ตกยาก ของ วังเบลนิม

เลดีแรนดอล์ฟ เชอร์ชิล (ลูกสะใภ้ของดยุกที่ 7 แห่งมาร์ลบะระ มารดาของวินสตัน เชอร์ชิล) บันทึกเกี่ยวกับอุทยานวังเบลนิมว่า: "....เมื่อเราก้าวผ่านซุ้มโค้งเข้ามาทัศนียภาพก็ปะทะตาทันที ลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิลอดกล่าวด้วยความภาคภูมิไม่ได้ว่า นี่คือทัศนียภาพที่งดงามที่สุดในอังกฤษ"

หลังจากที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ถึงแก่อสัญญกรรม และหลังจากการเสียชีวิตของบุตรชายอีกสองคนต่อมา วังเบลนิมก็ตกไปเป็นของเฮ็นเรียตตา โกดอลฟิน ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ[5] เพราะตามปกติแล้วบุตรชายเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการรับตำแหน่งดยุกจากบิดา เมื่อเฮ็นเรียตตาถึงแก่กรรมวังเบลนิมก็ตกไปเป็นของชาร์ลส์ สเปนเซอร์ ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 3 ผู้เป็นบุตรของแอนน์ เชอร์ชิลลูกสาวคนที่สองของดยุกแห่งมาร์ลบะระ

ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ในฐานะที่เป็นนายทหารก็มิใช่จะร่ำรวยเท่าใดนักและสมบัติที่หามาได้ส่วนใหญ่ก็นำไปใช้ในการสร้างวังเบลนิมเสียแทบหมดสิ้น เมื่อเทียบกับตระกูลดยุกด้วยกันแล้วตระกูลมาร์ลบะระก็ออกจะไม่มั่งคั่งเท่าตระกูลอื่นๆ แต่พอที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายได้มาจนมาถึงสมัยของจอร์จ สเปนเซอร์ เชอร์ชิล ดยุกที่ 5 แห่งมาร์ลบะระ (ค.ศ. 1766 ถึง ค.ศ. 1840) ผู้ผลาญสมบัติของตระกูลจนหมดสิ้นจนจำต้องขายอสังหาริมทรัพย์บางส่วนและของมีค่าในวังเบลนิมไปบ้างแต่ตัววังเบลนิมรอดมาได้ แต่เมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 5 ถึงแก่อสัญญกรรมฐานะของตระกูลมาร์ลบะระก็อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างง่อนแง่น

ในปี ค.ศ. 1870 ฐานะทางการเงินของตระกูลมาร์ลบะระก็ยิ่งทรุดหนักยิ่งขึ้นไปอีก จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1875 ดยุกที่ 7 แห่งมาร์ลบะระ ต้องประมูลขายภาพเขียน “การแต่งงานของคิวปิดและไซคี” (Marriage of Cupid and Psyche) และ อัญมณีมาร์ลบะระ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น £10,000 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะกู้ฐานะของตระกูลได้ ในปี ค.ศ. 1880 ดยุกจึงจำต้องยื่นคำร้องต่อรัฐสภาให้แยกระหว่างตัววังและสมบัติข้าวของภายในตัววังจากกันตามพระราชบัญญัติการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของวังเบลนิม ค.ศ. 1880 (Blenheim Settled Estates Act of 1880) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ตระกูลมาร์ลบะระขายข้าวของภายในวังเบลนิมได้โดยไม่ต้องขายตัววัง สิ่งแรกที่ดยุกขายคือ ห้องสมุดซันเดอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1882 ที่รวมทั้งต้นฉบับมีค่าเช่น “จดหมายเหตุของโฮเรซ” (The Epistles of Horace) ที่ตีพิมพ์ที่เมืองแคนในปี ค.ศ. 1480 และงานของ โจซีฟัสที่ตีพิมพ์ที่เมืองเวโรนาในปี ค.ศ. 1648 หนังสือทั้ง 18,000 เล่มนำเงินมาให้เกือบ £60,000 แต่การขายก็มิได้หยุดยั้งแต่เพียงเท่านั้น ภาพเขียน “พระแม่มารีอันซิเดอี” (Ansidei Madonna) โดย ราฟาเอล ขายได้ £70,000 ภาพพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษทรงม้าโดย แอนโทนี แวน ไดค์ ขายได้ £17,500 และ ในที่สุดภาพเขียน “รูเบนส์, ภรรยาเฮเลนา โฟมองท์ และลูกชายปีเตอร์ พอล” (Rubens, His Wife Helena Fourment, and Their Son Peter Paul) โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ซึ่ง บรัสเซลส์ มอบให้ ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ในปี ค.ศ. 1704 ก็ถูกขาย ปัจจุบันภาพนี้เป็นของ พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันที่นครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจำนวนเงินมหาศาลที่ได้จากการขายสมบัติต่างๆ ของวังก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ในการบำรุงรักษาวังและลบหนี้สินต่างๆ ได้ นอกจากนั้นสภาวะความตกต่ำทางการเกษตรในอังกฤษที่เริ่มขึ้นเมื่อทศวรรษ 1870 ก็ยิ่งทำให้สถานะการณ์ทางการเงินทรุดหนักลงไปอีก เมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 สืบตำแหน่งในปี ค.ศ. 1892 ตระกูลสเปนเซอร์-เชอร์ชิลก็ใกล้จะล้มละลาย