สถาปนิก ของ วังเบลนิม

เซอร์จอห์น แวนบรูห์โดย กอดฟรีย์ เนลเลอร์

ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกในการก่อสร้างวังเบลนิมเป็นสถาปนิกที่มิได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ ซาราห์มีความนิยมในตัวคริสโตเฟอร์ เร็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงมาจากการออกแบบมหาวิหารเซนต์พอลและสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ อีกหลายแห่ง แต่ดยุกพบจอห์น แวนบรูห์โดยบังเอิญที่โรงละครและเกิดความประทับใจจนตกลงให้สัญญาในการก่อสร้างวังเบลนิมในโอกาสนั้น จอห์น แวนบรูห์เป็นนักออกแบบฉากละครผู้เป็นที่นิยม แวนบรูห์ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการทางสถาปัตยกรรมแต่มักจะทำงานร่วมกับนิโคลัส ฮอคสมัวร์ผู้ได้รับการฝึกโดยตรงมาทางสถาปัตยกรรม แวนบรูห์และฮอคสมัวร์เพิ่งสร้างปราสาทฮาวเวิร์ดขั้นแรกเสร็จ ปราสาทฮาวเวิร์ดเป็นคฤหาสน์แรกที่สร้างแบบบาโรกของยุโรปอย่างหรูหราในอังกฤษ ดยุกคงมีความประทับใจในลักษณะการก่อสร้างและคงอยากสร้างสิ่งก่อสร้างที่แบบเดียวกันที่วูดสต็อคจึงได้ตกลงทำการว่าจ้าง

แต่การสร้างวังเบลนิมมิได้เป็นไปตามที่คาดเพราะความขัดแย้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ทำให้แวนบรูห์ถูกกล่าวหาว่าเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่หรูหราจนเกินกว่าเหตุ และไม่เหมาะสมจากพรรควิกผู้มีอำนาจในการปกครองอังกฤษในขณะนั้น ในขณะเดียวกันแวนบรูห์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากซาราห์เอง เพราะความที่ผิดหวังจากการที่ไม่ได้คริสโตเฟอร์ เร็นมาเป็นสถาปนิก[2] ซาราห์จึงมักจะขัดจอห์น แวนบรูห์ไปเสียทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังการออกแบบไปจนถึงรสนิยมการตกแต่ง แต่อันที่จริงแล้วปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของรัฐบาลและซาราห์ที่ไม่ตรงกันกับสถาปนิก รัฐบาลผู้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต้องการสร้างสิ่งที่ควรค่าต่อการเป็นอนุสาวรีย์ แต่ซาราห์นอกจากจะต้องการสิ่งก่อสร้างที่ควรค่าต่อสามีแล้วก็ยังต้องการจะสร้างเบลนิมให้เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ความประสงค์สองอย่างนี้เป็นความประสงค์ที่ออกจะขัดแย้งกันในการออกแบบสิ่งก่อสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัญหาอีกประการหนึ่งคือระหว่างการก่อสร้างเมื่อเริ่มแรกดยุกมักจะออกสงครามทิ้งให้ซาราห์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเพียงลำพังคนเดียวกับจอห์น แวนบรูห์ เพราะความที่ทราบว่างบประมาณในการก่อสร้างมีจำนวนจำกัด ซาราห์จึงพยายามยับยั้งความคิดอันเลิศลอยต่างๆ ของแวนบรูห์ แต่ซาราห์มักจะทำด้วยอารมณ์แทนที่จะด้วยเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

หลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบครั้งสุดท้ายเซอร์จอห์น แวนบรูห์ก็ถูกห้ามไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างวังเบลนิมอีกต่อไปโดยสิ้นเชิง แต่แวนบรูห์ก็ได้ถือโอกาสไปดูวังเบลนิมขณะที่ดัชเชสมาร์ลบะระไม่อยู่ในปี ค.ศ. 1719 แต่ในปี ค.ศ. 1725 แวนบรูห์และภรรยาถูกห้ามเข้าโดยเด็ดขาดแม้เพียงจะชมอุทยาน เมื่อพยายามที่จะเข้าชมวังเบลนิมเมื่อสร้างเสร็จในฐานะผู้ชมทั่วไป หลังจากจอห์น แวนบรูห์ออกจากโครงการแล้วนิโคลัส ฮอคสมัวร์ก็ดำเนินการเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างต่อจนเสร็จ

แบบบาโรกของวังเบลนิมของเซอร์จอห์น แวนบรูห์เป็นที่ต้องตาต้องใจของสาธารณชนและในที่สุดก็กลายมาเป็นแบบที่เข้ามาแทนสถาปัตยกรรมพาลเลเดียน ส่วนแวนบรูห์ตั้งแต่หลังจากที่มีปัญหาในโครงการก่อสร้างวังเบลนิมแล้วก็มิได้รับสัญญาก่อสร้างโครงการใหญ่อื่นๆ อีกนอกจากคฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์ ซื่งเป็นงานออกแบบชิ้นสุดท้ายที่ถือว่าเป็นงานชิ้นเอกที่แวนบรูห์ที่นำลักษณะแบบบาโรกที่ใช้ในการออกแบบวังเบลนิมมาประยุกต์ แต่แวนบรูห์มาเสียชีวิตไม่นานก่อนที่คฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์จะสร้างเสร็จ