เบื้องหลัง ของ สงครามเกาหลี

การปกครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น (1910–45)

หลังราชวงศ์ชิงพ่ายในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (1894–96) จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองจักรวรรดิเกาหลี อันเป็นคาบสมุทรซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อเขตอิทธิพล อีกทศวรรษให้หลัง หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถพิชิตจักรวรรดิรัสเซียได้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904–05) ญี่ปุ่นทำให้เกาหลีเป็นรัฐในอารักขาโดยสนธิสัญญาอึลซาในปี 1905 แล้วจึงผนวกด้วยสนธิสัญญาการผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลีในปี 1910

นักชาตินิยมและกลุ่มปัญญาชนเกาหลีหลบหนีออกนอกประเทศ และมีบางส่วนก่อตั้งรัฐบาลเกาหลีเฉพาะกาลขึ้นในปี 1919 นำโดย อี ซึงมัน ในเซี่ยงไฮ้ รัฐบาลพลัดถิ่นนี้ได้รับการรับรองจากไม่กี่ประเทศ จากปี 1919 ถึง 1925 และหลังจากนั้น นักคอมมิวนิสต์เกาหลีนำและเป็นตัวการหลักของการสงครามต่อญี่ปุ่นทั้งในและนอกประเทศ

เกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยเป็นอาณานิคมที่ถูกปรับให้เป็นอุตสาหกรรม ร่วมกับไต้หวัน และทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ในปี 1937 ข้าหลวงใหญ่อาณานิคม พลเอก จิโร มินามิ ซึ่งบังคับบัญชาการพยายามผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมประชากร 23.5 ล้านคนของเกาหลี โดยห้ามการใช้และศึกษาภาษา วรรณกรรมและวัฒนธรรมเกาหลี และบังคับให้ใช้และศึกษาภาษา วรรณกรรมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแทน มีการออกนโยบายโซชิ-ไกเม เริ่มตั้งแต่ปี 1939 กำหนดให้ประชาชนใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่น ในปี 1938 รัฐบาลอาณานิคมเริ่มการเกณฑ์แรงงาน

ในประเทศจีน กองทัพปฏิวัติแห่งชาติที่เป็นชาตินิยมและกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่เป็นคอมมิวนิสต์ช่วยจัดระเบียบผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้รักชาติและนักต่อสู้เพื่อเอกราชชาวเกาหลีต่อทหารญี่ปุ่น ซึ่งยังยึดครองบางส่วนของจีนด้วย ชาวเกาหลีที่นักชาตินิยมหนุนหลัง นำโดย อี พมซก สู้รบในการทัพพม่า (ธันวาคม 1941 – สิงหาคม 1945) ส่วนนักคอมมิวนิสต์ชาวเกาหลี นำโดย คิม อิลซอง ฯลฯ ต่อสู้ทหารญี่ปุ่นในเกาหลีและแมนจูเรีย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นใช้อาหาร ปศุสัตว์ และโลหะของเกาหลีเพื่อความพยายามของสงครามของตน กองกำลังญี่ปุ่นในเกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 46,000 นาย ในปี 1941 เป็น 300,000 นาย ในปี 1945 เกาหลีของญี่ปุ่นเกณฑ์แรงงานบังคับ 2.6 ล้านคน ซึ่งควบคุมโดยกองกำลังตำรวจชาวเกาหลีที่ให้ความร่วมมือ ประชาชนราว 723,000 นายถูกส่งไปทำงานในจักรวรรดิโพ้นทะเลและในมหานครญี่ปุ่น จนถึงปี 1942 ชายชาวเกาหลีถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น จนถึงเดือนมกราคม 1945 ชาวเกาหลีคิดเป็น 32% ของกำลังแรงงานญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ราว 25% ของผู้เสียชีวิตเป็นชาวเกาหลี เมื่อสงครามยุติ ประเทศอื่นในโลกไม่รับรองการปกครองของญี่ปุ่นในเกาหลีและไต้หวัน

ขณะเดียวกัน ที่การประชุมไคโร (พฤศจิกายน 1943) สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาตัดสินใจว่า "เมื่อถึงกำหนด เกาหลีจักเป็นอิสระและมีเอกราช" ภายหลัง การประชุมยัลตา (กุมภาพันธ์ 1945) ให้ "เขตกันชน" ในทวีปยุโรปแก่สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นรัฐบริวารที่รัฐบาลโซเวียตต้องรับผิดชอบ ตลอดจนการขึ้นเป็นใหญ่ที่คาดหวังไว้ของโซเวียตในจีนและแมนจูเรีย ตอบแทนที่สหภาพโซเวียตเข้าร่วมความพยายามของสงครามต่อญี่ปุ่นในสงครามแปซิฟิก

การรุกรานแมนจูเรียของสหภาพโซเวียต (1945)

สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ตามที่ตกลงในการประชุมเตหะราน (พฤศจิกายน 1943) และการประชุมยัลตา (กุมภาพันธ์ 1945) ว่า สหภาพโซเวียตต้องประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นภายในสามเดือนหลังสงครามในยุโรปสิ้นสุดลง จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม กองทัพแดงยึดครองครึ่งเหนือของคาบสมุทรเกาหลีตามที่ตกลงกัน และวันที่ 26 สิงหาคม มาหยุดที่เส้นขนานที่ 38 เป็นเวลาสามสัปดาห์เพื่อรอให้กองกำลังสหรัฐมาถึงจากทางใต้

วันที่ 10 สิงหาคม เมื่อญี่ปุ่นใกล้ยอมจำนน อเมริกาสงสัยว่าโซเวียตจะเคารพคณะกรรมาธิการร่วมส่วนของตน หรือความตกลงยึดครองเกาหลีที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน หรือไม่ อีกหนึ่งเดือนให้หลัง พันเอก ดีน รัสก์ และพันเอก ชาลส์ เอช. โบนสตีลที่สาม แบ่งคาบสมุทรเกาหลีที่เส้นขนานที่ 38 หลังเร่งตัดสินใจว่า เขตยึดครองเกาหลีของสหรัฐจำต้องมีเมืองท่าอย่างน้อยสองแห่ง

เมื่ออธิบายเหตุที่การปักปันเขตยึดครองอยู่ที่เส้นขนานที่ 38 รัสก์ออกความเห็นว่า "แม้ในความเป็นจริง กองกำลังสหรัฐสามารถขึ้นไปเหนือกว่านั้นได้ กรณีที่โซเวียตไม่ตกลง ... เรารู้สึกว่าเป็นการสำคัญที่จะรวมเมืองหลวงของเกาหลีในพื้นที่รับผิดชอบของทหารอเมริกัน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ "เผชิญกับควาขาดแคลนกองกำลังสหรัฐที่มีอยู่ และปัจจัยกาลเทศะ ซึ่งทำให้เป็นการยากที่จะขึ้นเหนือไปไกลมาก ก่อนที่ทหารโซเวียตจะเข้าสู่พื้นที่" โซเวียตตกลงการปักปันเขตยึดครองของสหรัฐเพื่อปรับปรุงฐานะการเจรจาของตนว่าด้วยเขตยึดครองในยุโรปตะวันออก และเพราะทั้งสองจะสนองการยอมจำนนของญี่ปุ่นจากที่ที่ตั้งอยู่

สงครามกลางเมืองจีน (1945–49)

หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองสิ้นสุดลง สงครามกลางเมืองจีนหวนกลับมาอีกครั้งระหว่างคอมมิวนิสต์จีนกับจีนคณะชาติ ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์แย่งชิงความเป็นใหญ่ในแมนจูเรีย ก็ได้รับการสนับสนุนด้านยุทธปัจจัยและกำลังพลจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ ตามแหล่งข้อมูลของจีน เกาหลีเหนือได้บริจาคยุทธปัจจัย 2,000 ตู้รถไฟ และชาวเกาหลีหลายพันคนรับราชการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนระหว่างสงคราม เกาหลีเหนือยังให้ที่ซ่อนอันปลอดภัยแก่ผู้ที่มิใช่พลรบและการสื่อสารกับจีนส่วนที่เหลือ

การมีส่วนของเกาหลีเหนือแก่ชัยชนะของคอมมิวนิสต์จีนไม่ถูกลืมหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตอบแทน ทหารผ่านศึกชาวเกาหลีระหว่าง 50,000 ถึง 70,000 คน ถูกส่งกลับพร้อมกับอาวุธ และภายหลัง ทหารเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการบุกครองเกาหลีใต้ขั้นต้น จีนสัญญาจะสนับสนุนเกาหลีเหนือหากเกิดสงครามกับเกาหลีใต้ การสนับสนุนของจีนสร้างการแบ่งแยกร้าวลึกระหว่างคอมมิวนิสต์เกาหลี และอำนาจของคิม อิลซองภายในพรรคคอมมิวนิสต์ถูกกลุ่มแยกจีน ที่นำโดย พัก อิลยู ท้าทาย ภายหลังพักถูกคิมกวาดล้างไป

รัฐบาลจีนตั้งชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา เป็นภัยคุกคามใหญ่สุดต่อความมั่นคงของชาติ การตัดสินใจนี้อิงศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนเริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 การสนับสนุนคณะชาติของอเมริการะหว่างสงครามกลางเมืองจีน และการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างพวกปฏิวัติกับพวกปฏิกิริยา ผู้นำจีนเชื่อว่าจะจีนจะเป็นสมรภูมิสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของสหรัฐ เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้และยกฐานะของจีนในบรรดาขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ผู้นำจีนจึงนำนโยบายต่างประเทศที่สนับสนุนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ทั่วดินแดนขอบขัณฑสีมาของจีนมาใช้

การแบ่งเกาหลี (1945–1949)

บรรดาชาติสัมพันธมิตรตกลงกันในการประชุมพอตสดัม (กรกฎาคม-สิงหาคม 1945) ให้มีการแบ่งเกาหลีอออกเป็นสองส่วน โดยที่ไม่ถามความเห็นของชาวเกาหลี เป็นการขัดแย้งกับข้อตกลงจากการประชุมไคโร

พลโท จอห์น อาร์. ฮอดจ์ ผู้แทนฝ่ายสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงเมืองอินช็อนในวันที่ 8 กันยายน 1945 เพื่อรับการประกาศยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่นในอาณาบริเวณคาบสมุทรเกาหลีใต้ต่อเส้นขนานที่ 38 พลโทฮอดจ์มีอำนาจปกครองเกาหลีใต้ในฐานะผู้บัญชาการรัฐบาลทหารกองทัพสหรัฐอเมริกาในเกาหลี (USAMGIK) พลโทฮอดจ์คืนอำนาจให้แก่ผู้ปกครองอาณานิคมชาวญี่ปุ่นและกองกำลังตำรวจเกาหลีเดิมที่เคยให้การสนับสนุนญี่ปุ่น รัฐบาลทหารสหรัฐที่ปกครองเกาหลีไม่ให้การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีซึ่งดำรงอยู่ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากรัฐบาลทหารสหรัฐมีความสงสัยว่ารัฐบาลพลัดถิ่นของเกาหลีนั้นจะเป็นคอมมูนนิสต์ นโยบาลเหล่านี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนชาวเกาหลี นำไปสู่การลุกฮือต่อต้านและสงครามกองโจร ในวันที่ 3 กันยายน 1945 พลโทโยะชิโอะ โคซุกิ ผู้บัญชาการกองกำลังภาคที่สิบเจ็ดของญี่ปุ่น รายงานต่อพลโทฮอดจ์ว่ากองกำลังของโซเวียตได้ลงมาทางใต้ต่ำกว่าเส้นขนานที่ 38 อยู่ที่เมืองแคซอง ซึ่งพลโทฮอดจ์ก็เชื่อข่าวกรองของญี่ปุ่น

คณะกรรมาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียต เข้าปกครองเกาหลีในเดือนธันวาคม 1945 ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประชุมมอสโก (1945) โดยที่ชาวเกาหลีไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาตกลง คณะกรรมาธิการร่วมได้ข้อยุติว่าให้เกาหลีอยู่ในฐานะทรัสตีเป็นเวลาห้าปีแล้วจึงเป็นเอกราช ปกครองโดยรัฐบาลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเหมือนกับประเทศแม่ที่ให้การสนับสนุน ประชาชนชาวเกาหลีจึงลุกขึ้นต่อต้านในเกาหลีใต้ บ้างประท้วงบ้างก็ทำการสู้รบ รัฐบาลทหารสหรัฐอเมริกาพยายามจะควบคุมการลุกฮือโดยการออกประกาศห้ามการชุมนุมในวันที่ 8 ธันวาคม 1945 และประกาศให้รัฐบาลปฏิวัติและคณะกรรมาธิการประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีเป็นรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1945

สภาประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (Representative Democratic Council) ฝ่ายขวา นำโดย ซิงมัน รี ผู้มาพร้อมกับกองทัพสหรัฐ คัดค้านภาวะทรัสตี โดยแย้งว่าเกาหลีถูกต่างชาติดยึดครองมานานเกินไปแล้ว พลเอกฮอดจ์เริ่มแยกตัวห่างจากข้อเสนอ แม้มันเริ่มจากรัฐบาลของเขา

ในวันที่ 23 กันยายน 1946 การนัดหยุดงานของคนงานรางรถไฟ 8,000 คนเริ่มในปูซาน การก่อความไม่สงบลามไปทั่วประเทศในเหตุการณ์ที่เรียก การก่อการกำเริบฤดูใบไม้ร่วง ในวันที่ 1 ตุลาคม 1946 ตำรวจเกาหลีฆ่านักศึกษาสามคนในการก่อการกำเริบแทกู ผู้ประท้วงตีโต้ตอบ โดยฆ่าตำรวจ 38 นาย ในวันที่ 3 ตุลาคม ราว 10,000 คนโจมตีสถานีตำรวจยองช็อน ฆ่าตำรวจไป 3 นายและมีได้รับบาดเจ็บอีก 40 นาย ที่อื่น เจ้าของที่ดินและข้าราชการเกาหลีใต้ผู้นิยมญี่ปุ่นราว 20 คนถูกฆ่า USAMGIK ประกาศกฎอัยการศึก

รัฐบาลสหรัฐอ้างว่า คณะกรรมการร่วมไม่มีความสามารถดำเนินความคืบหน้า ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งภายใต้ความคุ้มครองของสหประชาชาติ โดยมุ่งหมายสร้างประเทศเกาหลีอันมีเอกราช ทางการโซเวียตและนักคอมมิวนิสต์เกาหลีปฏิเสธให้ความร่วมมือด้วยเหตุว่าการเลือกตั้งจะไม่ยุติธรรม และนักการเมืองเกาหลีใต้จำนวนมากยังคว่ำบาตรด้วย มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในทางใต้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1948 ถูกทำลายด้วยการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 600 คน เกาหลีใต้จัดการเลือกตั้งรัฐสภาอีกสามเดือนให้หลังในวันที่ 25 สิงหาคม

รัฐบาลเกาหลีใต้จากการเลือกตั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญการเมืองแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1948 และเลือกซิงมัน รีเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1948 ในเขตยึดครองเกาหลีของรัสเซีย สหภาพโซเวียตสถาปนารัฐบาลเกาหลีเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ นำโดย คิม อิล-ซ็อง ระบอบของประธานาธิบดีรีตัดนักคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายจากการเมืองเกาหลีใต้ เมื่อถูกริบสิทธิเลือกตั้ง พวกเขามุ่งหน้าไปภูเขา เพื่อเตรียมสงครามกองโจรต่อรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่สหรัฐสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 3 เมษายน 1948 การเดินขบวนเฉลิมฉลองการต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่นของเกาหลียุติด้วยการก่อการกำเริบเชจู ซึ่งมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 14,000 ถึง 60,000 คน ทหารเกาหลีใต้ก่อกรรมป่าเถื่อนขนานใหญ่ระหว่างการปราบปรามการก่อการกำเริบนั้น ในเดือนตุลาคม 1948 ทหารเกาหลีใต้บางส่วนก่อการกำเริบต่อการจำกัดในกบฏยอซุ–ซูนช็อน

สหภาพโซเวียตถอนกำลังตามตกลงจากเกาหลีในปี 1948 และกำลังสหรัฐถอนในปี 1949 ในวันที่ 24 ธันวาคม 1949 กำลังเกาหลีใต้ฆ่าประชาชน 86 ถึง 88 คนในการสังหารหมู่มูงย็องและกล่าวโทษอาชญากรรมนั้นต่อกลุ่มโจรปล้นที่เป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อต้นปี 1950 ซิงมัน รีมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักคอมมิวนิสต์ในคุก 30,000 คน และผู้ฝักใฝ่ที่ต้องสงสัยราว 300,000 คนขึ้นทะเบียนในขบวนการให้การศึกษาใหม่สันนิบาติโบโด

สงครามแรกเริ่ม (1950)

กองกำลังของเกาหลีใต้ลดกำลังกองโจรคอมมิวนิสต์ จากเดิม 5,000 นายเป็น 1,000 นายในบริเวณแถบเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม คิม อิล-ซ็อง เชื่อว่าการรบแบบกองโจรจะทำให้กองทัพเกาหลีใต้อ่อนตัวลง และการรุกรานของเกาหลีเหนือยังได้รับการต้อนรับโดยชาวเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก คิม อิล-ซ็อง เริมนำ โจเซฟ สตาลิน เป็นฝ่ายสนับสนุนในการรุกราน ในเดือนมีนาคม 1949 เดินทางไปมอสโกเพื่อพยายามโน้มน้าวสตาลิน[25]

เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1949 กองทัพเกาหลีเหนือจำนวน 1,000 จู่โจมกองทัพเหนือและครอบครอบเส้นขนานที่ 38 กองทหารราบที่ 2 และ 18 ของหน่วย ROKA ปะทะครั้งแรกในเมือง Kuksa-bong (เส้นขนาน ที่ 38)[26] และเมือง Ch'ungmu[27]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามเกาหลี http://www.awm.gov.au/encyclopedia/korea/mia/ http://archives.cbc.ca/IDD-1-71-112/conflict_war/k... http://www.veterans.gc.ca/eng/collections/korea/di... http://www.china.org.cn/e-America/index.htm http://www.awesomestories.com/history/korean-war/w... http://www.britishpathe.com/workspace.php?id=32&di... http://gvsu.cdmhost.com/cdm4/results.php?CISOOP1=a... http://www.flickr.com/photos/imcomkorea/sets/72157... http://fornits.com/anonanon/articles/200103/200103... http://uk.share.geocities.com/wpkanniversary60/Kor...