ประวัติ ของ อัศวินเทมพลาร์

การก่อตั้ง

กองบัญชาการแห่งแรกของอัศวินเทมพลาร์ มัสยิดอัลอักศอ บนภูเขาเทมเพิลของเยรูซาเลม หรือที่เรียกว่าพระวิหารแห่งซาโลมอนซึ่งสร้างอยู่บนวิหารเดิม และเป็นที่มาของชื่ออัศวินเทมพลาร์

หลังจากยึดครองเยรูซาเลมจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1099 คริสต์ศาสนิกชนผู้แสวงบุญจำนวนมากได้เดินทางมาสักการะเยี่ยมชมสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมืองเยรูซาเลมจะอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัย แต่อาณาจักรโดยรอบกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ทำให้ผู้แสวงบุญถูกฆ่าตายเป็นอันมากบางครั้งถึงร่วมร้อยคน เมื่อพวกเขาพยายามเดินทางตามเส้นทางจากชายฝั่งของจาฟฟา (Jaffa) ไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์[6]

ราวปี ค.ศ. 1119 อัศวินชาวฝรั่งเศสผู้ผ่านศึกในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 อูกแห่งปาแย็ง (Hugues de Payens) และกอดเฟรย์แห่งเซนต์โอแมร์ (Godfrey de Saint-Omer) ญาติของเขาเสนอที่จะจัดตั้งคณะนักบวชอารามิกเพื่อปกป้องผู้แสวงบุญ[7] พระเจ้าบอลวินด์ที่ 2 แห่งเยรูซาเลมทรงเห็นด้วยกับคำขอและมอบพื้นที่ให้จัดตั้งกองบัญชาการบนภูเขาเทมเพิล (Temple Mount) ในมัสยิดอัลอักซา (Al Aqsa Mosque) ที่ยึดมาได้ ภูเขาเทมเพิลมีความลึกลับที่เชื่อกันว่ามันตั้งอยู่บนซากพระวิหารแห่งซาโลมอน[2][8] ดังนั้นนักรบสงครามครูเสดจึงเรียกมัสยิดอัลอักซาเป็นพระวิหารแห่งซาโลมอน และจากสถานที่นี้คณะจึงนำมาตั้งเป็นชื่อ คณะทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งซาโลมอน หรือ "คณะอัศวินแห่งพระวิหาร (Templar knights)" ขณะนั้นคณะมีอัศวินเพียงเก้านาย มีแหล่งเงินทุนอันน้อยนิดและต้องอาศัยเงินบริจาคเพื่อความอยู่รอด สัญลักษณ์อัศวิน 2 นายขี่ม้าตัวเดียวกัน แสดงออกถึงความขัดสนของภาคี

แต่เหล่าอัศวินเทมพลาร์ก็ไม่ได้ขัดสนยากจนนานนัก เมื่อเขาได้รัปการอุปถัมภ์จากนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว ผู้เป็นคนสำคัญของศาสนจักรและเป็นหลานชายของอ็องเดรแห่งมงบาร์ (André de Montbard) เขากล่าวและเขียนเกลี้ยกล่อมในนามของพวกเขา และใน ปี ค.ศ. 1129 ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ คณะก็ได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร และด้วยการนี้เทมพลาร์ก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคตลอดทั้งพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน ธุรกิจ และบุตรชายผู้มีตระกูลจากครอบครัวที่กระตือรือล้นที่อยากจะช่วยต่อสู้ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของคณะได้รับในปี ค.ศ. 1139 เมื่อสารตราพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 Omne Datum Optimum ได้ให้คณะอยู่เหนือกฎหมายท้องถิ่น ด้วยอำนาจนี้หมายความว่าเหล่าเทมพลาร์สามารถผ่านแดนได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าภาษีใด ๆ และไม่อยู่ภายใต้อำนาจผู้ใดยกเว้นพระสันตะปาปา[9]

ด้วยภารกิจที่ชัดเจนและทรัพยากรที่เพียงพอ คณะได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่เทมพลาร์รับบทกองกำลังหน่วยรุกซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรบของสงครามครูเสด ด้วยความที่เป็นอัศวินเกราะหนักบนม้าศึกจึงใช้โจมตีทำลายแนวต้านทานของข้าศึก หนึ่งในชัยชนะที่สร้างชื่อในปี ค.ศ. 1177 ระหว่างยุทธการที่ม็องต์กิซาร์ด เมื่ออัศวินเทมพลาร์ 500 นายได้ช่วยยัดเยียดความปราชัยแก่กองทัพของศอลาฮุดดีนที่มีทหารมากกว่า 26,000 นาย[10]

"[อัศวินเทมพลาร์]เป็นอัศวินที่กล้าหาญอย่างแท้จริง และคุ้มครองทุกฝ่าย วิญญาณได้รับการปกป้องจากเกราะแห่งศรัทธา เช่นเดียวกับร่างกายได้รับการป้องกันโดยเกราะเหล็ก ดังนั้นเขาจึงเสมือนติดอาวุธเป็นทวีคูณ และไม่เกรงกลัวต่อปีศาจและมนุษย์"
แบร์นาร์แห่งแกลร์โว, c. 1135, De Laude Novae Militae—ในการยกย่องกลุ่มอัศวินใหม่[11]

แม้ว่าหน้าที่อันดับแรกของคณะจะเป็นเรื่องการทหารแต่ก็มีสมาชิกจำนวนน้อยที่เป็นนักรบ ผู้ที่เหลืออื่น ๆ จะกระทำหน้าที่ในตำแหน่งสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออัศวินและจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน แม้สมาชิกของคณะแห่งพระวิหารจะสาบานว่าจะดำรงตนอย่างสมถะ แต่ก็ต้องจัดการควบคุมทรัพย์สินจากการบริจาคที่มีอย่างมากมาย ขุนนางผู้สนใจเข้าร่วมในสงครามครูเสดอาจปล่อยให้เทมพลาร์เข้ามาจัดการทรัพย์สินของเขาในขณะที่เขาออกไปร่วมรบ ด้วยทรัพย์สินที่สะสมด้วยวิธีนี้ตลอดทั้งคริสตจักรและอาณาจักรครูเสด ในปี ค.ศ. 1150 ภาคีได้สร้างตราสารเครดิตสำหรับผู้แสวงบุญที่จะจาริกไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผู้แสวงบุญจะฝากสิ่งของมีค่าไว้ที่เทมพลาร์สาขาท้องถิ่นก่อนเดินทาง และรับเอกสารแสดงค่าของสิ่งที่ฝากไว้ เมื่อไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็แสดงเอกสารนี้เพื่อรับเงินคืน การจัดการในรูปแบบนี้แสดงถึงรูปแบบตอนต้นของธนาคาร อาจเป็นระบบอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่รองรับการใช้เช็ค มันช่วยให้ผู้แสวงบุญมีความปลอยภัยยิ่งขึ้นทำให้พวกเขาไม่เป็นที่ดึงดูดหัวขโมย และยังมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนกองทุนของเทมพลาร์อีกด้วย[2][12]

จากการผสมผสานกันของการรับบริจาคและธุรกิจการค้า เทมพลาร์ได้สร้างเครือข่ายการเงินไปทั่วคริสตจักร เขาได้มาซึ่งที่ดินขนาดใหญ่ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง ซื้อและจัดการไร่นาและไร่องุ่น สร้างโบสถ์และปราสาท มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการผลิต นำเข้า และส่งออก มีกองเรือเป็นของตนเอง และณ จุดหนึ่ง พวกเขายังเป็นเจ้าของเกาะทั้งหมดของไซปรัส คณะอัศวินเทมพลาร์มีคุณสมบัติที่จะเป็นบรรษัทข้ามชาติแห่งแรกของโลก[10][13][14]

ยุทธการที่ฮัททินใน ค.ศ. 1187 เป็นจุดพลิกผันของสงครามครูเสด

ความเสื่อม

ในตอนกลางของคริสต์ทศวรรษที่ 1100 กระแสสงครามได้พลิกผัน โลกมุสลิมได้เป็นปึกภายใต้ผู้นำที่เก่งกาจอย่างศอลาฮุดดีน และได้เกิดความแตกร้าวท่ามกลางกลุ่มคริสตชนทั้งที่เกี่ยวข้องและในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งอัศวินเทมพลาร์ถูกนำไปเปรียบกับคณะทหารคริสตชนอื่นอีกสองคณะคือคณะอัศวินฮอสปิทัลเลอร์และคณะอัศวินทิวทัน และเป็นทศวรรษแห่งการอาฆาตล้างผลาญกันเองทำให้สถานะภาพของคริสตชนอ่อนแอลงทั้งทางการเมืองและการทหาร หลังจากเทมพลาร์ได้เข้าร่วมทำการรบที่ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง รวมถึงยุทธการที่เขาแห่งฮัททิน กำลังศอลาฮุดดีนก็สามารถยึดเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1187 นักรบครูเสดยึดเมืองคืนมาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1229 โดยปราศจากความช่วยเหลือของเหล่าเทมพลาร์ แต่ก็รักษาไว้ได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ในปี ค.ศ. 1244 จักรวรรดิควาริซเมียน (Khwarezmian Empire) ได้เข้ายึดครองเยรูซาเลม และเมืองก็ไม่กลับเป็นของตะวันตกอีกเลยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1917 เมื่อบริเตนได้ยึดมันมาจากจักรวรรดิออตโตมัน[15]

เทมพลาร์โดนบังคับให้ย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองอื่นๆในตอนเหนือ เช่น ท่าเรือของเอเคอร์ซึ่งพวกเขาตั้งมั่นได้จนถึงศตวรรษถัดมา แต่พวกเขาก็ต้องศูนย์เสียที่มั่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1291 และได้ย้ายต่อไปที่เทอร์โทซา (Tortosa, ปัจจุบันคือประเทศซีเรีย) และแอสริส (Atlit) ซึ่งที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ กองบัญชาการได้ย้ายไปสู่ลิมาสซอล (Limassol) บนเกาะของไซปรัส[16] พวกเขายังคงพยายามรักษากองทหารไว้บนเกาะอาร์วัด (Arwad) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งของเทอร์โทซา ในปี ค.ศ. 1300 ได้มีความพยายามเข้าร่วมรบในความพยายามประสานงานร่วมกันทางทหารกับมองโกล[17] ร่วมกับกองกำลังโจมตีที่อาร์วัด ในปี ค.ศ. 1302 หรือ 1303 เทมพลาร์ได้สูญเสียเกาะให้กับทหารทาสชาวอียิปต์ในยุทธการที่อาร์วัด เมื่อสูญเสียเกาะไป นักรบครูเสดก็สูญเสียที่หยั่งเท้าสุดท้ายในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์[10][18]

เมื่อภารกิจทางทหารของคณะด้อยความสำคัญลง การสนับสนุนจากองค์กรก็เริ่มลดลง มันเป็นสถานะการณ์ที่ซับซ้อน การดำรงอยู่ของพวกเขาทำให้เทมพลาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันตลอดทั้งคริสตจักร[19] ที่ตั้งของเทมพลาร์ขององค์กรกว่าร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกใกล้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ในระดับท้องถิ่น[20] เทมพลาร์ยังคงบริหารจัดการกิจการทั้งหลายของพวกเขา และชาวยุโรปหลายต่อหลายคนได้ติดต่อกับเครือข่ายของเทมพลาร์ในทุก ๆ วัน เช่น ทำงานในไร่นาหรือไร่องุ่นของเทมพลาร์ หรือ ใช้ภาคีต่างธนาคารในการฝากสิ่งของมีค่า คณะยังคงอยู่เหนือรัฐบาลท้องถิ่น สถานภาพของคณะในทุกหนแห่งประหนึ่งเป็น "รัฐภายในรัฐ (state within a state)" แม้ว่าจะไม่ได้มีภารกิจที่กำหนดแน่ชัด ทหารประจำการของคณะก็สามารถผ่านพรมแดนได้อย่างอิสระ ซึ่งสถานะการณ์นี้ได้สร้างความตึงเครียดอย่างมากกับขุนนางยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เทมพลาร์แสดงความสนใจที่จะตั้งรัฐอารามขึ้นเหมือนอย่างอัศวินทิวทันกระทำในปรัสเซีย (Prussia)[12] และอัศวินฮอสปิทัลเลอร์กระทำกับโรดส์[21]

การจับกุมและการล่มสลาย

ในปี ค.ศ. 1305 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 พระสันตะปาปาองค์ใหม่ชาวฝรั่งเศสได้ส่งจดหมายถึงผู้นำคณะอัศวินเทมพลาร์ ฌักแห่งมอแล (Jacques de Molay) และผู้นำอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ฟูล์กแห่งวีลลาเรต (Fulk de Villaret) เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการรวมทั้งสองภาคเข้าด้วยกัน แต่ทั้งสองไม่เห็นด้วย แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ยังคงยืนกรานในความคิดนี้ และในปี ค.ศ. 1306 สมเด็จพระสันตะปาปาได้เชิญผู้นำทั้งสองไปฝรั่งเศสเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง ฌักได้ไปถึงก่อนในต้นปี ค.ศ. 1307 แต่ฟูล์กกลับมาสายไปหลายเดือน ขณะรอ ฌักและสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้หารือถึงค่าใช้จ่ายที่ได้กระทำเมื่อสองปีก่อนโดยเทมพลาร์ที่ถูกขับออก ทั้งสองตกลงกันว่าเป็นค่าใช้จ่ายเท็จ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือในการสืบสวน พระเจ้าฟิลิปผู้ซึ่งเป็นหนี้เทมพลาร์จำนวนมหาศาลจากการทำสงครามกับประเทศอังกฤษ ตัดสินใจที่จะยึดตามข่าวลือเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ และเริ่มกดดันคริสตจักรให้ดำเนินเอาผิดต่อคณะ ตามหนทางเพื่อให้พระองค์พ้นจากหนี้[22]

ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1307 (บางครั้งเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของวันศุกร์ที่ 13)[23][24] พระเจ้าฟิลิปสั่งให้จับกุมฌักและเหล่าเทมพลาร์อีก 20 คนในฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน เทมพลาร์โดนตั้งข้อกล่าวหามากมาย (ประกอบไปด้วย ละทิ้งศาสนา บูชารูปเคารพ นอกรีต พิธีกรรมลามกและรักร่วมเพศ ทุจริตและฉ้อโกงทางการเงิน และ ปิดบังอำพราง)[25] จำเลยหลายคนรับสารภาพถึงข้อกล่าวหาเหล่านั้นภายใต้ทัณฑ์ทรมาน คำสารภาพภายใต้การขู่บังคับนี้ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวไปทั่วปารีส หลังจากการข่มขู่กดดันอย่างหนักหน่วงจากพระเจ้าฟิลิป สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้ประกาศสารตราพระสันตะปาปา (Pastoralis Praeeminentiae) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1307 โดยสั่งให้กษัตริย์คริสตชนในทวีปยุโรปทำการจับกุมเหล่าเทมพลาร์และยึดทรัพย์สินของพวกเขา[26]

เทมพลาร์ถูกเผาทั้งเป็นที่หลักประหาร

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาไต่สวนว่าเทมพลาร์มีความผิดจริงหรือเป็นผู้บริสุทธิ์และปลดปล่อยเทมพลาร์จากการสอบสวนหาความผิดด้วยการทรมาน มีเทมพลาร์หลายคนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา บางคนมีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเพียงพอที่จะปกป้องตัวเองจากการสอบสวน แต่ในปี ค.ศ. 1310 พระเจ้าฟิลิปขัดขวางความพยายามนี้ และบังคับใช้คำสารภาพก่อนหน้าทำการเผาเทมพลาร์ทั้งเป็นหลายสิบคนที่หลักประหารในปารีส[27][28]

คอนแวนต์ของคณะแห่งพระคริสต์ (Convent of the Order of Christ) ในปราสาทโทมาร์ (Tomar) ประเทศโปรตุเกส สร้างในปี ค.ศ. 1160 เพื่อเป็นป้อมปราการของอัศวินเทมพลาร์ ต่อมาได้กลายเป็นกองบัญชาการของคณะแห่งพระคริสต์ (Order of Christ) ในปี ค.ศ. 1983 ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลก[29]

ด้วยพระเจ้าฟิลิปได้ทรงขู่คุกคามด้วยกำลังทางทหารต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิบัติตามความประสงค์ของพระองค์ สุดท้ายสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ทรงยอมตกลงที่จะยุบคณะโดยอ้างถึงเรื่องอื้อฉาวที่ได้จากการรับสารภาพ ณ ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งเวียนน์ในปี ค.ศ. 1312 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประการชุดสารตราพระสันตะปาปาซึ่งประกอบด้วย '"Vox in excelso" ซึ่งเป็นการยุบคณะอย่างเป็นทางการ และ "Ad providam" ซึ่งเป็นการส่งมอบทรัพย์สินของเทมพลาร์ทั้งหมดให้แก่ฮอสปิทัลเลอร์[30]

สำหรับผู้นำของคณะอย่างผู้นำอาวุโส ฌักแห่งมอแล ผู้ซึ่งรับสารภาพภายใต้ทัณฑ์ทรมานได้ถอนถ้อยแถลงของเขา เพื่อนของเขา เชอฟเฟรย์แห่งชาร์เนย์ (Geoffrey de Charney) ผู้ตั้งกฎแห่งนอร์ม็องดี ได้ทำตามตัวอย่างของฌักและยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขา ทั้งคู่ถูกประกาศว่ามีความผิดฐานเป็นพวกนอกรีตและตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นที่หลักประหารในปารีสในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1314 ฌักยังคงไม่ยอมจำนนจนถึงที่สุด และร้องขอให้มัดเขาในทิศทางที่จะหันหน้าสู่มหาวิหารน็อทร์-ดามและมัดมือเขาไว้ในท่าของผู้กำลังอธิษฐาน[31] ตามตำนานกล่าวว่า เขาได้ตะโกนเรียกสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์และพระเจ้าฟิลิปจากกองไฟว่าจะได้พบเขาในเร็ววันก่อนจะได้พบพระเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์สวรรคตในหนึ่งเดือนให้หลัง และพระเจ้าฟิลิปสวรรคตจากอุบัติเหตุจากการล่าสัตว์ในสิ้นปีนั้น[32]

เมื่อผู้นำคนสุดท้ายของคณะได้จากไป เหล่าเทมพลาร์ทั่วทั้งยุโรปบ้างการถูกจับและสอบสวนภายใต้การสืบสวนในนามสมเด็จพระสันตะปาปา (ไม่มีการพิสูจน์ว่ามีความผิด) บ้างกับไปเข้าร่วมกับคณะทหารอื่นอย่างอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หรือปลดประจำการและได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างสงบในวันที่เหลืออยู่ บางคนอาจหนีไปยังพื้นที่อื่นที่นอกเหนือการควบคุมของสมเด็จพระสันตะปาปา เช่น สกอตแลนด์ หรือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนนอกศาสนา ส่วนองค์กรเทมพลาร์ในประเทศโปรตุเกสเพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคณะอัศวินเทมพลาร์ไปเป็นคณะอัศวินแห่งพระคริสต์[33]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัศวินเทมพลาร์ http://journals.sfu.ca/loading/index.php/loading/a... http://urbanlegends.about.com/cs/historical/a/frid... http://www.freemasonrytoday.com/19/p07.php http://books.google.com/books?id=GEu58-OIT1MC&lpg=... http://www.imdb.com/title/tt0843844/ http://www.sacred-texts.com/sro/hkt/index.htm http://www.slate.com/id/2140307/ http://www.snopes.com/luck/friday13.asp http://www.templarhistory.com/praise.html http://www.uthscsa.edu/mission/spring96/shroud.htm