คำยืม ของ ภาษามลายูปัตตานี

นอกจากคำศัพท์พื้นฐานของภาษามลายูแล้ว ภาษามลายูปัตตานีมีคำยืมจากภาษาอื่นหลายภาษา ได้แก่[4]

  • ภาษาสันสกฤต เข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ฮินดู เช่น ภาษา เป็น บาฮาซอ หรือ บาซอ, หฤทยะ (ใจ) เป็น ฮาตี (ตับ, ใจ), คช (ช้าง) เป็น ฆฺเย๊าะห์,ชัย (ชัยชนะ) เป็น จายอ (เจริญ), โทษ (ความชั่ว) เป็น ดอซอ (บาป), วาจา (คำพูด) เป็น บาจอ (อ่าน), นคร (เมือง) เป็น เนฆือรฺ (ประเทศ)
  • ภาษาอาหรับ เข้ามาพร้อมกับศาสนาอิสลาม เช่น قلم /กอลัม/ (ปากกา) เป็น กาแล, تمر /ตะมัร/ (อินทผาลัม) เป็น ตามา, عالم /อาลัม/ (โลก) เป็น อาแล, تفاحة /ฏุฟฟาห์/ (แอปเปิ้ล) เป็น ตอเปาะห์, وقت /วักตู/ (เวลา) เป็น วะกือตู, กีตาบ (หนังสือ) เป็น กีตะ (คัมภีร์ทางศาสนาอิสลาม), دنيا /ดุนยา/ (โลก) เป็น ดุนิยอ
  • ภาษาเขมร เช่น กำปง (หมู่บ้าน) เป็น กาปง
  • ภาษาจีน เช่น กุยช่าย เป็น กูจา
  • ภาษาเปอร์เซีย เช่น มะตับ (แสงจันทร์) เป็น มะตับ, ฆันดุม (แป้ง) เป็น ฆฺนง
  • ภาษาฮินดี เช่น โรตี เป็น รอตี
  • ภาษาทมิฬ เช่น มานิกัม (เพชร) เป็น มานิแก
  • ภาษาอังกฤษ เช่น Glass (แก้ว) เป็น ฆฺอละห์, Free (ฟรี) เป็น ปือรี, Motorcycle (มอเตอร์ไซค์) เป็น มูตู-ซีกา
  • ภาษาไทย เช่น นายก เป็น นาโย๊ะ, ปลัด เป็น บือละ, มักง่าย เป็น มะงา โทรศัพท์ เป็น โทราสะ