การก่อตั้ง ของ สมาพันธรัฐไอร์แลนด์

สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นภายหลังกบฎไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 เพื่อควบคุมการลุกฮือของมวลชน และเป็นศูนย์รวมตัวของชาวไอริชที่นับถือนิกายคาทอลิกเพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษและสกอตแลนด์ที่ยังคงเหลืออยู่ในไอร์แลนด์ ชาวคาทอลิกไอริชหวังว่าการทำเช่นนี้จะสามารถช่วยต้านการรุกรานระลอกใหม่จากกองทัพอังกฤษหรือสกอตแลนด์ได้

ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งสมาพันธรัฐมาจากบิชอปนิโคลัส เฟรนช์ (Nicholas French) และทนายความนามนิโคลัส พลังเก็ต (Nicholas Plunkett) ทั้งสองนําแนวคิดดังกล่าวไปเสนอให้แก่เหล่าขุนนางคาทอลิกไอริช เช่น ไวเคานต์กอร์แมนสตัน (Viscount Gormanston) ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ต (Viscount Mountgarret) และไวเคานต์มัสเคอร์รี (Viscount Muskerry) โดยคนเหล่านี้จะต้องส่งมอบไพร่พลของตนให้แก่รัฐบาลสหพันธ์ และทำหน้าที่โน้มน้าวกบฏกลุ่มอื่น ๆ ให้เข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของสมาพันธรัฐค่อนข้างคล้ายคลึงกับคําประกาศดุนแกนนอน (Proclamation of Dungannon) ซึ่งออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1641 ของเซอร์เพลิม โอนีลล์ (Phelim O'Neil) ผู้นําการกบฎในช่วงแรกที่อัลสเตอร์

ในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1642 ขุนนางเหล่านั้นได้ร่วมกันลงนามใน "ข้อประท้วงคาทอลิก" (Catholic Remonstrance) ที่ทริม (Trim, County Meath) ซึ่งถูกส่งไปให้พระเจ้าชาลส์ทอดพระเนตร ต่อมาในวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน สภาสงฆ์ซึ่งจัดขึ้นใกล้เมืองเคลล์ (Kells) อันมีอาร์ชบิชอปแห่งอาร์มาเป็นประธาน ได้ลงมติว่าการกบฎเป็นสงครามอันชอบธรรม[2]

อาสนวิหารเซนต์แคลร์นิซ (St Canice's Cathedral) ซึ่งสมาชิกสมัชชาใช้ประกอบพิธีมิสซา[3]

วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1642 บรรดานักบวชคาทอลิกได้จัดสภาสงฆ์ (synod) ขึ้นอีกครั้งที่คิลล์เคนนี โดยมีเหล่าอาร์ชบิชอปแห่งอาร์มา คาเซลและทูม (Tuam) บิชอปสิบเอ็ดองค์หรือผู้แทน และผู้ดํารงตำแหน่งอื่น ๆ เข้าร่วม[4] พวกเขาร่วมกันร่างคําปฏิญาณความร่วมมือสมาพันธรัฐ (Confederate Oath of Association) และเรียกร้องให้ชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เข้าสาบานตนกับคําปฏิญาณดังกล่าว ผู้เข้าปฏิญาณตนจะต้องถวายสัตย์แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 และสาบานว่าจะเชื่อฟังคําสั่งและโองการซึ่งร่างโดย "อภิสภาสมาพันธรัฐคาทอลิก" (Supreme Council of the Confederate Catholics) กองกําลังกบฎจึงกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม "พวกสมาพันธรัฐ" (Confederates) การประชุมดังกล่าวยังคงยืนยันว่าการกบฎเป็น "สงครามอันชอบธรรม"[5] นอกจากนี้ยังมีการร่างโครงสร้างสำหรับสภาท้องถิ่น (ซึ่งมีนักบวชและขุนนางเป็นสมาชิก) ของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะอยู่ภายใต้สภาแห่งชาติที่ถืออํานาจบริหารทั้งเกาะไอร์แลนด์อีกต่อหนึ่ง ที่ประชุมยังให้คํามั่นว่าจะลงโทษเหล่าทหารที่เคยก่ออาชญากรรมสงคราม และจะทําการบัพพาชนียกรรมชาวคาทอลิกที่เป็นศัตรูกับสมาพันธรัฐ สภาสงฆ์ยังได้ทําการส่งผู้แทนไปยังฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เพื่อหาผู้สนับสนุน เงินทุน อาวุธยุทโธปกรณ์ และเพื่อชักชวนชาวไอริชที่รับราชการในต่างประเทศให้เข้าร่วม[6] ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ตได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานอภิสภา และมีการกําหนดวันประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐเป็นเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน[7]

การประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐครั้งแรก

การประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐครั้งแรกถูกจัดขึ้นที่คิลล์เคนนีในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1642 โดยเป็นการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล[8] ตัวสมัชชาเองนั้นนับได้ว่าเป็นรัฐสภาโดยพฤตินัย ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกแบ่งออกเป็นขุนนางฝ่ายอาณาจักร (Lords Temporal) 14 คน และ ขุนนางฝ่ายศาสนจักร (Lords Spiritual) จํานวน 11 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของรัฐสภาไอร์แลนด์ รวมถึงสมาชิกสภาสามัญชนอีก 226 คนด้วยเช่นกัน[9] รัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐถูกร่างขึ้นโดยแพททริก ดิอาร์ซี (Patrick D'Arcy) นักกฎหมายชาวกอลเวย์ สมาชิกสมัชชายังมีมติเห็นชอบให้แต่ละเทศมณฑลมีสภาท้องถิ่นเป็นของตัวเอง ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสภาจังหวัดอันประกอบด้วยผู้แทนจากแต่ละเทศมณฑลอย่างละสองคน โดยสมัชชาได้สรุปว่า "ให้ใช้ระบอบดังกล่าวเป็นแบบอย่างของการปกครอง" ("to be observed as the model of their government")[10][11]

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน สมาชิกสมัชชาได้ทําการเลือกสมาชิกชุดแรกของอภิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ประกอบไปด้วยสมาชิก 24 คน โดยในจํานวนนี้ จะต้องมี 12 คนคอยประจําอยู่ที่คิลล์เคนนี หรือเมืองอื่น ๆ แล้วแต่สถานการณ์[12]

สมาชิกอภิสภาชุดแรก มีรายชื่อดังต่อไปนี้:[13]

ไลนสเตอร์อัลสเตอร์คอนนักค์มุนสเตอร์
ทอมัส เฟลมมิง อาร์ชบิชอปแห่งดับลินฮิวจ์ โอเรลลี อาร์ชบิชอปแห่งอาร์มามาลาเซียส โอควีลีย์ อาร์ชบิชอปแห่งทูมมัวริซ เดอ รอยซ์ ไวเคานต์รอยซ์แห่งเฟอร์มอย
ไวเคานต์กอร์แมนสตันเฮอร์เบอ แมกมาฮอน บิชอปแห่งดาวน์ไมล์ บรูก ไวเคานต์ที่ 2 แห่งเมโยดาเนียล โอไบรอัน ไวเคานต์ที่ 1 แห่งแคลร์
ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ตฟิลิป โอไรลีย์จอหน์ เดอ เบิร์ก บิชอปแห่งคล็อนเฟิร์ตเอ็ดมันด์ ฟิตซ์มัวริซ
นิโคลัส พลังเก็ตนายพันไบรอัน แมกมาฮอนเซอร์ลูคัส ดิเลียนนายแพทย์ฟันเนล
ริชาร์ด เบลล์ลิงเฮอร์เบอ มาเจนนิสเจฟฟรีย์ บราวน์โรเบิร์ต แลมเบิร์ต
เจมส์ คูแซคตูลงก์ โอนีลล์แพททริก ดิอาร์ซีจอร์จ คอมยิน

เจมส์ ทูแซต เอิรล์ที่ 3 แห่งคาสเซิลฮาเวน (James Tuchet, 3rd Earl of Castlehaven) ทําหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์และเป็นสมาชิกลําดับสุดท้ายของอภิสภา

อภิสภามีอํานาจเหนือบรรดาแม่ทัพ นายทหารและข้าราชการพลเรือน[14] สิ่งแรกที่สมาชิกอภิสภาทําคือการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาทหารของสมาพันธรัฐ: โอเวน โร โอนีลล์ (Owen Roe O'Neill) คุมกองทัพอัลสเตอร์ ทอมัส เพรสตัน (Thomas Preston) คุมกองทัพไลนสเตอร์ การ์เร็ต แบร์รี (Garret Barry) คุมกองทัพมุนสเตอร์ และจอหน์ เบิร์ก (John Burke) คุมกองทัพคอนนักค์ อูลริค เบิร์ก มาร์ควิสที่ 1 แห่งแคลนริคาร์เด (Ulick Burke, 1st Marquess of Clanricarde) ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากที่ประชุมเชื่อว่าเขาอาจจะเข้าร่วมกับทางสมาพันธในภายหลัง[15] อภิสภายังได้ออกคำสั่งให้รวบรวมเงินจํานวน 30,000 ปอนด์และเกณฑ์ไพร่พลจํานวน 31,700 นายในเขตจังหวัดไลนสเตอร์ ซึ่งจะถูกส่งเข้ารับการฝึกโดยทันที[16]

นอกจากนี้อภิสภายังได้จัดทำตราเอกของตนขึ้นด้วย โดยมีนิยามทางมุทราศาสตร์ดังนี้: "ผิวตราเป็นทรงกลม ตรงกึ่งกลางตรามีไม้กางเขน ประดิษฐานบนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เหนือยอดไม้กางเขนประดับด้วยนกพิราบกางปีก ทางซ้ายและขวาของไม้กางเขนมีพิณฮาร์ปและมงกุฎวางเคียง" พร้อมคําขวัญบนผิวตราว่า เพื่อพระผู้เป็นเจ้า องค์กษัตริย์ และบ้านเมือง ไอร์แลนด์จงสามัคคีกัน (Pro Deo, Rege, et Patria, Hiberni Unanimes)[17]

กรมคลัง (National Treasury) โรงผลิตเหรียญกษาปณ์ และโรงพิมพ์สําหรับใช้ตีพิมพ์ประกาศจากทางสมาพันธรัฐ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในคิลล์เคนนี เมืองหลวงของสมาพันธรัฐ[18][19] สมัชชาใหญ่ชุดแรกอยู่ในวาระประชุมจนถึงวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1643[20]

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 กษัตริย์แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่งฝ่ายสมาพันธรัฐถือเอาเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับพระองค์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ

เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ก็ไม่เคยประกาศตนเป็นรัฐบาลอิสระ เพราะว่า (ตามบริบทของสงครามสามอาณาจักร) พวกเขาถือว่าตนเองเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และสมัชชาใหญ่ของสมาพันธรัฐเองก็ไม่เคยถือว่าตนเองเป็นรัฐสภา แม้สมัชชาจะทําหน้าที่นี้โดยพฤตินัยก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายในเวลานั้นมีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สามารถเรียกประชุมสภาได้ ในการเจรจากับพวกแควาเลียร์ ฝ่ายสมาพันธรัฐได้เรียกร้องให้ข้อตกลงต่างๆ ที่ตกลงในการเจรจานี้ได้รับการเห็นชอบอีกครั้งในรัฐสภาไอร์แลนด์ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งจะมีสมาชิกสมัชชาสมาพันธรัฐและผู้นิยมกษัตริย์ที่นับถือนิกายโปรแตสเตนท์เป็นสมาชิกของสภาชุดใหม่นี้

เป้าหมายตั้งต้นของฝ่ายสมาพันธรัฐคือการบรรลุข้อตกลงกับพระเจ้าชาลส์ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้: สิทธิและการยอมรับทางศาสนาสําหรับผู้นับถือนิกายคาทอลิก และสิทธิ์การปกครองตนเองสําหรับไอร์แลนด์ ทั้งนี้พระเจ้าชาลส์ทรงสัญญาว่าจะพระราชทานขันติธรรมทางศาสนาให้พวกเขา หลังจากการเรียกร้องในช่วงปี ค.ศ. 1628–1634 แต่ก็ทรงผ่อนผันเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1641

สมาชิกอภิสภาส่วนใหญ่มีเชื้อสายไฮเบอร์โน-นอร์มัน (Hiberno-Norman) ทําให้พวกเขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวเกลิกไอริช ผู้มองว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาประนีประนอมเกินไป สมาชิกสมาพันธรัฐหัวรุนแรงยังได้ผลักดันให้ยกเลิกการการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรแตสแตนท์ และเรียกร้องให้ประกาศนิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำรัฐของไอร์แลนด์ด้วย

ฝ่ายสมาพันธเชื่อว่าเป้าหมายของตนจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อพวกเขายอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมกษัตริย์อังกฤษ และนั้นทําให้การสนับสนุนพระเจ้าชาลส์กลายเป็นหัวใจหลักของแผนการนี้ ทังนี้เป็นเพราะสมาชิกรัฐสภาอังกฤษและกลุ่มพันธสัญญาสกอต บางส่วนในช่วงก่อนสงครามได้แสดงท่าทีจะเข้ารุกรานไอร์แลนด์ ทําลายความเชื่อแบบคาทอลิกและชนชั้นเจ้าครองที่ดินชาวไอริช แต่ท่าทีดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยึดถือเป็นแนวคิดอย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม พระเจ้าชาลส์ได้ทรงสัญญาจะทรงยอมรับข้อเรียกร้องบางข้อ ปัญหาสําหรับพระเจ้าชาลส์คือพระองค์ได้ทราบข่าวอาชญกรรมสงครามในช่วงการกบฏเมื่อปี ค.ศ. 1641 จึงทรงออกกฤษฏีกานักผจญภัย (Adventurers Act) ในปีต่อมา ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการริบดินแดนที่พวกกบฏถือครอง มีการถกเถึยงกันทั้งในกรุงลอนดอนและดับลินในเรื่องการปฎิเสธที่จะพระราชทานอภัยโทษให้แก่กบฎไอริช (การพระราชทานอภัยโทษเป็นวิธีที่นิยมใช้ยุติการกบฎในไอร์แลนด์มาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนหน้า) ดังนั้นกองกําลังของพระองค์จึงเป็นปรปักษ์กับฝ่ายสมาพันธรัฐไปจนถึง ค.ศ. 1643 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์เริ่มเสียเปรียบทางการทหาร เหล่าเจ้าที่ดินฝ่ายสมาพันธรัฐหลายรายต้องเสียที่ดินไปจากการบังคับใช้กฤษฏีกานักผจญภัย ทําให้พวกเขาตระหนักว่าการยอมร่วมมือกับพระเจ้าชาลส์เป็นหนทางเดียวในการได้ที่ดินเหล่านั้นคืนมา

ธงศึกของกองทัพสมาพันธรัฐซึ่งมีคําปลุกใจว่า พระเจ้าชาลส์ทรงพระเจริญ ('Vivat Rex Carolus')

กระนั้น แม้สมาชิกสมาพันธสายประนีประนอมจะรู้สึกยินดีที่สามารถเจรจากับราชสํานักเป็นผลสําเร็จ และไม่ได้เรียกร้องให้มีการปฎิรูปทางการเมืองและศาสนาแบบสุดโต่ง แต่สมาชิกสมาพันธสายหัวรุนแรงต้องการให้พระเจ้าชาลส์ยอมจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองของชาวคาทอลิกไอริชเสียก่อน เมื่อเป้าหมายดังกล่าวไม่ประสบผล พวกเขาก็หันไปเรียกร้องให้สมาพันธรัฐเป็นพันธมิตรกับสเปนหรือฝรั่งเศสแทน

ใกล้เคียง

สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน สมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ สมาพันธรัฐเยอรมัน สมาพันธ์กีฬาใต้น้ำโลก สมาพันธรัฐอเมริกา สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ http://www.ucc.ie/celt/published/E640001-001/index... http://bcw-project.org/church-and-state/confederat... https://archive.org/details/catholicencyclo07herbg... https://archive.org/details/compendiumofiris00cusa... https://archive.org/details/compendiumofiris00cusa... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg... https://archive.org/details/confederationki01meehg...