ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ของ สภาแห่งชาติลาว

ภารกิจและบทบาท

รัฐแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นรัฐประชาธิปไตยประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนสภาแห่งชาติเป็นองค์การอำนาจรัฐที่มีอำนาจพิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจหรือปัญหาพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนเป็นองค์การนิติบัญญัติและองค์การกำกับตรวจสอบการดำเนินงานทั้งขององค์การบริหารและองค์การตุลาการ

เชิงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้น ตามระบอบของ สปป.ลาว สมาชิกสภาแห่งชาติกับสมาชิกคณะรัฐบาลนั้นเป็นคนละส่วนที่แยกต่างหากออกจากกัน ประชาชนทำหน้าที่เลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สมาชิกสภาแห่งชาติทำหน้าที่เลือกตั้งรัฐบาล ตลอดจน โครงสร้างการบริหารงานของประเทศในองค์กรอื่นด้วย อาทิ ประธานและรองประธานประเทศ ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด

ตามกฎหมายของ สปป.ลาว นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือตำแหน่งสำคัญอื่นของรัฐบาลและของประเทศไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาแห่งชาติ เพียงแต่ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือรับรองการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติเท่านั้นสภาแห่งชาติกับรัฐบาล (ในเชิงโครงสร้างและองค์ประกอบ) จึงแยกจากกันโดยเด็ดขาดโดยมิได้มีความสัมพันธ์กัน (แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เดียวกัน คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว) โดยนัยยะทางการตรวจสอบการบริหารงานแล้ว (ตลอดจนนัยยะทางการบริหารงานด้วย) คล้ายสภาแห่งชาติจะมีอำนาจกว่ารัฐบาล[42] เนื่องจากเป็นฝ่ายตรวจสอบที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต เปลี่ยนแปลง ระงับ หรือสั่งยุติการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร หรือ รัฐบาลได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดองค์กรที่มีลักษณะควบคู่กันกับฝ่ายบริหารเพื่อให้สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้อย่างทั่วถึง อาทิ ส่วนกลางมี รัฐบาล - คณะประจำสภาแห่งชาติ ห้องว่าการคณะรัฐบาล - ห้องว่าการสภาแห่งชาติ ระดับแขวงมีคณะแขวง (เจ้าแขวง) - คณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง (แขวง) (หัวหน้าหน่วยคณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง) ห้องว่าการแขวง - ห้องว่าการคณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง (แขวง) ตลอดจน การจัดโครงสร้างในรายละเอียดที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน รวมทั้ง การตรวจสอบการบริหารงานในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด จึงทำให้สภาแห่งชาติโดยคณะประจำสภาแห่งชาตินั้น (รวมตลอดทั้ง โครงสร้างในระดับแขวง) ทำหน้าที่เสมือน “รัฐบาลเงา” ไปในตัวด้วย

นอกจากนี้ วาระของรัฐบาลยังเท่ากับวาระของสภาแห่งชาติด้วย ดังนั้น สภาแห่งชาติแต่ละชุดจึงมีหน้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐบาลแต่ละชุดเท่านั้น โดยกลุ่มบุคคลแยกจากกันเด็ดขาดปกติแล้วคณะรัฐบาลและคณะประจำสภาแห่งชาติจะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ประมาณช่วงก่อนเปิดสมัยประชุมสภาแห่งชาติ เพื่อเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนในเรื่องต่างๆ อาทิ ร่างกฎหมายหรือข้อพิจารณาต่างๆก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกสภาแห่งชาติ

เชิงความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารนั้น สภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. พิจารณารับรอง กำหนด เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกอัตราภาษีและส่วยอากร
  2. พิจารณารับรองแผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม (แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ) และแผนงบประมาณแห่งรัฐแผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนั้น แต่ละฉบับมี ระยะเวลาการปฏิบัติ 5 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับวาระหรืออายุการของคณะรัฐบาลและสภาแห่งชาติแต่ละชุด แผนพัฒนา เศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนั้นจะถูกปรับให้เป็นแผนปฏิบัติงาน 5 ปี ของรัฐบาลและสภาแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิบัติงานในทุกๆ ด้านสอดคล้องกันและเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนี้จะถูกร่างและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาแห่งชาติก่อนที่สมาชิกสภาแห่งชาติชุด เดิมจะหมดวาระและให้สภาแห่งชาติชุดเดิมเป็นผู้รับรองแผนสำหรับอนาคต 5 ปี ข้างหน้า (ก่อนที่จะหมดวาระ) เพื่อให้ รัฐบาลและสภาแห่งชาติชุดใหม่ได้มีทิศทางเบื้องต้นอันจะปรับไปสู่การปฏิบัติงานของรัฐบาลและสภาแห่งชาติชุดใหม่นั้น ซึ่งแผนนี้เป็นความร่วมมือกันอย่างสอดคล้องและเป็นระบบยิ่งระหว่างรัฐบาล สภาแห่งชาติ และภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม และระหว่างคณะผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนชุดเก่าและคณะผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนชุดใหม่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น สมาชิกสภาแห่งชาติมีบทบาทอย่างยิ่งทั้งในการให้ความเห็นและการตรวจสอบนับแต่การจัดทำแผนจนถึงการบริหารงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องแถลงนโยบายการบริหารงาน แผนปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งแผนงบประมาณแห่งรัฐ ชุดของตน ให้สมาชิกสภาแห่งชาติรับทราบเพื่อเป็นทิศทางและกำกับทิศทางในการบริหารงานร่วมกันทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่งและระหว่างแต่ละปีอีกด้วย
  3. พิจารณาแต่งตั้งหรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของประธานประเทศ รวมทั้ง รับรองการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนสมาชิกคณะรัฐบาลตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าองค์กรเทียบเท่ากระทรวง รัฐบาลมีวาระ เท่ากับวาระของสภาแห่งชาติ[43] ประธานประเทศเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายหลังที่สภาแห่งชาติได้รับรองแล้ว[44]รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐบาลอาจถูกสภาแห่งชาติพิจารณาและลงมติไม่ไว้วางใจได้ ถ้าคณะประจำสภาแห่งชาติหรือ สมาชิกสภาแห่งชาติอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเสนอเพื่อขอให้อภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ ถ้าการลงมติไม่ได้รับความไว้วางใจ รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐบาลนั้นต้องลาออก[45]
  4. พิจารณาจัดตั้งหรือยุบกระทรวง องค์การเทียบเท่ากระทรวง แขวง นคร หรือเขตพิเศษ พิจารณาเขตของแขวงนคร หรือเขตพิเศษ ตามการเสนอของนายกรัฐมนตรีในกรณีจำเป็นจะต้องตั้งเขตพิเศษ (เขตพิเศษมีฐานะเทียบเท่าแขวง) หรือปรับเปลี่ยนเขตแดนของแขวง ให้เป็นไปตามการพิจารณาของสภาแห่งชาติ[46]
  5. พิจารณาให้นิรโทษกรรม
  6. พิจารณาให้สัตยาบันหรือลบล้างสนธิสัญญา สัญญา ที่ได้ลงนามกับต่างประเทศตามกฎหมาย
  7. พิจารณาประกาศสงครามหรือยุติสงคราม

นอกจากนี้ สภาแห่งชาติอาจมีหน้าที่อื่น อาทิ จัดตั้งศาลเฉพาะด้านขึ้นตามการพิจารณาของคณะประจำสภาแห่งชาติ[47] รวมทั้ง การแต่งตั้งประธานและรองประธานประเทศ การแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ ซึ่งประธานประเทศจะเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนรองประธานศาลประชาชนสูงสุดตามการเสนอของประธานศาลประชาชนสูงสุด คณะประจำสภาแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนผู้พิพากษาประจำศาลประชาชนสูงสุด ประธาน รองประธาน และผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์ ประธาน รองประธาน และผู้พิพากษาประจำศาลประชาชนแขวง นคร เมือง หัวหน้า รองหัวหน้าและผู้พิพากษาประจำศาลทหารตามการเสนอของประธานศาลประชาชนสูงสุด[48] ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ต่างเป็นตำแหน่งที่ตรวจสอบและ “ถ่วงดุลอำนาจ” กับฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรทางอำนาจหลักของ สปป.ลาว ทั้งสิ้น

หน้าที่ของสภาแห่งชาติต่อรัฐบาลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลัก ดังนี้

การสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล

เพื่อให้เป็นไปตามแผนและนโยบาย สภาแห่งชาติโดยสมาชิกสภาแห่งชาติจะต้อง

  1. ค้นคว้า ประสานงาน จัดตั้ง การปฏิบัติ สร้างแนวทางปฏิบัติ ระเบียบ กฎหมาย ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของพรรค - รัฐ
  2. โฆษณา ประชาสัมพันธ์ แนวทางการบริหารและนโยบายของพรรค ระเบียบกฎหมายของรัฐให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ
  3. “ปลุกระดม” ให้ประชาชนเข้าร่วมการปฏิบัติงานและกิจกรรมของรัฐ
  4. เข้าร่วมกับองค์การภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ส่วนกลางถึง ท้องถิ่นเพื่อให้ความเห็นประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  5. เข้าร่วมการ ประชุม อาทิ การประชุมสภาแห่งชาติ การประชุมเปิดกว้าง เพื่อร่วมให้ความเห็นในการจัดตั้งปฏิบัติงานของรัฐ

การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล

เพื่อกำกับมิให้รัฐบาลปฏิบัติงานคลาดเคลื่อนจากแผนและนโยบายที่ได้กำหนดไว้ สภาแห่งชาติโดยสมาชิกสภาแห่งชาติสามารถ

  1. ตั้งกระทู้ถามประธานประเทศ รองประธานประเทศ ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล
  2. การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกคณะรัฐบาล
  3. จัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการตรวจสอบการปฏิบัติงาน (ด้านต่างๆ) ต่อสภาแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ สภาแห่งชาติถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจยิ่งในการบริหารงานและตรวจสอบการบริหารภาครัฐของ สปป.ลาวและถือเป็น “ต้นทาง” ของการบริหารงานของประเทศในทุกด้าน

ใกล้เคียง

สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) สภาแห่งรัฐ (ฝรั่งเศส) สภาแห่งชาติเพื่อการคุ้มกันบ้านเกิดเมืองนอน สภาแห่งรัฐ (อังกฤษ) สภาแห่งรัฐ สภาแห่งชาติ (ออสเตรีย) สภาแห่งรัฐ (เนเธอร์แลนด์) สภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ สภาแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า สภาแห่งชาติลิเบีย