เงื่อนไข ของ สนธิสัญญาแวร์ซาย

มาตรการที่มีต่อเยอรมนี

การจำกัดทางกฎหมาย

  • ข้อ 227 แจ้งข้อหาแก่จักรพรรดิแห่งเยอรมนี จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม
  • ข้อ 228-230 ระบุถึงอาชญากรสงครามชาวเยอรมันที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อ 231 ("อนุประโยคความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม") ได้ถือว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่ส่งผลประทบต่อพลเรือนของกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

การกำหนดกำลังทหาร

ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซายว่า "ในความพยายามที่จะเริ่มต้นการจำกัดอาวุธของนานาประเทศนั้น เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ซึ่งปริมาณของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้"

  • แคว้นไรน์แลนด์เป็นเขตปลอดทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
  • กองทัพเยอรมันถูกจำกัดทหารเหลือเพียง 100,000 นาย การประกาศระดมพลถูกล้มเลิก
  • ตำแหน่งทหารชั้นประทวนจะได้ต้องยกเลิกไปเป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจะต้องได้รับการยกเลิกไปเป็นเวลา 25 ปี
  • ห้ามทำการผลิตอาวุธในเยอรมนี และห้ามทำการครอบครองรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ เครื่องบินรบและปืนใหญ่ทั้งสิ้น
  • ห้ามเยอรมนีนำเข้าและส่งออกอาวุธ รวมไปถึงการผลิตและการครอบครองแก๊สพิษ
  • กำลังพลกองทัพเรือถูกจำกัดลงเหลือ 15,000 นาย เรือรบ 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 10,000 เมตริกตัน) เรือลาดตระเวน 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 6,000 เมตริกตัน) เรือพิฆาตตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 800 เมตริกตัน) และเรือยิงตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 200 เมตริกตัน) เยอรมนีห้ามมีเรือดำน้ำในครอบรอง
  • การปิดล้อมทางทะเลต่อเรือถูกสั่งห้าม

การกำหนดพรมแดน

ประเทศเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  ดินแดนที่ถูกผนวกเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
  ดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของสันนิบาตชาติ
  ประเทศเยอรมนี

จากสนธิสัญญาแวร์ซาย ได้กำหนดให้เยอรมนีสูญเสียอาณานิคมทั้งหมด รวมไปถึงดินแดนบางส่วนของแผ่นดินแม่ โดยดินแดนที่สำคัญ ได้แก่ ดินแดนปรัสเซียตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง และยังต้องสูญเสียฉนวนโปแลนด์และทางออกสู่ทะเลบอลติก นับตั้งแต่ผลของการแบ่งโปแลนด์ และทำให้แคว้นปรัสเซียตะวันออกถูกกีดกันออกไปจากแผ่นดินเยอรมนีเป็นดินแดนแทรก

  • อำนาจอธิปไตยเหนือแคว้นอาลซัส-ลอแรน ซึ่งเป็นดินแดนของเยอรมนีตามสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อปีค.ศ. 1871 จะถูกยกคืนแก่ฝรั่งเศส (คิดเป็นดินแดน 14,522 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 1,815,000 คน (ประมาณการ ณ ค.ศ. 1905) [20] เกลม็องโซเชื่อมั่นว่าเยอรมนีมีประชากรมากเกินไป และการยึดครองแคว้นอาลซัส-ลอแรนดังกล่าวจะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอลงและทำให้ฝรั่งเศสแข็งแกร่งขึ้น[21]
  • ดินแดนชเลสวิชตอนเหนือต้องคืนให้แก่เดนมาร์ก ตามผลของการลงประชามติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 (คิดเป็นดินแดน 3,984 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 163,600 คน) ส่วนดินแดนชเลสวิชตอนกลาง รวมทั้งเมืองเฟล็นส์บวร์ค ยังคงเป็นของเยอรมนี จากผลของการลงประชามติใน ค.ศ. 1920[22][23]
  • ส่วนใหญ่ของมณฑลโพเซินและปรัสเซียตะวันตก ซึ่งปรัสเซียได้รับมาหลังจากการแบ่งดินแดนโปแลนด์ เมื่อค.ศ. 1772 ถึง 1795 ต้องคืนให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 53,800 ตารางกิโลเมตร รวมไปถึงดินแดน 510 ตารางกิโลเมตร ประชากร 26,000 คน จากอัปเปอร์ซิลีเซีย) [20] ซึ่งดินแดนส่วนที่ฉีกออกมานั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปแลนด์อย่างสมบูรณ์หลังจากเหตุการณ์ก่อจลาจลเมื่อปี ค.ศ. 1918 ถึง 1919 แต่ประชาชนไม่ยอมรับการลงประชามติ การรวมเอาดินแดนปรัสเซียตะวันตกและการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยของรัฐโปแลนด์ ทำให้พลเมืองปรัสเซียตะวันตกอพยพสู่ดินแดนเยอรมนีเป็นจำนวนมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 โดยคิดเป็นกว่า 1,000,000 คนในปี ค.ศ. 1919 และอีกกว่า 750,000 คนในปี ค.ศ. 1926[24]
  • ยกดินแดนฮุลทชิน ของอัปเปอร์ซิลีเซีย ให้แก่เชโกสโลวาเกีย (คิดเป็นดินแดน 333 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 49,000 คน) โดยปราศจากการลงประชามติ[23]
  • ยกทางตะวันออกของแคว้นอัปเปอร์ซิลีเซียให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 3,214 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 965,000 คน) โดย 2 ใน 3 รวมเข้ากับเยอรมนี และอีก 1 ใน 3 รวมเข้ากับโปแลนด์ตามผลของการลงประชามติ[25]
  • ยกมอเรสเนต ยูเพนและมาเมลคืนให้เบลเยี่ยม[25] รวมไปถึงยกรางรถไฟเวนนบานให้แก่เบลเยี่ยมด้วย
  • ยกอาณาเขตของโซลเดา ในปรัสเซียตะวันออก ชุมทางรถไฟสายวอร์ซอ-ดานซิกที่สำคัญ ให้แก่โปแลนด์โดยไม่ต้องมีการลงประชามติ[26]
  • ยกดินแดนทางตอนเหนือของอัปเปอร์ซิลีเซีย หรือแคว้นมาเมล ให้อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ต่อมาได้โอนให้แก่ลิทัวเนีย
  • ยกดินแดนทางตะวันออกของปรัสเซียตะวันตกและทางตอนใต้ของปรัสเซียตะวันออกให้แก่โปแลนด์ หลังจากผลการลงประชามติ[27][28][29]
  • ให้ดินแดนซาร์ลันท์อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาตชาติเป็นเวลา 15 ปี และหลังจากครบกำหนดเวลาจะมีการลงประชามติว่าจะเลือกรวมกับฝรั่งเศสหรือรวมกับเยอรมนีตามเดิม (ผลการออกเสียงใน ค.ศ. 1935 ได้รวมกับเยอรมนี) [22] โดยในช่วงเวลาระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ ผลผลิตถ่านหินของแคว้นให้เป็นของฝรั่งเศส
  • เมืองท่าดานซิก ซึ่งตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวิสตูล่า ริมชายฝั่งทะเลบอลติก ต้องเป็นนครเสรีดานซิก ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ โดยปราศจากการลงประชามติ (คิดเป็นดินแดน 1,893 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 408,000 คน (ประมาณการปี ค.ศ. 1920) [30]
  • เยอรมนีต้องรับรองและให้ความเคารพแก่ความเป็นเอกราชของออสเตรียอย่างเคร่งครัด และห้ามประเทศทั้งสองรวมเข้าด้วยกัน แม้ว่าประชาชนของทั้งสองฝ่ายมีความต้องการเช่นนั้น[31][32]
  • ในข้อ 22 อาณานิคมเยอรมนีถูกแบ่งกันระหว่างเบลเยียม สหราชอาณาจักร บางประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่าอาณานิคมเหล่านี้จะต้องไม่กลับเข้าไปรวมกับเยอรมนีอีก ซึ่งเป็นการรับประกันตามข้อ 119[33]

ปัญหามณฑลซานตง

ดูบทความหลักที่: ปัญหามณฑลชานตง
ชาวจีนในขบวนการ 4 พฤษภาคม

ตามข้อที่ 156 ของสนธิสัญญา ได้กำหนดให้สัมปทานของเยอรมนีในมณฑลชานตงของจีนต้องถูกโอนให้แก่ญี่ปุ่น แทนที่จะถูกโอนกลับมาให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ชาวจีนจึงจัดการเดินขบวนต่อต้านครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนการ 4 พฤษภาคม (อังกฤษ: May Fourth Movement) และส่งผลกระทบให้จีนไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว จีนได้ประกาศยุติสงครามกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1919 และลงนามในสนธิสัญญาแยกต่างหากกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1921

ค่าปฏิกรรมสงคราม

ตามข้อที่ 231 ของสนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้เริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้กำหนดค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจำเป็นต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้เรียกร้องเอาทองคำจากเยอรมนีเป็นมูลค่า 226,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 11,300 ล้านปอนด์) ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ในปี ค.ศ. 1921 ถูกปรับลดลงมาเหลือ 132,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 4,990 ล้านปอนด์)[35]

การเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีส่วนหนึ่งนั้นเป็นการแก้แค้นของฝรั่งเศส เนื่องจากผลของสนธิสัญญาแฟรงเฟิร์ตเมื่อปี ค.ศ. 1871 ที่ได้ลงนามหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซึ่งฝรั่งเศสจำเป็นต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่เยอรมนีมากพอ ๆ กัน ขณะที่แผนการยัง ในปี ค.ศ. 1929 ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ของเยอรมนี ซึ่งจะหมดอายุเมื่อปี ค.ศ. 1988[36]

การชดใช้หนี้ตามที่ระบุในสนธิสัญญาแวร์ซายได้อยู่ในหลายรูปแบบ อย่างเช่น ถ่านหิน เหล็กกล้า ทรัพย์สินทางปัญญา และผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากการคืนเงินในรูปของสกุลเงินจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งได้เกิดขึ้นในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1920 และเป็นการลดผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะได้รับ ที่ประชุมนานาชาติแห่งปี ค.ศ. 1953 กำหนดให้รัฐบาลเยอรมนีชำระหนี้ให้หมดภายในปี ค.ศ. 2020[37]

การจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายได้กล่าวถึงกติกาของสันนิบาตชาติ ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งสันนิบาตชาติ อันเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยมีจุดประสงค์ที่จะขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่สิบสามของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็ได้เป็นจุดกำเนิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ[38] โดยมีความพยายามที่จะกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน รวมไปถึงการกำหนดเพดานวันและเวลางานสูงสุด การกำหนดการบรรจุแรงงาน และการป้องกันการว่างงาน การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ การดูแลรักษาแรงงานจากอาการป่วยและบาดเจ็บ การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและผู้บาดเจ็บ การกำหนดผลประโยชน์ของแรงงานเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือและการอบรมจากประเทศที่ได้รับการบรรจุ รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง และยังได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้นเพื่อดูแลดินแดนแถบแม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์ แม่น้ำเนอเมนและแม่น้ำดานูบ

ประเทศเกิดใหม่จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย

  • ออสเตรีย มีพื้นที่ 28,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 6 ล้านคน
  • ฮังการี มีพื้นที่ 45,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 8 ล้านคน
  • เชโกสโลวาเกีย (ประกอบด้วยแค้วนโบฮีเมีย โมราเวีย สโลวาเกียและบางส่วนของไซลีเซีย) มีพลเมือง 11 ล้านคน
  • ยูโกสลาเวีย (ประกอบด้วยแคว้นมอนเตนิโกร บอสเนีย เฮอร์เซโกวนา ชลาโวเนีย คัลมาเซียและโครเอเซีย: ซึ่งเคยเป็นประเทศบอสเนียมาก่อน) มีพลเมือง 9 ล้านคน
  • โปแลนด์ มีพื้นที่ 120,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 12 ล้านคน
  • ฟินแลนด์ มีพื้นที่ 150,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน
  • เอสโตเนีย มีพื้นที่ 18,355 ตารางไมล์ มีพลเมือง 1 ล้านคน+
  • ลัตเวีย มีพื้นที่ 25,384 ตารางไมล์ มีพลเมือง 2 ล้านคน
  • ลิทัวเนีย มีพื้นที่ 21,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน

ใกล้เคียง

สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1783) สนธิสัญญาทรียานง สนธิสัญญา สนธิสัญญาอึลซา

แหล่งที่มา

WikiPedia: สนธิสัญญาแวร์ซาย http://www.foundingdocs.gov.au/item.asp?dID=23 http://www.ashatteredpeace.com http://www.baanjomyut.com/library/treaty/treaty4.h... http://transcripts.cnn.com/TRANSCRIPTS/1010/03/fzg... http://www.exulanten.com/cr2.html http://www.firstworldwar.com/source/versailles.htm http://books.google.com/books?id=hXaJLfcIBuoC http://video.google.com/videoplay?docid=7176252790... http://www.imdb.com/title/tt0441912/ http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=940...