เบื้องหลัง ของ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

ความรุ่งเรืองของราชวงศ์ตองอู

พม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แบ่งออกเป็นสี่ศูนย์อำนาจ ได้แก่ ราชอาณาจักรอังวะในพม่าตอนกลาง ราชอาณาจักรหงสาวดี ณ ชายฝั่งทิศใต้ ราชอาณาจักรมเยาะอู (อาระกัน) ทางทิศตะวันตก และรัฐฉานต่าง ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1480 (ประมาณ พ.ศ. 2023) อังวะเริ่มแตกสลายเป็นราชอาณาจักรที่เล็กลง เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 โมนยีน อดีตเมืองขึ้นของอังวะ และพันธมิตร สมาพันธ์รัฐฉานทางทิศเหนือและราชอาณาจักรปยี (แปร) ทางทิศใต้ ตีโฉบฉวยดินแดนของอดีตเจ้าบรรณาการอยู่เป็นนิจโดยบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น[6]

ระหว่างสมัยความวุ่นวายนี้ เมงจีโยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการตองอู ภูมิภาคเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรอังวะประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2033 และหลบการสู้รบภายใน ปีต่อ ๆ มาเมื่ออังวะเสียแก่กำลังผสมของสมาพันธ์รัฐฉานและปยีใน พ.ศ. 2070 ประชาชนจำนวนมากหลบหนีไปตองอูซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวในพม่าตอนบนที่ยังสงบอยู่[7][8]

ใน พ.ศ. 2074 พระเจ้าเมงจีโยเสด็จสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้สืบราชสมบัติจากพระราชบิดาเป็นพระมหากษัตริย์ตองอู เสถียรภาพของตองอูยังดึงดูดกำลังคนจากภูมิภาคแวดล้อม โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2076 เมื่อสมาพันธ์รัฐฉานโจมตีปยี (แปร) อดีตพันธมิตร บัดนี้ตองอูที่ขนาดยังเล็กเป็นราชอาณาจักรที่มีชาติพันธุ์พม่าเป็นผู้นำเพียงแห่งเดียว รายล้อมด้วยราชอาณาจักรที่ใหญ่กว่ามาก โชคดีแก่ตองอูที่สมาพันธ์รัฐฉานถูกรบกวนจากข้อพิพาทผู้นำภายใน และราชอาณาจักรหงสาวดี ซึ่งขณะนั้นเป็นราชอาณาจักรทรงพลังที่สุดในบรรดาราชอาณาจักรยุคหลังราชวงศ์พุกามมีผู้นำอ่อนแอ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตัดสินพระทัยไม่คอยที จนราชอาณาจักรใหญ่เป็นฝ่ายหันความสนใจมายังพระองค์

ใน พ.ศ. 2077 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชาบุเรงนองซึ่งขณะนั้นมีอายุ 18 ปีทั้งคู่เปิดฉากการทัพแรกต่อราชอาณาจักรหงสาวดี การทัพนั้นเป็นชุดสงครามโดยกองทัพตองอูซึ่งจะดำเนินสืบเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ทางตะวันตกและกลางไปอีก 80 ปีข้างหน้า ใน พ.ศ. 2081–2082 ตองอูที่เพิ่งตั้งตนยึดกรุงพะโคเมืองหลวงของราชอาณาจักรหงสาวดีได้ และยังยึดเมืองมะตะบันและมะละแหม่งได้อีกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2084[9][10] จึงเป็นครั้งแรกที่พม่าและอยุธยามีพรมแดนติดต่อกันในชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน

อีกหกปีถัดมา ตองอูง่วนสู้รบกับพันธมิตรของอาณาจักรหงสาวดี ได้แก่ ปยี (แปร) (พ.ศ. 2085) สมาพันธ์รัฐฉาน (พ.ศ. 2085–2087) และพันธมิตรของปยีคือ มรัคอู (อาระกัน) (พ.ศ. 2089–2090) ในปี พ.ศ. 2090 ก่อนสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ตองอูควบคุมภูมิภาคพม่าตอนล่างตั้งแต่พุกามทางทิศเหนือจดมะละแหม่งในทิศใต้[9][10]

ความวุ่นวายในอยุธยา

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งชิงอำนาจมาจากราชวงศ์อู่ทองใน พ.ศ. 1952 พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2076 หลังจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระรัษฎาธิราชพระชนมายุ 5 พรรษา ซึ่งทรงครองราชย์เพียง 4 เดือน[11] ยุวกษัตริย์นั้นถูกสำเร็จโทษ[12] พระราชบิดาของพระรัษฎาธิราช คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงเป็นกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ. 2089 หลังจากทรงครองราชย์มาเป็นระยะเวลา 13 ปี พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมา คือ พระยอดฟ้า[13]

เนื่องจากพระยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชมารดา ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงทรงสำเร็จราชการแทน โดยพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อู่ทอง พระอุปราชและกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระเฑียรราชา ก็ทรงมีสิทธิ์ในอำนาจผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในราชสำนักกับท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทรงออกผนวชเสีย[13] มีผู้กล่าวว่าแม้ก่อนสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงผิดประเวณีกับขุนชินราช ผู้ซึ่งเป็นผู้รักษาหอพระข้างในหรือหอพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต นักสำรวจชาวโปรตุเกสร่วมสมัย บันทึกข่าวลือซึ่งอ้างว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงลอบวางยาพิษพระสวามีของตนเพื่อยึดราชบัลลังก์ และอาจเป็นไปเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองที่ล่มไปแล้วใหม่ หลักฐานซึ่งสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ คือ การที่พระนางทรงประหารชีวิตขุนนางที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมทั้งพระยามหาเสนา และทรงแต่งตั้งคนที่พระนางโปรดแทน[14] มีบันทึกเช่นกันว่า พระนางมีพระครรภ์แก่แล้วและอีกไม่ช้าจะประสูติพระธิดา เมื่อทรงเห็นว่าไม่อาจเก็บความลับนี้ได้แล้ว ใน พ.ศ. 2091 พระนางจึงรัฐประหาร ถอดพระโอรสของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์และยกชู้รักของตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 1548[14] ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช มีการกล่าวว่าพระยอดฟ้าทรงถูกสำเร็จโทษหรือถูกพระราชมารดาวางยาพิษด้วย[15]

รัชกาลขุนวรวงศาธิราชสั้นมาก ภายใน 42 วัน เจ้านายและขุนนางของรัฐจำนวนมากวางแผนถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ผู้สมคบคิดนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ผู้สืบเชื้อสายพระมหากษัตริย์สุโขทัยจากฝั่งพระบิดา และมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราชทางพระมารดา[15] แผนลอบปลงพระชนม์เป็นการล่อขุนวรวงศาธิราชจากพระราชวังไปยังป่าโดยกราบทูลว่าจะไปจับช้าง และเมื่อพระมหากษัตริย์ ท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดาของทั้งสองเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือประทับ ขุนพิเรนทรเทพและผู้สมคบคิดก็ลอบปลงพระชนม์ทั้งสามเสีย[16][17] พระเฑียรราชาได้ทรงรับเชิญให้สึกและสืบราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[18] พระราชกรณียกิจแรก ๆ ของพระองค์ คือ ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัย (ขณะนั้นเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา) ให้ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ไม่นานหลังจากนั้น ขุนพิเรนทรเทพทรงได้รับสมัญญานามสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และทรงได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์เป็นอัครมเหสี[19][20]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม