การจัดเตรียมทัพ ของ สงครามท่าดินแดง

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้พระโอรสคือเจ้าชายอินแซะ (Ainshe หรือ Einshay) มหาอุปราชยกทัพพม่าจำนวน 50,000 คน มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ กาารรุกรานของพม่าในครั้งนี้แตกต่างจากสงครามเก้าทัพในครั้งก่อนคือยกมาเพียงเส้นทางเดียว ที่เมืองเมาะตะมะเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชมีพระบัญชาให้เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่น สองแม่ทัพพม่าที่พ่ายแพ้ในการรบที่ทุ่งลาดหญ้าเมืองปีก่อนหน้า ยกทัพจำนวน 30,000 คน เป็นทัพหน้าเข้ามาก่อน เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นมาตั้งทัพที่ท่าดินแดงและสามประสบ (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) โดยฝ่ายพม่าตั้งยุ้งฉางสำหรับเก็บเสบียงอย่างมากมายไว้ตลอดทางเดินทัพ[2][1] เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเสบียงในครั้งก่อนหน้า และสร้างสะพานข้ามแม้น้ำในทุกจุดข้าม หมายจะตั้งทัพอยู่เป็นแรมปี[2][1] ที่ท่าแดนแดงและสามประสบนั้น เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นให้ตั้งค่ายชักปีกกาขุดสนามเพลาะ ส่วนเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชยกทัพจำนวนที่เหลืออีก 20,000 คน มาตั้งที่แม่น้ำแม่กษัตริย์

กองลาดตระเวนเมืองไทรโยค เมืองศรีสวัสดิ์ และเมืองกาญจนบุรี พบทัพพม่ามาตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงและสามประสบ จึงรายงานเข้าไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯโปรดฯให้จัดเตรียมทัพดังนี้;

  • สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมทั้งพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายก เสด็จยกทัพหน้าจำนวน 30,000 คน ล่วงหน้าไปก่อน
  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จยกทัพหลวงจำนวน 30,000 คน พร้อมทั้งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
  • ให้พระยาพลเทพ (ปิ่น) เป็นผู้รักษาพระนครฯ

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม