตบะ) มีอิทธิพลต่อภาษาเอโดะเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง และต่อมาก็ขยายมายังกลุ่มชนชั้นกลางในช่วงท้ายของยุคเอโดะ[4] เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ เอโดะได้เปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京; โรมาจิ: Tōkyō; ทับศัพท์: โทเกียว) ในช่วงนั้นกระแสชาตินิยมสืบเนื่องจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกทำให้ญี่ปุ่นต้องรีบพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงยกภาษาถิ่นโตเกียวย่านยามาโนเตะ (ยามาโนเตะโคโตบะ) ซึ่งเป็นภาษาของคนชั้นกลาง-สูงขึ้นมาเป็นแม่แบบของภาษามาตรฐานและบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับทั่วประเทศ[3] โดยที่ไม่ได้นำภาษาถิ่นโตเกียวย่านชิตามาจิ (ชิตามาจิโคโตบะ) ซึ่งเป็นภาษาของชนชั้นแรงงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาษามาตรฐาน[4]