องค์กร ของ อัศวินเทมพลาร์

สิ่งก่อสร้างของเทมพลาร์ที่แซ็งมาร์แต็งเดช็อง (Saint Martin des Champs), ฝรั่งเศส

เทมพลาร์เป็นคณะนักบวชอารามิกคล้ายกับคณะซิสเตอร์เชียนของแบร์นาร์ ซึ่งสามารถพิจารณาเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรแรกในยุโรป[34] โครงสร้างขององค์กรมีโซ่แห่งอำนาจที่แข็งแกร่ง ประเทศหลัก ๆ ที่มีเทมพลาร์ (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อารากอง, โปรตุเกส, ปัวตู, ปูเกลีย, เยรูซาเลม, ตริโปลี, แอนติออก, อ็องฌู, ฮังการี, และ โครเอเชีย)[35] แต่ละประเทศจะมีผู้บังคับการของคณะสำหรับเทมพลาร์ในแต่ละพื้นที่ ผู้บังคับการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ผู้นำสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ผู้คอยควบคุมทั้งกองกำลังทางทหารของคณะในฝั่งตะวันออกและทางการเงินที่ถือครองอยู่ในฝั่งตะวันตก จำนวนสมาชิกในองค์กรไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการประมาณกันว่าช่วงที่คณะขึ้นสู่จุดสูงสุดน่าจะมีสมาชิกราว 15,000 ถึง 20,000 คน ซึ่งหนึ่งในสิบเป็นอัศวิน[36][20]

แบร์นาร์แห่งแกลร์โวซ์และผู้นำคนแรก อูกแห่งปาแย็ง เป็นผู้ได้กำหนดระเบียบความประพฤติของคณะแห่งพระวิหารหรือที่รู้จักกันในนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่า Latin Rule (วินัยฉบับละติน) มีทั้งสิ้น 72 ข้อที่จำกัดความถึงพฤติกรรมในอุดมคติของอัศวิน เช่น ชนิดของเครื่องแต่งกายที่สวมใส่และจำนวนม้าที่สามารถมีได้ อัศวินจะรับประทานอาหารในความเงียบ รับประทานเนื้อสัตว์ไม่เกินสามมื้อต่อสัปดาห์ และไม่แตะต้องตัวสตรีใดแม้แต่สมาชิกในครอบครัวของตนเอง ผู้นำของคณะได้รับ "ม้า 4 ตัว, และอนุศาสนาจารย์ 1 คนและเสมียน 1 คน กับม้า 3 ตัว, และทหาร 1 คนกับม้า 2 ตัว, และสุภาพบรุษรับใช้สำหรับถือโล่ห์และหอกของเขา, กับม้า 1 ตัว"[37] เมื่อคณะโตขึ้น แนวทางจำนวนมากก็ถูกเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่มีเพียง 72 ข้อเป็นหลายร้อยข้อในท้ายที่สุด[38][39]

หนึ่งในหลาย ๆ ธงที่ได้รับรายงานว่าเป็นธงของอัศวินเทมพลาร์

ระดับในเทมพลาร์แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ อัศวินขุนนาง ทหารที่มีชาติกำเนิดต่ำกว่า และนักบวช อัศวินต้องเป็นการสืบเชื้อสายและสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว พวกเขามีอุปกรณ์ครบครันอย่างทหารม้าเกราะหนักกับม้าสามหรือสี่ตัวและผู้ติดตามหนึ่งถึงสองคน ผู้ติดตามปกติจะไม่ใช่สมาชิกของคณะแต่จะเป็นคนนอกที่ได้รับการว่าจ้างมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในคณะระดับต่ำกว่าอัศวินจะเป็นทหารซึ่งมาจากคนชั้นที่ต่ำกว่าในสังคม[40] พวกเขามีอุปกรณ์อย่างทหารม้าเกราะเบากับม้าหนึ่งตัว[41] หรือรับผิดชอบในหน้าที่อื่น เช่น บริหารทรัพย์สินของคณะหรือ ทำงานรับใช้หนัก ๆ และค้าขาย อนุศาสนาจารย์ซึ่งเป็นระดับที่เหลือ ผู้บวชเป็นบาทหลวงมีหน้าที่ดูแลความต้องการทางจิตวิญญาณของเทมพลาร์[42]

อัศวินสวมเสื้อคลุมที่มีรูปกางเขนสีแดงและเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว ทหารสวมเสื้อชั้นนอกสีดำมีกางเขนสีแดงทั้งด้านหน้าและด้านหลังและเสื้อคลุมไร้แขนสีดำหรือสีน้ำตาล[43][44] เสื้อคลุมไร้แขนสีขาวถูกมอบหมายให้เทมพลาร์ใช้ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ในปี ค.ศ. 1129 และกางเขนน่าจะเพิ่มเข้าไปบนเสื้อผ้าเมื่อเริ่มสงครามครูเสดครั้งที่ 2ในปี ค.ศ. 1147 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส และขุนนางอื่น ๆ ได้เข้าร่วมประชุมของเหล่าเทมพลาร์ชาวฝรั่งเศสที่กองบัชญาการใหญ่ของพวกเขาใกล้กรุงปารีส[45][46][47] ตามกฎแล้ว อัศวินต้องสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวตลอดเวลา ถึงขั้นห้ามดื่มกินจนกว่าจะสวมเสื้อคลุมเสียก่อน[48]

การเข้าเป็นสมาชิก[49] หรือที่รู้จักกันในชื่อการต้อนรับ (receptio) ในคณะ เป็นพันธะที่ลึกซึ้งและพิธีการที่เคร่งขรึม ถึงกับทำลายขวัญบุคคลภายนอกจากการเข้าร่วมพิธีการซึ่งกระตุ้นข้อสงสัยของพนักงานสอบสวนในสมัยยุคกลางระหว่างการสอบสวนในภายหลัง

สมาชิกใหม่ต้องยกทรัพย์สมบัติและสินค้าทั้งหมดแก่ภาคีอย่างเต็มใจและให้คำสัตย์สาบานแห่งความยากจน บริสุทธิ์ กตัญญู และการเชื่อฟัง[50] พี่น้องจำนวนมากเข้าร่วมตลอดทั้งชีวิต แต่ก็มีบางคนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเพียงช่วงเวลาหนึ่ง บางครั้งชายผู้แต่งงานแล้วได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมถ้าภรรยายินยอม[44] แต่เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมเสื้อคลุมสีขาว[51]

กางเขนสีแดงที่เทมพลาร์ใช้บนเสื้อคลุมยาวเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมาน และการตายในการรบถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากและจะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน[52] มีกฎสำคัญที่นักรบของคณะไม่ควรยอมแพ้เว้นแต่ธงเทมพลาร์ได้ลดธงลงมา ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากพวกเขาได้รวมกลุ่มกันใหม่กับคณะทหารคริสตชนอื่น เช่น อัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หลังจากธงทั้งหมดได้ลดลงเท่านั้นพวกเขาจึงยอมออกจากสนามรบ[53] ด้วยหลักการที่เด็ดเดี่ยวพร้อมกับชื่อเสียงของความกล้าหาญ การฝึกฝนอย่างดี และสวมเกราะหนัก ทำให้เทมพลาร์เป็นหนึ่งในกองกำลังที่น่ากลัวที่สุดในสมัยกลาง[54]

ผู้นำ

ดูบทความหลักที่: ผู้นำของอัศวินเทมพลาร์

ผู้นำ (Grand Master) เป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะ ตำแหน่งนี้เป็นไปตลอดชีวิต ผู้นำคนแรกคืออูกแห่งปาแย็ง ผู้ก่อตั้งคณะในปี ค.ศ. 1118–1119 แต่เมื่อพิจารณาลักษณะการต่อสู้ของคณะแล้วผู้ครองตำแหน่งมักถือครองเพียงช่วงสั้น ๆ เกือบทั้งหมดของผู้นำเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งและหลายคนเสียชีวิตระหว่างการรบ เช่น ในระหว่างสงครามชิงเมืองอัสคาลอนในปี ค.ศ. 1153 เบบาร์ดแห่งตรองเมอเลย (Bernard de Tremelay) ได้นำเทมพลาร์ 40 คนล่วงเข้าไปในกำแพงเมืองแต่กองทัพครูเสดที่เหลือไม่ได้ติดตามเข้าไป เหล่าเทมพลาร์รวมถึงผู้นำถูกล้อมจับและประหารโดยการตัดคอ[55] ผู้นำเทมพลาร์ เชราร์ดแห่งรีเดอฟอร์ด (Gérard de Ridefort) ถูกประหารโดยการตัดคอโดยศอลาฮุดดีนในปี ค.ศ. 1189 ที่สงครามชิงเมืองเอเคอร์

ผู้นำกำกับดูแลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะ ประกอบไปด้วยการรณรงค์ทางทหารในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และในยุโรปตะวันออก และธุรกิจการเงินและธุรกิจการค้าของเทมพลาร์ยุโรปตะวันตก ผู้นำบางคนยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสนามรบ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก ความผิดพลาดหลายครั้งของเชราร์ดซึ่งเป็นผู้นำในการรบมีส่วนทำให้พ่ายแพ้อย่างยับเยินที่ยุทธการฮัททิน ผู้นำคนสุดท้ายคือฌักแห่งมอแล ถูกเผาที่หลักประหารในปารีสในปี ค.ศ. 1314 โดยคำสั่งพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส[28]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัศวินเทมพลาร์ http://journals.sfu.ca/loading/index.php/loading/a... http://urbanlegends.about.com/cs/historical/a/frid... http://www.freemasonrytoday.com/19/p07.php http://books.google.com/books?id=GEu58-OIT1MC&lpg=... http://www.imdb.com/title/tt0843844/ http://www.sacred-texts.com/sro/hkt/index.htm http://www.slate.com/id/2140307/ http://www.snopes.com/luck/friday13.asp http://www.templarhistory.com/praise.html http://www.uthscsa.edu/mission/spring96/shroud.htm