อำนาจหน้าที่ของสภาแห่งชาติ ของ สภาแห่งชาติลาว

อำนาจหน้าที่ของสภาแห่งชาติ

รัฐแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นรัฐประชาธิปไตยประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สภาแห่งชาติเป็นองค์การอำนาจรัฐที่มีสิทธิ อำนาจ พิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจหรือปัญหาพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนเป็นองค์การนิติบัญญัติและองค์การกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาลและองค์การตุลาการ (ศาลประชาชนและองค์การอัยการประชาชน) สภาแห่งชาติจัดตั้งและดำเนินงานตามหลักการประชาธิปไตยประชาชนแบบรวมศูนย์อำนาจ สภาแห่งชาติดำเนินงานตามระเบียบการประชุมและพิจารณาข้อตัดสินใจหรือ “บันหา” หรือญัตติตามหลักการเสียงข้างมาก (Majority Vote)

สิทธิและหน้าที่[22] ของสภาแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

  1. จัดทำ รับรอง หรือแก้ไข รัฐธรรมนูญ
  2. พิจารณา รับรอง แก้ไข หรือยกเลิก กฎหมาย
  3. พิจารณา รับรอง กำหนด แก้ไข หรือยกเลิก ภาษีและส่วยอากร
  4. พิจารณา รับรอง แผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม (แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ) และ แผนงบประมาณแห่งรัฐ
  5. แต่งตั้งหรือถอดถอน ประธานประเทศ และ รองประธานประเทศ ตามการเสนอของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  6. พิจารณารับรองการเสนอแต่งตั้งหรือถอดถอน สมาชิกคณะรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย หัวหน้าองค์การเทียบเท่ากระทรวง เจ้าแขวง และเจ้าผู้ครองนคร) ตามการเสนอของประธานประเทศ
  7. แต่งตั้งหรือถอดถอน ประธานศาลประชาชนสูงสุด และ อัยการประชาชนสูงสุด ตามการเสนอของประธานประเทศ
  8. พิจารณาจัดตั้งหรือยุบ กระทรวง องค์การเทียบเท่ากระทรวง แขวง และ นคร รวมทั้ง พิจารณาเขตของ แขวงและนคร ตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี
  9. พิจารณา นิรโทษกรรม
  10. พิจารณารับรองสัตยาบันหรือลบล้าง สนธิสัญญา หรือ สัญญาที่รัฐบาลได้ลงนามกับต่างประเทศตามกฎหมาย
  11. พิจารณา ประกาศสงครามหรือประกาศยุติสงคราม
  12. ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  13. พิจารณาข้อตัดสินใจและปัญหาสำคัญอื่นที่มีความสำคัญต่อประเทศหรือผลประโยชน์สำคัญของประชาชน
  14. ดำเนินงานตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

อำนาจหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของประธานสภาแห่งชาติ

ประธานสภาแห่งชาติ เป็น “ผู้ชี้นำและนำพา” การปฏิบัติงานตามภารกิจของสภาแห่งชาติ ตลอดจน เป็น “ผู้แทน” ของสภาแห่งชาติ ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ[23]

ประธานสภาแห่งชาติมีสิทธิและหน้าที่[24] ดังนี้

  1. เป็นประธานการประชุมของสภาแห่งชาติ
  2. “ชี้นำ” และตรวจสอบการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ
  3. รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสภาแห่งชาติ
  4. “ชี้นำและนำพา” การปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  5. ลงนามนิติกรรม หนังสือ เอกสาร หรือกฎหมาย ที่ได้รับรองแล้วในที่ประชุมสภาแห่งชาติ
  6. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

อำนาจหน้าที่ของรองประธานสภาแห่งชาติ

รองประธานสภาแห่งชาติ มีหน้าที่ช่วยเหลือประธานสภาแห่งชาติในการปฏิบัติงานทั่วไป และอาจรับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านหนึ่งด้านใดตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติกรณีที่ประธานสภาแห่งชาติไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่แทนตามการมอบหมายของสภาแห่งชาติ[25]

ใกล้เคียง

สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) สภาแห่งรัฐ (ฝรั่งเศส) สภาแห่งชาติเพื่อการคุ้มกันบ้านเกิดเมืองนอน สภาแห่งรัฐ (อังกฤษ) สภาแห่งรัฐ สภาแห่งชาติ (ออสเตรีย) สภาแห่งรัฐ (เนเธอร์แลนด์) สภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ สภาแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า สภาแห่งชาติลิเบีย