สมาพันธรัฐไอร์แลนด์
สมาพันธรัฐไอร์แลนด์

สมาพันธรัฐไอร์แลนด์

 สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ (ละติน: Hiberni Unanimes อังกฤษ: Confederate Ireland หรือ Union of the Irish) เป็นช่วงเวลาที่ชาวไอริชซึ่งนับถือนิกายคาทอลิก ได้ปกครองตนเองระหว่าง ค.ศ. 1642 ถึง ค.ศ. 1649 ระหว่างสงครามสิบเอ็ดปี ในช่วงนี้ สองในสามของไอร์แลนด์ถูกปกครองโดย สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ (อังกฤษ: Irish Catholic Confederation ไอริช: Cónaidhm Chaitliceach na hÉireann) หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า สมาพันธรัฐคิลล์เคนนี (อังกฤษ: Confederation of Kilkenny) เพราะสมาพันธรัฐมีเมืองหลวงอยู่ที่คิลล์เคนนี สมาพันธรัฐถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มขุนนาง เจ้าที่ดิน นักบวช และผู้นำทางทหารชาวไอริชที่นับถือนิกายคาทอลิก ภายหลังกบฎไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 (Irish Rebellion of 1641) ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นชาวเกลล์และชาวแองโกล–นอร์มัน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการยุติความเกลียดชังนิกายคาทอลิกในราชอาณาจักรไอร์แลนด์ สิทธิ์การปกครองตนเอง และยับยั้งการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรแตสแตนท์ พวกเขายังต้องการป้องกันไอร์แลนด์จากการรุกรานของฝ่ายรัฐสภาและกลุ่มพันธสัญญาสกอต ซึ่งต่อต้านนิกายคาทอลิกและเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 สมาชิกสมาพันธส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีกับพระเจ้าชาลส์ และเชื่อว่าจะบรรลุข้อตกลงกับทางราชสํานักได้ก็ต่อเมื่อศัตรูของพระองค์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษถูกกําราบลงแล้ว[1] สมาพันธรัฐมีองค์กรเทียบเท่ารัฐสภา คือ "สมัชชาใหญ่" (General Assembly) และมีฝ่ายบริหาร เรียกว่า "อภิสภา" (Supreme Council) รวมไปถึงกองทัพเป็นของตนเอง สมาพันธยังสามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ จัดเก็บภาษี และตั้งโรงพิมพ์ได้อีกด้วย[1] นอกจากนี้สมาพันธรัฐยังมีการแต่งตั้งทูตและได้รับการรับรองจากฝรั่งเศส สเปนและรัฐสันตะปาปา[1] ซึ่งช่วยสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพของสมาพันธต่อสู้กับทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์ ฝ่ายรัฐสภา ชาวอัลสเตอร์โปรแตสเตนท์ และกองทัพของกลุ่มพันธสัญญาสกอต ซึ่งถูกส่งมายังอัลสเตอร์ กองกำลังเหล่านี้ยึดครองบริเวณเดอะเพล บางส่วนทางตะวันออกและทางเหนือของอัลสเตอร์ และอาณาเขตโดยรอบคอร์ก พระเจ้าชาลส์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เปิดการเจรจาลับกับฝ่ายสมาพันธรัฐ ส่งผลให้เกิดการสงบศึกระหว่างสมาพันธรัฐกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1643 และการเจรจาเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ในปี ค.ศ. 1644 กองกําลังทหารของสมาพันธรัฐได้ขึ้นฝั่งที่สกอตแลนด์เพื่อช่วยสนับสนุนฝ่ายนิยมกษัตริย์ ขณะเดียวกันสมาพันธรัฐก็ยังรบกับฝ่ายรัฐสภาในไอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถเอาชนะกลุ่มพันธสัญญาสกอตได้ที่ยุทธการที่เบนเบอ (Battle of Benburb) เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1647 สมาพันธรัฐก็เริ่มเพลี่ยงพล้ำให้แก่ฝ่ายรัฐสภา เช่นการรบที่ดุนแกนฮิลล์ (Dungan's Hill) คาเซล (Cashel) และคน็อกนาส (Knocknanuss) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้สมาพันธรัฐยอมร่วมมือกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกภายในสมาพันธรัฐ และทําให้การป้องกันการรุกรานจากฝ่ายรัฐสภาล่าช้าลงเช่นกัน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1649 กองทัพตัวแบบใหม่ซึ่งนําโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ได้เข้ารุกรานไอร์แลนด์ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1652 ครอมเวลล์ก็สามารถเอาชนะกองทัพผสมของฝ่ายนิยมกษัตริย์–สมาพันธรัฐได้อย่างเด็ดขาด ถึงแม้จะมีการทําสงครามกองโจรต่อไปอีกหลายปีก็ตาม

ใกล้เคียง

สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน สมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ สมาพันธรัฐเยอรมัน สมาพันธ์กีฬาใต้น้ำโลก สมาพันธรัฐอเมริกา สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ http://www.ucc.ie/celt/published/E640001-001/index... http://bcw-project.org/church-and-state/confederat... https://archive.org/details/catholicencyclo07herbg... https://archive.org/details/compendiumofiris00cusa... https://archive.org/details/compendiumofiris00cusa... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg...