ความสัมพันธ์ต่ออุดมการณ์ทางการเมือง ของ สังคมนิยมตลาด

มาร์กซิสม์-เลนินนิสม์

ดูเพิ่มเติมที่: อุดมการณ์มาร์กซ์-เลนิน

สังคมนิยมตลาดมักถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่ออธิบายความพยายามในการเปิดใช้กลไกตลาดภายใต้ระบบเศรษฐกิจวางแผนแบบโซเวียต ด้วยความที่ว่า สังคมนิยมตลาดเคยจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1920 ในสหภาพโซเวียต และมีชื่อเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” แต่ต่อมาโซเวียตก็ละทิ้งแนวคิดนี้ไป หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 มีการหยิบใช้องค์ประกอบหลายประการของสังคมนิยมตลาดที่ประเทศฮังการี (มีชื่อเล่นเรียกว่า กูลาชคอมมิวนิสม์) เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย (ดู ติโตอิสม์) ระบบเศรษฐกิจร่วมสมัยของเบลารุสก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบสังคมนิยมตลาด ในขณะที่การปฏิรูปเปเรสทรอยก้าของสหภาพโซเวียตภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก็มีการแผนงานที่จะเปิดใช้ระบบตลาดในแผนเศรษฐกิจ สอดคล้องกับที่ช่วงปลายนั้นบุคคลสำคัญวงในของสหภาพโซเวียตเคยหารือกันว่าประเทศควรปรับทิศทางไปสู่ระบบสังคมนิยมที่พื้นฐานของกลไกตลาดเช่นกัน

ในอดีตนั้น ระบบสังคมนิยมตลาดเหล่านี้มีเจตนาที่จะรักษาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ของรัฐในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เช่นภาคอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมพลังงาน และภาคโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่จะปรับให้กระบวนการตัดสินใจเป็นแบบกระจายศูนย์ โดยอนุญาตให้ผู้จัดการในท้องถิ่นต่าง ๆ มีอิสระในการตัดสินใจที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของตลาด ระบบสังคมนิยมตลาดเหล่านี้อนุญาตให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ตลอดจนอนุญาตให้เอกชนและผู้ประกอบการประกอบกิจการภายในภาคเศรษฐกิจบริการและภาคเศรษฐกิจชั้นรอง การกำหนดราคาในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเกษตรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด เกษตรกรได้รับอนุญาตให้ขายผลผลิตของตนบางส่วนในตลาดเปิด และเก็บรักษากำไรทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อเป็นเครื่องมือจูงใจให้มีการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นต่อไป

สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน

สังคมนิยมตลาดมักถูกใช้เพื่ออ้างอิงถึงระบบเศรษฐกิจในรัฐที่ใช้อุดมการณ์มาร์กซ์-เลนิน และบ่อยครั้งที่ใช้อ้างถึงเศรษฐกิจร่วมสมัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ซึ่งนำระบบกำหนดราคาเสรีมาใช้เพื่อจัดสรรสินค้าทุนทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองชาวจีนระบุแย้งว่า เศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาดนั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมตลาดในทัศนะแบบเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค[53] อีกทั้งมีนักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์จากตะวันตกหลายราย ตั้งคำถามถึงความลึกของการนำรูปแบบสังคมนิยมตลาดไปใช้ในระบบเศรษฐกิจของจีน และมักนิยมเรียกระบบของจีนว่าเป็น ทุนนิยมโดยรัฐ[54]

แม้จะมีชื่อเรียกคล้ายกัน สังคมนิยมตลาดมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด หรือเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจกลไกตลาดที่มีรูปแบบสังคมนิยม ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามลำดับ ระบบเศรษฐกิจที่ประกาศอย่างเป็นทางการเหล่านี้นั้น ถือเป็นตัวแทนของกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสังคมนิยมที่แท้จริงในระยะยาว[55] ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างโมเดลสังคมนิยมตลาดเมื่อเทียบกับโมเดลของจีนและเวียดนามนั้นคือ บทบาทของเอกชนที่สามารถลงเม็ดเงินลงทุนในวิสาหกิจ การไม่ปรากฏอยู่ของระบบเงินปันผลเพื่อสังคมหรือระบบรายได้มูลฐาน อันที่จะจัดสรรและกระจายผลกำไรของรัฐไปสู่ประชากรอย่างเท่าเทียม ตลอดจนการดำรงอยู่ในบทบาทของตลาดการเงินกรณีโมเดลของจีน เหล่านี้เป็นลักษณะของตลาดที่ไม่มีปรากฏอยู่ในงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด[54]

แม้ประสบการณ์ของจีนในระบบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน จะเป็นที่อ้างอิงบ่อยครั้งในฐานะระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด ที่ซึ่งรัฐยังถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญก็ตาม แต่สัดส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนั้น มีกลไกตลาดทำหน้าที่ดูแล ซึ่งรวมถึงตลาดหลักทรัพย์สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้น ตลอดจนการนำกลไกทางอ้อมต่าง ๆ ของตลาดมาใช้ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (เช่น นโยบายการเงิน การคลัง และอุตสาหการ) เพื่อชักจูงเศรษฐกิจเสมือนวิถีปฏิบัติของเศรษฐกิจทุนนิยม ตลาดทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดในจีน โดยรัฐมีบทบาทวางเค้าโครงแผนเศรษฐกิจระดับมหภาค และจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการตัดสินใจในระดับเศรษฐกิจจุลภาค การตัดสินใจในระดับจุลภาคจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจกระทำกันเอง แม้โมเดลนี้จะมีเอกชนถือกรรมสิทธิ์ในวิสาหกิจและดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรก็ตาม แต่นั่นก็จำกัดให้อยู่ในกรอบของกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจบริการเท่านั้น[56]

การวางแผนการผลิตโดยการบังคับโควต้าของผลผลิตในระบบเศรษฐกิจเดิมของจีนนั้น ถูกแทนที่ด้วยกลไกตลาดในเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐหรือภาคเอกชน แม้ว่ารัฐจะยังคงมีบทบาทในการวางแผนชี้นำให้กับรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ก็ตาม[56] และเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจวางแผนแบบโซเวียตนั้น โมเดลสังคมนิยมที่มีการใช้กลไกตลาดของจีนมีที่มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นแปรสภาพเป็นบริษัทร่วมทุน ในปี 2008 มีจำนวนรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้รัฐบาลกลางอยู่ 150 แห่ง[57] หลังปฏิรูปพบว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีพลวัตรเพิ่มขึ้น และกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐในปีเดียวกัน[58][59] อีกทั้งได้นำพาให้เศรษฐกิจจีนพลิกฟื้นในปี 2009 ท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก[60]

อย่างไรก็ดีมีนักมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ออกมาปกป้องโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากการวิพากษ์วิจารณ์ โดยชี้ว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนนั้น จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมือมีการพัฒนาวิถีสังคมนิยมด้วยเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดควบคู่ไปกับเศรษฐกิจที่แลกเปลี่ยนโภคภัณฑ์เสียก่อนเป็นอันดับแรก อันจะทำให้ระบบสังคมนิยมปรากฏขึ้นมาหลังจากที่พัฒนาการขั้นตอนแรกหมดความจำเป็นไปเองทางประวัติศาสตร์ และจะแปรสภาพตัวเองไปเป็นสังคมนิยมอย่างช้า ๆ[53] ผู้เชี่ยวชาญโมเดลของจีนยังแย้งเพิ่มเติมอีกว่า ระบบเศรษฐกิจของอดีตสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารนั้น ใช้วิถีทางกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจธรรมชาติ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน โดยข้ามขั้นตอนที่จำเป็นของการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดเสียก่อน[61]

สังคมนิยมประชาธิปไตย

ดูเพิ่มเติมที่: สังคมนิยมประชาธิปไตย

นักสังคมนิยมประชาธิปไตยบางราย ให้การสนับสนุนรูปแบบที่แตกต่างกันไปของระบบสังคมนิยมตลาด บ้างก็สนับสนุนระบบที่มีรูปแบบการบริหารจัดการตนเอง บ้างก็สนับสนุนเศรษฐกิจส่วนร่วมแบบไร้ตลาด ที่มีลักษณะของการวางแผนเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์[62]

อนาธิปไตย

นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ปิแอร์-โจเซฟ พรูดอน คือบุคคลแรกที่เรียกตนเองว่านักอนาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนักทฤษฎีอนาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลที่สุดผู้หนึ่ง ตลอดจนได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งอนาธิปไตย”[63] พรูดอนได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสหลังเหตุการณ์ปฏิวัติแห่งปี 1848 ซึ่งขณะนั้นพรูดอนได้รับฉายานามว่าเป็น “นักนิยมสหพันธรัฐ” วลีของพรูดอน “[การมี]ทรัพย์สินคือโจรกรรม!” นั้นทำให้พรูดอนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง วลีนี้ปรากฏอยู่ในงานเขียนในปี 1840 ของพรูดอนชื่อ ทรัพย์สินคืออะไร? หนังสือเล่มนี้ทำให้พรูดอนตกเป็นที่จับตาดูของเจ้าหน้าที่รัฐในฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังตกเป็นที่สังเกตุของ คาร์ล มากซ์ จึงทำให้เริ่มมีการสื่อสารระหว่างกัน ทั้งคู่ต่างก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อกัน ท้ายที่สุดจึงได้มีโอกาสได้พบปะกันที่ปารีสในช่วงที่มาร์กซ์กำลังลี้ภัยอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ดีมิตรภาพของทั้งสองจบลงเมื่อมาร์กซ์ได้เขียนงานวิจารณ์หนังสือของพรูดอนที่ชื่อว่า ปรัชญาแห่งความขัดสน ด้วยงานเขียนของตนเองที่ตั้งชื่อว่า ความขัดสนแห่งปรัชญา ความขัดแย้งนี้เป็นที่มาของการแยกตัวกันภายในสมาคมคนงานสากล ออกเป็นปีกอนาธิปไตยและปีกมาร์กซิสต์

อนาธิปไตยตลาดปีกซ้าย คือแนวคิดอนาธิปไตยเชิงปัจเจกที่มีรูปแบบของสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด บางครั้งก็เรียกขานกันว่า อิสระนิยมซ้าย และสังคมนิยมแบบอิสระนิยม มีบุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ เควิน คาร์สัน[64][65] ร็อดเดอริก ที. ลอง[66][67] ชาร์ลส ดับเบิ้ลยู. จอห์นสัน[68] แบรด สแปงเกลอร์[69] ซามูเอล เอ็ดวาร์ด คอนคิน ที่ 3[70] เชลดอน ริชแมน[71][72][73] คริส แมทธิว สเชียบาร์รา[74] และแกรี่ ชาร์ติเยร์[75] นักคิดเหล่านี้เน้นถึงความสำคัญของตลาดเสรีที่มีลักษณะของความอิสระอย่างสุดขีด โดยเรียกว่า ตลาดปลดปล่อย เพื่อให้แตกต่างจากความหมายของตลาดทั่วไป โดยมุ่งหวังที่จะกำจัดอภิสิทธิ์ของนายทุนและนักอำนาจรัฐนิยม[76]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สังคมนิยมตลาด http://links.org.au/node/14 http://mutualist.blogspot.com/2006/01/eugene-plawi... http://mutualist.blogspot.com/2006/07/js-mill-mark... http://sheldonfreeassociation.blogspot.com/2006/07... http://bradspangler.com/blog/archives/473 http://us.ft.com/ftgateway/superpage.ft?news_id%3D... http://radgeek.com/gt/2010/03/02/liberty-equality-... http://www.slate.com/id/2279457/ http://www.theamericanconservative.com/blog/libert... http://invisiblemolotov.wordpress.com/2009/09/12/s...