ประวัติศาสตร์ ของ ราชวงศ์เหงียน

พื้นหลัง

แผ่นป้ายหินจารึกอนุสรณ์ของพระจักรพรรดิเลไท่โต๋

ตระกูลเหงียน เป็นหนึ่งในสองตระกูลใหญ่ซึ่งปกครองเวียดนามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดำรงตำแหน่งเป็น เวือง (Vương, 王) หรือ จั๊วเหงียน (Chúa Nguyễn, 主阮) หรือ เจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน ปกครองเวียดนามภาคกลาง (อีกตระกูลหนึ่งคือ จั๊วจิ่ญ ปกครองเวียนามภาคเหนือ) จากเมืองฟู้ซวน (Phú Xuân, 富春) หรือเมืองเว้ในปัจจุบัน โดยขึ้นกับพระจักรพรรดิหรือฮว่างเด๊ (Hoàng Đế) ราชวงศ์เลที่เมืองฮานอยแต่เพียงในนามเท่านั้น จั๊วเหงียนได้แผ่ขยายดินแดนและอำนาจไปยังเวียดนามภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นดินแดนของอาณาจักรจามปา และอาณาจักรเขมร

จนกระทั่งเกิดกบฏเตยเซิน (Tây Sơn, 西山) ขึ้นในค.ศ. 1774 นำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงียน (ตระกูลเหงียนวัน ซึ่งเป็นคนละตระกูลกับตระกูลเหงียนฟุกที่ดำรงตำแหน่งจั๊วเหงียน) ซึ่งไม่พอใจระบอบการปกครองของจั๊วเหงียน ทัพของกบฏเตยเซินยกทัพเข้ายึดนครฟู้ซวนได้ ทำให้สมาชิกตระกูลเหงียนต้องอพยพหลบหนีไปยังเมืองซาดิ่ญ (Gia Định, 嘉定) หรือเมืองไซ่ง่อนในปัจจุบัน แต่ทว่าทัพของกบฎเตยเซินยกทัพติดตามไปจนถึงเมืองซาดิ่ญ สามารถยึดเมืองซาดิ่ญได้และสังหารสมาชิกตระกูลเหงียนที่เป็นผู้ชายไปจนเกือบหมดสิ้น

กำเนิดราชวงศ์

หนังสืออิงประวัติศาสตร์พงศาวดารเวียดนาม "ซา ล็อง เติ่ว โกว๊ก" ("Gia Long tẩu quốc") แสดงชีวประวัติของเหงียนฟุกอั๊ญ

หลังจากการสังหารหมู่ตระกูลเหงียนที่เมืองซาดิ่ญ เหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) หรือที่ปรากฏในพงศาวดารของไทยว่า องเชียงสือ กลายเป็นสมาชิกตระกูลเหงียนที่อาวุโสที่สุดที่ยังคงเหลือรอดชีวิตอยู่ องเชียงสือสามารถเข้ายึดนครไซ่ง่อนคืนจากกบฎเตยเซินได้ในปีค.ศ. 1778 ปกครองเมืองไซ่ง่อนอยู่เป็นเวลาประมาณสามปี จึงถูกทัพเตยเซินขับออกจากเมืองไซ่ง่อนอีกครั้งในปีค.ศ. 1781 เหงียนฟุกอั๊ญจึงเดินทางมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในขณะที่พำนักอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์นั้น เหงียนฟุกอั๊ญขอความช่วยเหลือจากบาทหลวงปิโญ เดอ เบเอน (Pigneau de Béhaine) เหงียนฟุกอั๊ญเห็นว่าวิทยาการทางการทหารของชาวตะวันตกมีความจำเป็นในการกอบกู้ดินแดนเวียดนามคืนจากกบฎเตยเซิน ในค.ศ. 1785 บาทหลวงปิโญ เดอ เบเอนพร้อมกับเหงียนฟุกกั๊ญ (Nguyễn Phúc Cảnh, 阮福景) บุตรชายของเหงียนฟุกอั๊ญ เดินทางทางเรือไปยังเมืองปอนดิเชอรี (Pondicherry) เพื่อขอความช่วยเหลือจากทางการอาณานิคมฝรั่งเศส บาทหลวงปิโญ เดอ เบเอน และเหงียนฟุกกั๊ญออกเดินทางต่อไปยังนครแวร์ซายในค.ศ. 1787 ราชสำนักฝรั่งเศสร่วมลงนามกับบาทหลวงปิโญ เดอ เบเอนในฐานะตัวแทนของเหงียนฟุกอั๊ญ ตกลงที่จะส่งกองทัพเรือและทหารเข้าช่วยเหงียนฟุกอั๊ญ เรียกว่า สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)

หลังจากที่พำนักอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลาเจ็ดปี องเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญลักลอบเดินทางออกจากสยามเพื่อยกทัพเข้ายึดเมืองไซง่อนในค.ศ. 1788 เหงียนฟุกอั๊ญ ยกทัพเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จและเข้าปกครองเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง กองทัพตะวันตกของบาทหลวงเดอเบเอนมาถึงยังไซ่ง่อนในปีค.ศ. 1789 เพื่อช่วยร่วมรบกับองเชียงสือในการกอบกู้บ้านเมืองจากกบฎเตยเซิน ในค.ศ. 1800 เหงียนฟุกกั๊ญผู้เป็นบุตรชายสามารถเข้ายึดเมืองกวีเญินอันเป็นราชธานีของราชวงศ์เตยเซินได้ และในปีต่อมาค.ศ. 1801 เหงียนฟุกอั๊ญเข้ายึดเมืองฟู้ซวนได้สำเร็จและปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิซาล็อง (Gia Long, 嘉隆) เป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียน ค.ศ. 1802 พระจักรพรรดิซาล็องทรงยกทัพขึ้นทางเหนือเข้ายึดเมืองทังล็องหรือฮานอยได้ ทรงสามารถรวบรวมดินแดนเวียดนามไว้ได้ในพระอาณาเขตตั้งแต่เหนือจรดใต้

การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางและอานามสยามยุทธ

ดูบทความหลักที่: อานามสยามยุทธ

พระจักรพรรดิซาล็องทรงวางรากฐานการปกครองของราชวงศ์เหงียน ทรงส่งเสริมลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติของเวียดนาม ทรงสร้างพระราชวังเมืองเว้ หรือ ฮว่างถ่าญ (Hoàng thành, 皇城) ขึ้นในค.ศ. 1804 ตามแบบพระราชวังต้องห้ามของจีน พระจักรพรรดิซาล็องทรงแต่งตั้งข้าหลวงไปปกครองในเวียดนามภาคเหนือและเวียดนามภาคใต้ซึ่งข้าหลวงเหล่านั้นมีอำนาจอย่างมากในพื้นที่ของตน ในเวียดนามภาคเหนือทรงแต่งตั้ง บั๊กถ่าญ (Bắc Thành) ไปปกครองที่เมืองฮานอย และในเวียดนามภาคใต้ทรงแต่งตั้ง ซาดิ่ญถ่าญ (Gia Định Thành) ไปปกครองที่เมืองไซ่ง่อน

ฉลองพระองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินีสมัยราชวงศ์เหงียน

ในช่วงปลายรัชสมัยพระจักรพรรดิซาล็องนั้น ขุนนางชื่อ เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) ซึ่งดำรงตำแหน่งซาดิ่ญถ่าญ มีอำนาจอย่างล้นพ้นในทางตอนใต้ของเวียดนามไปจนถึงกัมพูชา เมื่อพระจักรพรรดิมิญหมั่งเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงตระหนักว่าเลวันเสวียตเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่ ใน ค.ศ. 1832 เลวันเสวียตเสียชีวิต พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่ภาคใต้ของเวียดนาม ทรงยกเลิกตำแหน่งซาดิ่ญถั่ญให้ขึ้นกับราชสำนักโดยตรง ทรงมีนโยบายรวบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางและส่งเสริมลัทธิขงจื้อ ขุนนางชุดใหม่ที่พระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้เข้าปกครองเวียดนามใต้พบว่าเลวัน เสวียตได้สะสมกำลังทหารอาวุธไว้เป็นจำนวนมากรวมทั้งมีทรัพย์สินร่ำรวยและเป็นที่นิยมของราษฎร พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีคำตัดสินให้เลวันเสวียตเป็นกบฏ มีพระราชอาญาลงโทษให้ลบหลู่และทำลายสุสานของเลวันเสวียต เลวันโคย (Lê Văn Khôi, 黎文𠐤) บุตรชายบุญธรรมของเลวันเสวียตจึงก่อการกบฏต่อต้านจักรพรรดิมิญหมั่งขึ้นใน ค.ศ. 1833 ซึ่งกบฏของเลวันโคยนั้นมีราษฎรชาวเวียดนามใต้ฝักใฝ่มาเข้าพวกจำนวนมาก และบรรดาชาวคาทอลิกหรือบาทหลวงชาวตะวันตกต่างก็ให้การสนับสนุน

เมื่อเกิดการกบฏขึ้นในเวียดนามภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพเข้ารุกรานอาณาจักรเขมรเพื่อที่จะนำนักองค์ด้วงเจ้าชายเขมรซึ่งฝักใฝ่สยามขึ้นครองราชสมบัติกัมพูชา เป็นจุดเริ่มต้นของอานามสยามยุทธ ทัพสยามเข้าครองนครพนมเปญ ฝ่ายทัพเรือนำโดยเจ้าพระยาพระคลังสามารถตียึดเมืองบันทายมาศได้ และเดินทัพเรือขึ้นไปตามคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế) เข้ายึดเมืองโชฎกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc) ของเวียดนามได้สำเร็จ จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงแต่งตั้งให้เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) ให้เป็นผู้นำทัพเรือเวียดนามเข้าต้านทานทัพสยาม เจืองมิญสางนำทัพเรือเวียดนามสามารถตอบโต้การรุกรานได้ทำให้ทัพสยามต้องล่าถอย

จักรพรรดิมิญหมั่งทรงแต่งตั้งให้เจืองมิญสางเป็นข้าหลวงผู้แทนพระองค์ในการดูแลปกครองเขมร ในค.ศ. 1834 พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงสถาปนาเจ้าหญิงนักองค์มี (Ang Mei) ให้เป็นกษัตรีแห่งเขมรและเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม เป็นกษัตรีองค์มี จักรพรรดิมิญหมั่งมีพระราชประสงค์ที่จะผนวกอาณาจักรเขมรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามโดยสิ้นเชิงทั้งในทางการเมืองและทางวัฒนธรรม ทรงประกาศให้ผนวกอาณาจักรเขมรเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของเวียดนามมีชื่อว่า เจิ๊นเต็ย (Trấn Tây, 鎮西) เจืองมิญสางมีคำสั่งให้ชาวเขมรทุกคนเปลี่ยนมาพูดภาษาเวียดนาม แต่งกายอย่างเวียดนาม และดำเนินชีวิตตามหลักลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมเวียดนาม เป็นนโยบายการกลืนชาติและเพื่อทำให้ชาวเขมรกลายเป็นชาวเวียดนาม นโยบายนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขมรเป็นอย่างมาก ในค.ศ. 1841 พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงปลดนักองค์มีออกจากราชสมบัติ ทำให้ชาวกัมพูชาก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของเวียดนาม เจืองมิญสางจึงนำกองทัพเวียดนามล่าถอยกลับมายังเมืองโจฏก

ในค.ศ. 1841 เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพฝ่ายสยามเข้าครองนครอุดงมีชัยและนครพนมเปญได้อีกครั้ง ฝ่ายสยามนำทัพเรือสยามเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ และทัพบกยกไปทางเมืองโจฏก แต่ทว่าฝ่ายเวียดนามสามารถยกทัพเข้าตีทัพของฝ่ายสยามแตกไปได้ เมื่อสงครามระหว่างเวียดนามและสยามดำเนินมาเป็นเวลานานอย่างไม่ประสบผล ทั้งฝ่ายต่างคุมเชิงกันไม่สามารถเอาชนะซึ่งกันและกันได้ การเจรจาจึงเกิดขึ้น ในค.ศ. 1846 พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงยอมรับให้นักองค์ด้วงเป็นกษัตริย์แห่งเขมร ส่งบรรณาการให้แก่ทั้งราชสำนักเวียดนามเมืองเว้และฝ่ายสยามกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งเหนืออาณาจักรกัมพูชาระหว่างเวียดนามและสยาม

การรุกรานของฝรั่งเศสและการสูญเสียดินแดนโคชินจีน

ในสมัยราชวงศ์เหงียน มิชชันนารีชาวตะวันตกได้เข้ามาเผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ราชสำนักเวียดนามมองว่าศาสนาคริสต์เป็นลัทธินอกรีต พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีพระราชโองการห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ตั้งแต่ค.ศ. 1825 แต่ทว่าพระราชโองการนั้นถูกบังคับใช้อย่างไม่เต็มที่และยังคงมีมิชชันนารีชาวตะวันตกเข้ามาในเวียดนามอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการกดขี่เข่มเหงประหารชาวคริสเตียนจำนวนมาก การประทุษร้ายชาวคริสเตียนในเวียดนามทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและชาวเวียดนามนั้น เปิดโอกาสให้มหาอำนาจตะวันตกคือฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดดินแดนเวียดนาม ในค.ศ. 1847 มิชชันนารีดอมีนิก เลอแฟบฟวร์ (Dominique Lefèbvre) ชาวฝรั่งเศสถูกจับได้ลักลอบเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพระอาณาจักรและถูกกุมขัง แม่ทัพเรือฝรั่งเศสชื่อว่า ฌ็อง- บาติสต์ เซซีย์ (Jean-Baptiste Cécille) นำเรือรบเข้าปิดล้อมเมืองท่าดานัง (ฝรั่งเศสเรียก ตูราน Tourane) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1847 เพื่อกดดันให้ทางการเวียดนามปล่อยตัวมิชชันนารีและเรียกร้องให้พระจักรพรรดิเถี่ยวจิพระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้แก่ชาวคริสเตียน ราชสำนักเวียดนามไม่ยอมประณีประนอม และส่งเรือรบเวียดนามเข้าโจมตีตอบโต้ ฝ่ายฝรั่งเศสจึงยิงปืนใหญ่เข้าทำลายเรือรบของเวียดนามไปสังหารทหารเวียดนามไปจำนวนมาก เมื่อประสบกับความพ่ายแพ้ราชสำนักเวียดนามจึงยินยอมปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งสองแต่โดยดี

ในค.ศ. 1857 พระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิตมิชชันนารีชาวสเปนจำนวนสองคน ฝ่ายฝรั่งเศสเมื่อทราบเรื่องพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีพระราชโอการให้แม่ทัพเรือฝรั่งเศส ชาร์ล รีโกล เดอ เยอนูยยี (Charles Rigault de Genuoilly) ยกทัพเรือฝรั่งเศสมายังเวียดนามเพื่อตอบโต้การกระทำของราชสำนักเวียดนาม นายเดอเยอนูยยียกทัพเรือเข้ายึดเมืองท่าดานังได้ในค.ศ. 1858 ฝ่ายพระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงส่งแม่ทัพเหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ยกทัพเวียดนามเข้าล้องเมืองดานังไว้ทำให้ทัพฝรั่งเศสถูกขังอยู่ในเมืองท่าดานังไม่สามารถเดินทัพต่อขึ้นบกได้ แม่ทัพฝรั่งเศสเดอเยอนูยยีแบ่งทัพไปยึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่งในค.ศ. 1859 ปีต่อมาค.ศ. 1860 ฝ่ายฝรั่งเศสถอนทัพออกจากเมืองดานังไปสมทบรวมกันที่ไซ่ง่อน เหงียนจิเฟืองจึงยกทัพตามไปล้อมเมืองไซ่ง่อนคืนจากฝรั่งเศส นายเลโอนาร์ ชาร์แนร์ (Léonard Charner) นำทัพฝรั่งเศสฝ่าวงล้อมของเหงียนจิเฟืองที่เมืองไซ่ง่อนและสามารถเอาชนะเหงียนจิเฟืองได้ในยุทธการที่กี่ฮว่า (Battle of Kỳ Hòa) ปีค.ศ. 1861 ต่อมาทัพฝรั่งเศสเข้ายึดจังหวัดเบียนฮว่า (Biên Hòa) และจังหวัดหวิ๋ญลอง (Vĩnh Long) จนนำไปสู่การเจรจาระหว่างราชสำนักเวียดนามกับฝ่ายฝรังเศสในค.ศ. 1862 พระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงให้ฟานทัญซ๋าน (Phan Thanh Giản, 潘淸簡) เป็นผู้แทนฝ่ายเวียดนามในทำข้อตกลงสนธิสัญญาไซ่ง่อน (Treaty of Saigon) ราชวงศ์เหงียนยกเมืองไซ่ง่อน รวมทั้งจังหวัดซาดิ่ญ จังหวัดเบียนฮว่า และจังหวัดดิ่ญเตื่อง (Định Tường) และเกาะโกนเซิน (Côn Sơn) หรือเกาะปูโลคอนดอร์ (Poulo Condore) ให้แก่ฝรั่งเศส นับว่าเป็นการสูญเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เวียดนาม รวมทั้งราชสำนักราชวงศ์เหงียนยังต้องเปิดเมืองท่าดานังให้เป็นเมืองท่าเสรีชาวฝรั่งเศสสามารถเข้ามาทำการพาณิชย์ได้ ให้สิทธิแก่ชาวฝรั่งเศสสามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้อย่างอิสระ และราชสำนักเวียดนามต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสอีกด้วย

คณะทูตบรรณาการเวียดนามที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ค.ศ. 1863

ค.ศ. 1863 พระจักรพรรดิตึดึ๊กทรงแต่งคณะทูตนำโดยฟานทัญซ๋านเดินทางไปยังนครปารีสประเทศฝรั่งเศสเพื่อเจรจาทวงขอดินแดนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสคืนมาแต่ไม่ประสบผล ในค.ศ. 1864 ฝรั่งเศสจัดตั้งอาณานิคมขึ้นในเวียดนามอย่างเป็นทางการ มีชื่อว่า อาณานิคมโคชินจีน (Cochinchina) เป็นการย่างเท้าเข้าสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวแรกของฝรั่งเศส ในค.ศ. 1867 ฝ่ายทางการอาณานิคมฝรั่งเศสยกกำลังเข้ายึดจังหวัดเจิวด๊ก จังหวัดห่าเทียน (บันทายมาศ) และจังหวัดหวิ๋ญลอง ครอบครองดินแดนเพิ่มเติมไปจากสนธิสัญญาไซ่ง่อนเมื่อค.ศ. 1862 แม้ว่าพระจักรพรรดิตึดึ๊กจะไม่ทรงยินยอมที่จะยกดินแดนเหล่านั้นให้แก่ฝรั่งเศส แต่ก็มิอาจจะทรงกระทำสิ่งใดได้

สงครามกับฝรั่งเศสในตังเกี๋ยและการสูญเสียเอกราช

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างต้องการที่จะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในจักรวรรดิจีน ฝรั่งเศสได้สำรวจดินแดนเวียดนามภาคเหนือแถบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River) พบว่าเป็นดินแดนที่สามารถเดินทางไปสู่จีนได้เป็นช่องทางในการขยายอิทธิพลเข้าไปในจีน ในค.ศ. 1873 เกิดความขัดแย้งระหว่างทางการเวียดนามกับพ่อค้าชาวฝรั่งเศสในลุ่มแม่น้ำแดง ทางการอาณานิคมส่งฟร็องซิส การ์นีเย (Francis Garnier) ไปเพื่อทำการไกล่เกลี่ย แต่การ์นีเยกลับนำทัพเข้าบุกยึดนครฮานอย ราชสำนักเวียดนามจึงขอความช่วยเหลือจากกองทัพธงดำ (黑旗軍) ในมณฑลกว่างสีของจีนซึ่งนำโดยแม่ทัพชาวจีน ลิ้ว หย่งฟู้ (劉永福, Liú Yǒngfú) ผู้ซึ่งนำกองทัพธงดำเข้ายึดเมืองฮานอยคืนจากฝรั่งเศสให้แก่เวียดนาม และสังหารแม่ทัพฟรังซีการ์นีเยชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตในที่รบ

ในค.ศ. 1882 แม่ทัพชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งชื่อว่า อ็องรี รีเวียร์ (Henri Rivière) ยกทัพเข้าบุกยึดเมืองฮานอยโดยไม่รับอนุญาตจากทางการอาณานิคมฝรั่งเศส ราชสำนักเวียดนามร้องขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพธงดำอีกครั้งและไปยังราชสำนักจีนราชวงศ์ชิง ราชสำนักจีนจึงส่งกองทัพเข้ามาประจำการในเวียดนามภาคเหนือเพื่อเตรียมการต่อสู้กับฝรั่งเศส ในค.ศ. 1883 ลิ้วหย่งฟู้ประกาศท้าทายนายรีเวียร์ให้มาพบกันที่เมืองฮานอยเพื่อต่อรบปรบมือ ขณะที่นายรีวีเยกำลังเดินทางไปยังเมืองฮานอยนั้น ถูกกองทัพธงดำลอบโจมตีระหว่างทางในยุทธการที่สะพานกระดาษ (Battle of Paper Bridge) และนายรีเวียร์ถูกสังหารเสียชีวิตไป หลังจากที่ฝ่ายจีนได้สังหารผู้นำทหารของฝ่ายฝรั่งเศสไปถึงสองคน รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดตั้งกองกำลังเพื่อการเดินทัพสู่ตังเกี๋ย (Tonkin Expeditionary Corps) เพื่อเข้ามาจัดการจีนและเวียดนามโดยเฉพาะ

ในค.ศ. 1883 สมเด็จพระจักรพรรดิตึ ดึ๊ก สด็จสวรรคตโดยปราศจากพระโอรส แต่ได้ทรงรับเอาพระราชนัดดามาเป็นพระโอรสบุญธรรมไว้สามพระองค์ กลุ่มขุนนางซึ่งมีอำนาจในขณะนั้นประกอบด้วย เหงียน วัน เตื่อง (Nguyễn Văn Tường, 阮文祥) และโตน เทิ้ต เทวี้ยต (Tôn Thất Thuyết, 尊室説) ได้ยกพระโอรสบุญธรรมของจักรพรรดิตึ ดึ๊กขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก (Dục Đức, 育德) พระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก อยู่ในราชสมมบัติได้เพียงสามวัน ก็ถูกกลุ่มขุนนางนั้นปลดออกจากราชสมบัติ เหงียน วัน เตื่อง และโตน เทิ้ต เทวี้ยต ยกพระโอรสบุญธรรมอีกองค์หนึ่งของพระจักรพรรดิตึ ดึ๊กขึ้นเป็นพระจักรพรรดิเหียป ฮหว่า (Hiệp Hòa, 協和) กองกำลังเพื่อการรุกรานตังเกี๋ยของฝรั่งเศส นำโดยแม่ทัพอาเมดี กูร์แบ (Amédée Courbet) ได้ยกทัพเข้าโจมตีและยึดป้อมปราการถ่วนอาน (Battle of Thuận An) ซึ่งเป็นป้อมปราการที่มีไว้สำหรับป้องกันเมืองเว้ราชธานี หากป้อมนี้ถูกยึดได้พระนครเมืองเว้ก็จะปราศจากการป้องกัน การเสียป้อมถั่วนอันให้แก่ฝรั่งเศสสร้างความตื่นตระหนกอย่างยิ่งให้แก่ราชสำนักเวียดนาม การเจรจาจึงเกิดขึ้นนำไปสู่สนธิสัญญาเว้ (Treaty of Hue) ฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐในอารักขาขึ้นในเวียดนามภาคเหนือ เรียกว่า รัฐในอารักขาตังเกี๋ย (Protectorate of Tonkin) แม้แต่เวียดนามภาคกลางอันประกอบไปด้วยเมืองเว้ก็ตกเป็นรัฐอารักขาฝรั่งเศส ชื่อว่ารัฐในอารักขาอันนัม (Protectorate of Annam) ราชสำนักเวียดนามราชวงศ์เหงียนสูญสิ้นซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศเวียดนาม สูญเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่ามกลางวิกฤตการณ์เหล่านี้ เหงียนวันเตื่องและโตนทั๊ตเทวี้ยตก็ปลดพระจักรพรรดิเหียปฮหว่าออกจากราชสมบัติ ตั้งพระจักรพรรดิเกี๊ยน ฟุก (Kiến Phúc, 建福) ขึ้นแทน ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี ราชวงศ์เหงียนผลัดเปลี่ยนองค์พระจักรพรรดิไปถึงสามพระองค์ด้วยกัน เมื่อพระจักรพรรดิเกี๊ยนฟุกเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1884 เหงียนวันเตื่องและโตนทั๊ตเทวี้ยตตั้งพระจักรพรรดิห่าม งี (Hàm Nghi, 咸宜) ขึ้นแทน

ฝ่ายจีนกองทัพธงดำซึ่งนำโดยลิ้ว หย่งฟู้ ถูกทัพฝรั่งเศสตีแตกพ่ายแพ้ไปในยุทธการที่เซินเต็ย (Sơn Tây Campaign) ในค.ศ. 1883 ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและจักรวรรดิจีนใหญ่โตลุกลามจนกลายเป็นสงครามจีน-ฝรั่งเศส (Sino-French War) ผลของสงครามจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สนธิสัญญาเทียนสิน (Treaty of Tientsin) ในค.ศ. 1885 จีนยอมรับให้เวียดนามเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ในปีเดียวกันนั้น เหงียน วัน เตื่อง และโตน เทิ้ต เทวี้ยต ให้พระจักรพรรดิห่าม งี มีพระราชโองการให้ชาวเวียดนามทุกคนลุกฮือขึ้นต่อต้านอิทธิพลและอำนาจของฝรั่งเศส เรียกว่า พระราชโองการเกิ่นเวือง (Cần Vương, 勤王) ชาวเวียดนามทุกระดับตั้งแต่ขุนนางจนถึงชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อกอบกู้ประเทศคืนให้แก่พระจักรพรรดินั้นเรียกว่า ขบวนการเกิ่นเวือง แต่ขบวนการเกิ่นเวืองนั้นประกอบด้วยการลุกฮือเพียงเล็กน้อยกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ไม่อาจขจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสได้ ทัพฝรั่งเศสเข้ายึดพระราชวังหลวงเมืองเว้ พระจักรพรรดิห่าม งี และพระราชวงศ์ต้องเสด็จหนีออกจากพระราชวัง พระจักรพรรดิห่าม งี เสด็จหนีไปยังป่าเขาลำเนาไพรในประเทศลาวล้านช้าง โตน เทิ้ต เทวี้ยต หลบหนีไปยังมณฑลกว่างซี ในขณะที่เหงียน วัน เตื่อง ถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมได้และเนรเทศไปยังเกาะตาฮีตีของฝรั่งเศสในค.ศ. 1886 ทางการฝรั่งเศสจึงยกพระจักรพรรดิขึ้นพระองค์ใหม่คือ พระจักรพรรดิด่ง คั้ญ (Đồng Khánh, 同慶) ขึ้นเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดให้แก่ฝรั่งเศส หลังจากที่ทรงหลบหนีอยู่เป็นเวลาสามปี พระจักรพรรดิห่าม งี ก็ทรงถูกทหารราชองค์รักษ์ทรยศและจับองค์ส่งให้แก่ทางการฝรั่งเศสในค.ศ. 1888 พระจักรพรรดิห่าม งี ทรงถูกเนรเทศไปยังแอลจีเรียในทวีปแอฟริกา นับแต่นั้นมาขบวนการเกิ่นเวืองจึงสิ้นสุดลง

รัฐอารักขาของฝรั่งเศส

ธงราชวงศ์เหงียน (ค.ศ. 1885 – ค.ศ. 1890)

รัฐบางฝรั่งเศสจัดตั้งอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) ขึ้นอย่างเป็นทางการในค.ศ. 1887 เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีน ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศเวียดนาม กัมพูชา และลาว และมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน รัฐบาลอินโดจีนมีอำนาจปกครองโดยตรงเหนือรัฐในอารักขาตังเกี๋ย และอาณานิคมโคชินไชนา ส่วนในรัฐในอารักขาอันนัมนั้นพระจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่เพียงในนามเท่านั้น รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้สถาบันพระจักรพรรดิเวียดนามดำรงอยู่ต่อไปได้แต่เพียงในเชิงพิธีการและสัญลักษณ์เท่านั้น สถาบันขุนนางและการสอบจอหงวนยังคงดำเนินไปเช่นเดิม แต่อำนาจที่แท้จริงในการปกครองนั้นมิได้อยู่ที่สถาบันการปกครองของชาวเวียดนามพื้นเมือง แต่อยู่ที่เจ้าผู้ปกครองอาณานิคมสูงสุด (Resident Superior) ของฝรั่งเศสและรัฐบาลอาณานิคมซึ่งกำกับควบคุมราชสำนักเวียดนามอย่างใกล้ชิดอยู่ที่เมืองเว้ รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปลดผู้ดำรงตำแหน่งขุนนางต่างๆในราชสำนักเวียดนามหรือแม้กระทั่งปลดพระจักรพรรดิออกจากราชสมบัติพระจักรพรรดิด่งคั้ญเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1889 แม้ว่าพระจักรพรรดิด่งคั้ญจะทรงมีพระราชโอรสอยู่แล้ว แต่ทางอาณานิคมฝรั่งเศสกลับเลือกที่จะยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสของอดีตพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย (Thành Thái, 成泰) พระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย ทรงแสร้งว่าทรงเสียพระจริต เพื่อที่จะทรงหลบหลีกจากการตรวจสอบของรัฐบาลฝรั่งเศสและทรงเข้าร่วมขบวนการปลดแอกประเทศเวียดนามจากฝรั่งเศสอย่างลับ ๆ จนกระทั่งพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย ทรงถูกรัฐบาลอาณานิคมจับได้ว่าทรงต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสจึงปลดพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย ออกจากราชสมบัติในค.ศ. 1907 และยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสของพระจักรพรรดิถั่ญท้ายพระชนมายุเพียงเจ็ดพรรษาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิซวี เติน (Duy Tân, 維新) การที่รัฐบาลฝรั่งเศสยกพระจักรพรรดิที่ยังทรงพระเยาว์ขึ้นปกครองประเทศก็เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม แต่ทว่าเมื่อพระจักรพรรดิซวี เติน ทรงเจริญพระชันษาขึ้น ทรงวางแผนร่วมกับขุนนางชื่อว่า เจิ่น กาว เวิน (Trần Cao Vân) ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยกำลังทหารในค.ศ. 1916 แต่รัฐบาลฝรั่งเศสล่วงรู้แผนการและจับกุมองค์พระจักรพรรดิซวี เติน และเจิ่น กาว เวิน เจิ่น กาว เวินพร้อมพรรคพวกขุนนางผู้สมรู้ร่วมคิดถูกทางการฝรั่งเศสประหารชีวิต ในขณะที่พระจักรพรรดิซวี เติน ทรงถูกปลดจากราชสมบัติ และทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะเรอูว์นียงในมหาสมุทรอินเดียพร้อมกับอดีตพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย พระราชบิดา

ธงชาติของจักรวรรดิเวียดนาม ซึ่งอยู่ในฐานะรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่น 17 เมษายน ค.ศ. 194530 สิงหาคม ค.ศ. 1945

รัฐบาลฝรั่งเศสกลับไปมอบราชสมบัติให้แก่พระโอรสของพระจักรพรรดิด่ง คั้ญ เป็นพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่คือพระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ (Khải Định, 啓定) ในรัชกาลของพระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ รัฐบาลฝรั่งเศสเรืองอำนาจอย่างเต็มที่ พระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ ทรงอ่อนน้อมยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศสทุกประการ มีพระราชโองการให้ยกเลิกการใช้อักษรจีนในเอกสารของราชสำนักเวียดนาม แล้วเปลี่ยนมาใช้อักษรละตินแทนในค.ศ. 1919 เมื่อพระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ สวรรคตในค.ศ. 1925 พระโอรสขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย พระจักรพรรดิแห่งเวียดนามพระองค์สุดท้าย

การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการยึดครอง ดานัง ในปี ค.ศ. 1858 ฝ่ายอักษะของญี่ปุ่นรุกรานเวียดนามในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1940 อันเป็นความพยายามที่จะสร้างฐานทหารเพื่อต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี ค.ศ. 1941ค.ศ. 1945 กลุ่มขบวนการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เรียกกันว่า เวียดมินห์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ จาก ค.ศ. 1944 ถึง ค.ศ. 1945 ทางภาคเหนือของเวียดนามเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงที่ประชากรกว่าหนึ่งล้านคนประสบปัญหาและอดอาหารจนตาย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 ด้วยความตะหนักถึงชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นจึงได้กวาดล้างกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสไปจำคุก และได้ให้การรับรองให้เวียดนามมี "เอกราช" ภายใต้ "การคุ้มครอง" ของญี่ปุ่นโดยมีจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ทรงเป็นพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม

การล่มสลายของราชวงศ์

ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม และได้เกิดการลุกฮือโดยกลุ่มเวียดมินห์ หลังจากได้รับการร้องขอให้สละราชสมบัติ จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ได้ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 30 สิงหาคม และได้มอบอำนาจให้กับเวียดมินห์ ทรงได้รับตำแหน่ง "ที่ปรึกษาสูงสุด" ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนั้นทรงหนีออกไปจากเวียดนามไม่นานเพราะทรงไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเวียดมินห์และได้ทรงลี้ภัยไปยังฮ่องกง ตามมาด้วยการกลับมาของฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1946 – ค.ศ. 1954) จึงเป็นการปะทะกันระหว่างฝรั่งเศสและเวียดมินห์

การสืบทอดราชวงศ์และตำแหน่งพระประมุขของราชวงศ์

ในปี ค.ศ. 1948 ฝรั่งเศสได้เชิญชวนจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ให้ทรงกลับมาในฐานะของ "ประมุขรัฐ" (Quốc Trưởng, โกว๊กเจื๋อง) ของรัฐเวียดนาม (Quốc Gia Việt Nam, โกว๊กซาเหวียตนาม) ที่ตั้งขึ้นโดยฝรั่งเศสในบริเวณพื้นที่ควบคุมของฝรั่งเศส ขณะที่สงครามเลือดกับกลุ่มเวียดมินห์ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ยังดำเนินต่อไป จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ใช้เวลาส่วนใหญ่ของพระองค์ในช่วงความขัดแย้งทรงเกษมสำราญกับการมีดำรงพระชนม์ชีพในพระตำหนักหรูหราที่ด่าหลัต (ในเขตสูงของเวียดนาม) หรือในปารีส จนกระทั่งฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ต่อเวียดมินห์ที่ เดียนเบียนฟู ในปี ค.ศ. 1954

ฝรั่งเศสได้เจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา เพื่อแบ่งเวียดนาม โดยได้มีการแบ่งเวียดนามเหนือให้กับกลุ่มเวียดมินห์ และเวียดนามใต้ ให้กับรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีของรัฐเวียดนาม โง ดิ่ญ เสี่ยม ได้โค่นล้มจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ในการลงประชามติในปี 1955 ซึ่งผู้มีสิทธิลงเลือกตั้งส่วนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นมาอย่างโจ่งแจ้ง ไม่เพียงแต่มีผู้ลงมติให้เวียดนามใต้กลายเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 98 เท่านั้น แต่จำนวนผู้ลงมติให้เป็นสาธารณรัฐกลับมามากกว่าผู้มีสิทธิลงมติ เสี่ยมจึงได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเวียดนาม (Việt Nam Cộng Hòa, เหวียตนามก่งฮหว่า) ซึ่งทำให้จักรพรรดิบ๋าวดั่ยทรงสิ้นสุดเรื่องราวทางการเมืองอีกครั้งและเป็นการถาวร

จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ทรงลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสและเสด็สวรรคตในปี ค.ศ. 1997 และได้ฝังพระบรมศพที่สุสานปาซี มกุฎราชกุมารบ๋าว ล็อง จึงได้สืบทอดตำแหน่งพระประมุขแห่งราชวงศ์เหงียนหลังการเสด็จสวรรคตของพระบิดาในวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 หลังจากนั้นเจ้าชายบ๋าว ทั้ง ได้ทรงสืบทอดตำแหน่งพระประมุขราชวงศ์เหงียนจนถึงปัจจุบัน