แบบและสถาปัตยกรรม ของ วังเบลนิม

ผังประธารมณฑลของวังเบลนิม (ไม่ตรงตามสัดส่วน) A:โถง; B:ซาลอน (ห้องรับรอง); C:ห้องเขียนหนังสือเขียว; L:ห้องรับรองแดง; M:ห้องรับรองเขียว; N:Grand Cabinet; H:ห้องสมุด; J:ซุ้ม; K:ห้องที่เกิดของ วินสตัน เชอร์ชิล H2:ชาเปล; O:ห้องโบว์

ผังวังเบลนิมของแวนบรูห์เป็นแผนแบบได้สัดส่วนที่ดูเด่นเมื่อมองมายังตัววังจากที่ไกล เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 7 เอเคอร์หรือ 28,000 ตารางเมตร แต่เมื่อดูใกล้ลักษณะด้านหน้าของตัวอาคารประกอบด้วยงานหินก้อนโตและสิ่งตกแต่งต่างๆ ที่ค่อนข้างเทอะทะที่ทำให้ดูหนักกว่าที่ควรจะเป็น

ผังของวังเบลนิมเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ จากด้านหน้าทางใต้เป็นห้องพักเอก (state apartment) ทางตะวันออกเป็นห้องพักส่วนตัว (private apartment) ของดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ทางด้านตะวันตกทั้งแนวแต่เดิมออกแบบเพื่อให้เป็นระเบียงสำหรับแขวนภาพเขียน บล็อกกลางกระหนาบสองข้างด้วยบล็อกสี่เหลี่ยมสองข้างล้อมลานสี่เหลี่ยม บล็อกทางตะวันออกของตัวอาคารเป็นครัว บริเวณซักเสื้อผ้า และห้องทำงานที่เกี่ยวกับการดูแลวัง ทางตะวันตกติดกับชาเปลเป็นโรงม้าและที่สอนการขี่ม้าภายในตัวอาคาร บล็อกกลางและบล็อกทางตะวันออกและตะวันตกออกแบบเพื่อให้ผู้ดูเกิดความประทับใจเมื่อมาถึงวัง นอกจากนั้นก็ยังเต็มไปด้วยเสา รูปปั้นแบบเรอเนสซองซ์ และสิ่งตกแต่งต่างๆ ทำให้เหมือนเมืองเล็กๆ ที่เมื่อมองขึ้นไปทำให้ผู้ดูจะมีความรู้สึกเหมือนยืนอยู่ภายใต้ลานหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมและไม่มีความสลักสำคัญเมื่อเทียบกับความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง สิ่งตกแต่งอื่นๆ รอบๆ เป็นฝีมือของช่างชั้นครูเช่นกรินลิง กิบบอนส์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้ความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยเป็นความสำคัญรองลงมาจากความสง่างามของตัวสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะในการก่อสร้างวังเบลนิม สถาปนิกคำนึงถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่แต่จะเป็นเพียงเป็นที่อยู่อาศัยแต่เป็นอนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความมีอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความมีวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติ ในการที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างให้เป็นอนุสาวรีย์แวนบรูห์เลือกสถาปัตยกรรมแบบบาโรก แต่เป็นบาโรกแบบทิ้งความอ่อนช้อย แวนบรูห์ใช้ความใหญ่โตและความหนักของหินเพื่อแสดงความแข็งแกร่งและใช้แสงเงาของโครงสร้างเป็นเครื่องตกแต่ง แบบทางเข้าที่ขึงขังใหญ่โตทางด้านเหนือเลียนแบบทางเข้าตึกแพนเธียนในกรุงโรมมากกว่าที่จะเป็นทางเข้าที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นแวนบรูห์ก็ยังใช้ "บรรยากาศของความเป็นปราสาท" เช่นการตกแต่งด้วยหอเตี้ยๆ แต่ละมุมของบล็อกและบนหอก็ตกแต่งซ่อนปล่องไฟ ตัวหอทำให้นึกถึงทางเข้าของวัดของอียิปต์โบราณซึ่งทำให้ผู้เดินเข้ามีความรู้สึกว่าเหมือนแพนเธียนมากขึ้นไปอีก

ประตูตะวันออกดูเหมือนประตูป้อมปราการมากกว่าที่จะเป็นประตูวังสำหรับอยู่อาศัย ลักษณะประตูเพรียวขึ้นตอนบนทำให้ดูเป็นนาฏกรรมและดูเหมือนว่าสูงกว่าความเป็นจริง

วังเบลนิมมีทางไปสู่ตัววังสองทาง ทางหนึ่งเป็นถนนที่ตรงไปยังประตูเหล็กดัดเข้าประธารมณฑล อีกทางหนึ่งเป็นทางที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่าทางแรก ทางลานตะวันออกเป็นประตูตะวันออก ที่ออกแบบเช่นเดียวกับประตูชัยของโรมันแต่ลักษณะออกไปทางอียิปต์มากกว่าโรมัน ตอนบนของประตูแคบกว่าตอนล่างซึ่งเป็นการลวงตาที่ทำให้ดูเหมือนว่าประตูสูงกว่าความเป็นจริง ตัวประตูใช้เป็นที่เก็บน้ำสำหรับใช้ในวัง จากประตูมองผ่านลานตะวันออกไปจะเห็นประตูที่สองภายใต้หอนาฬิกา[4] การใช้ความลึกที่ทำให้มองเห็นสิ่งก่อสร้างภายในได้เพียงบางส่วนเท่านั้นนี้ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเหมือนมองเข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเป็นที่พำนักสำหรับผู้เป็นเจ้าของ

การเน้นความสำคัญของดยุกว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มิใช่แสดงออกแต่เพียงภายนอกตัวอาคารแต่รวมไปถึงการตกแต่งภายในและการตกแต่งอุทยานด้วย สิ่งที่แสดงความสำเร็จในชีวิตของดยุกเริ่มด้วย "เสาชัย" ซึ่งเป็นเสาสูงที่มีรูปปั้นของดยุกตั้งอยู่บนแท่นตอนบนสุดของเสาและรายละเอียดของชัยชนะในยุทธการต่างๆ ทางเข้าตัววังนำไปสู่ซุ้มใหญ่และโถงรับรอง ซึ่งมีภาพเขียนโดยเจมส์ ธอร์นฮิลล์ของดยุกบนเพดาน จากนั้นก็เป็นประตูทางเข้าใหญ่สลักด้วยหินอ่อนและมีคำขวัญของดยุกจารึกอยู่ข้างบนว่า "Nor could Augustus better calm mankind" ไปยังห้องรับรอง (Saloon) ซึ่งเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งมากที่สุด ซึ่งเป็นที่ที่ตั้งใจจะให้ตัวดยุกนั่งบนบัลลังก์

การตกแต่งเหนือทางเข้าด้านใต้ผิดไปจากที่เคยทำกันมา การตกแต่งของวังเบลนิมเป็นแบบแบนราบ และเป็นที่ตั้งรูปปั้นครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หนัก 30 ตัน ที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระยึดมาจากทอเนย์ในปี ค.ศ. 1709 การใช้รูปปั้นครึ่งตัวเป็นสิ่งตกแต่งด้านหน้าอาคารเป็นของใหม่

ความตั้งใจของสถาปนิกก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของดยุกแห่งมาร์ลบะระที่มีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ดยุกมาถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนที่จะเสร็จ ความสำคัญในการก่อสร้างจึงเปลี่ยนไปเป็นการสร้างชาเปล เอิร์ลโกโดลฟินเพื่อนของดยุกเปลี่ยนที่ตั้งแท่นบูชาจากทางตะวันออกที่ตั้งกันตามปกติไปเป็นทางตะวันตก ซึ่งอนุสรณ์มหึมาและโลงหินของดยุกกลายเป็นสิ่งที่เด่นโดยไม่มีอะไรมาลบ ดัชเชสจ้างวิลเลียม เค้นท์ให้เป็นผู้สร้างอนุสรณ์โดยมีตัวดยุกเป็นจูเลียส ซีซาร์ และดัชเชสเป็นซีซารินา รูปแกะนูนที่ฐานเป็นการแสดงความพ่ายแพ้ของจอมพลทาลลาร์ด เมื่อสร้างชาเปลเสร็จร่างของร่างของดยุกก็ได้รับการนำกลับมาเบล็นไฮม์จากแอบบีเวสต์มินสเตอร์ ร่างของดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระคนต่อๆ มาก็ได้รับฝังภายใต้ห้องใต้ดินภายในชาเปล