ครองราชย์ ของ เยกาเจรีนามหาราชินี

พระปรมาธิไภยย่อ

การต่างประเทศ

ระหว่างที่ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตรัสเซียออกไปทางทิศใต้และตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยการยึดรวมเอาโนโวรอสซิยา (รัสเซียใหม่), ไครเมีย, คอเคซัสตอนเหนือ, ยูเครนฝั่งตะวันออก, เบลารุส, ลิทัวเนีย และคูร์แลนด์ โดยที่ดินแดนเหล่านี้ส่วนมากเคยเป็นดินแดนของสองชาติหลักๆ คือ จักรวรรดิออตโตมัน และเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ที่ต่างก็กล่าวว่าพระนางได้ผนวกดินแดนเข้าสู่จักรวรรดิของพระนางกว่า 520,000 ตารางกิโลเมตร

รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของพระนางนามว่า นิกิตา อิวาโนวิช ปายิน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1779 - 1781) เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินพระราชหฤทัยในราชการของพระนางเจ้าแคทเธอรีนตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว รัฐบุรุษผู้ฉลาดหลักแหลมผู้นี้ทุ่มเทแรงกายและทรัพย์สินหลายล้านรูเบิลไปกับการก่อตั้ง ข้อตกลงเหนือ (Northern Accord) ระหว่างรัสเซีย, ปรัสเซีย, โปแลนด์ และสวีเดน เพื่อเป็นการตอบโต้อิทธิพลจากสัมพันธภาพระหว่างราชวงศ์บูร์บงฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กออสเตรีย ต่อมาเมื่อความพยายามครั้งนี้ของเขาประสบความล้มเหลว พระนางเจ้าแคทเธอรีนก็ลดบทบาทและความสนพระราชหฤทัยในตัวของปายินลง ซึ่งพระนางแทนที่เขาด้วยอิวาน ออสเตียร์มัน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1781 - 1797)

พระนางเจ้าทรงเห็นชอบสนธิสัญญาการค้ากับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในปี ค.ศ. 1766 แต่ทรงล้มเลิกการเป็นพันธมิตรทางการทหารต่อกัน[12] แม้ว่าจะทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรของอังกฤษ แต่ก็ทรงระมัดระวังอำนาจทางการเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้นของอังกฤษจากชัยชนะในสงครามเจ็ดปี ซึ่งสั่นคลอนดุลยภาพแห่งอำนาจของชาติในทวีปยุโรป

สงครามรัสเซีย-ตุรกี

ภาพวาดขณะทรงม้าในฉลองพระองค์เครื่องแบบกรมทหารเปรโอบราเซนสกี

ใขณะที่จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชทรงทำสงครามได้รับดินแดนเพียงบางส่วนทางตอนใต้ที่ติดกับทะเลดำในการบุกอาซอฟ พระนางแคทเธอรีนทรงประสบผลสำเร็จในการยึดครองดินแดนทางตอนใต้ ทำให้รัสเซียยกสถานะของตนเป็นชาติมหาอำนาจหลักในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้จากการทำสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่หนึ่งกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นการพ่ายแพ้มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตุรกี เช่นใน สมรภูมิเชสมา (5 - 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1770) และ สมรภูมิคากูล (21 กรกฎาคม ค.ศ. 1770)

ชัยชนะของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสามารถเปิดชายแดนเข้าไปยังทะเลดำและสามารถไปยึดเอาบริเวณที่ปัจจุบันเป็นตอนใต้ของยูเครนได้ ซึ่ง ณ ที่นั้นเองที่รัสเซียตั้งเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า โอเดสซา, นีโคลาเยฟ, เยกาเตริโนสลาฟ (แปลตรงว่า "เกียรติยศแห่งแคทเธอรีน" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ดนีโปรเปตรอฟสค์) และเคอร์สัน ต่อมาสนธิสัญญาคูชุคไคนาร์จีถูกลงนามในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1774 ทำให้รัสเซียได้ดินแดนจากออตโตมันเพิ่มเติม สนธิสัญญายังอนุญาตให้รัสเซียสามารถเดินเรือทั้งพลเรือและทหารในทะเลอะซอฟได้ และยังตั้งให้รัสเซียเป็นผู้ปกป้องชาวคริสต์นิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ในจักรวรรดิออตโตมัน การทำสนธิสัญญาในครั้งนี้ยังรวมเอาไครเมียมาเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซียอีกด้วย

พระนางแคทเธอรีนผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียในปี ค.ศ. 1783 เป็นเวลาเก้าปีหลังจากที่อาณาจักรข่านไครเมียได้รับเอกราชบางส่วนจากออตโตมัน ซึ่งเป็นผลมากจากการที่รัสเซียสามารถทำสงครามเอาชนะพวกเติร์กในสงครามรัสเซีย-ตุรกีได้ พระราชวังหลวงของข่านตกเป็นของชาวรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1786 พระนางแคทเธอรีนได้ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมชัยชนะขึ้นในไครเมียซึ่งกระตุ้นให้เกิดสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สองตามมา

จักรวรรดิออตโตมันเริ่มสงครามกับรัสเซียอีกครั้งในสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สอง (ค.ศ. 1787 - 1792) และจบลงด้วยสนธิสัญญาจาสซี (ค.ศ. 1792) ซึ่งให้สิทธิ์โดยธรรมแก่รัสเซียในการปกครองไครเมียและภูมิภาคเยดิซาน ทำให้แม่น้ำนีสเตอร์กลายเป็นพรมแดนระหว่างสองจักรวรรดิ

ความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตก

ภาพการ์ตูนล้อเลียนในปี ค.ศ. 1781 วาดโดยชาวอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างพระนางแคทเธอรีน (ด้านขวาของภาพ, ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรียและฝรั่งเศส) กับตุรกี

พระนางแคทเธอรีนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประมุขผู้ทรงภูมิธรรมมาอย่างยาวนาน พระองค์ทรงนำรัสเซียเข้าสู่บทบาทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจจะหรือได้นำไปสู่การทำสงครามแล้ว และบทบาทนี้เองที่อังกฤษได้ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระองค์ทรงวางจนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในสงครามสืบราชบัลลังก์บาวาเรีย (ค.ศ. 1778 - 1779) ระหว่างรัฐเยอรมันปรัสเซียกับออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1780 พระองค์ทรงสถาปนาสันนิบาตกองกำลังไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (League of Armed Neutrality) เพื่อใช้เป็นกองกำลังให้ความคุ้มครองเรือสินค้าที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจากราชนาวีอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกัน

ช่วงปี ค.ศ. 1788 - 1790 รัสเซียทำสงครามรัสเซีย-สวีเดน สงครามครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่พระญาติของพระนางแคทเธอรีน พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน ผู้ที่ทรงคาดการณ์ว่าจะสามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้โดยง่าย ยังทรงเกี่ยวข้องอยู่กับการทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันและหวังว่าจะทรงสามารถบุกโจมตีกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้โดยตรง แต่กองทัพเรือรัสเซียในน่านน้ำทะเลบอลติกก็สามารถเอาชนะกองทัพเรือสวีเดนได้ในสมรภูมิฮอกแลนด์ ค.ศ. 1788 กองทัพสวีเดนจึงประสบความล้มเหลวในการบุก เดนมาร์กประกาศสงครามต่อสวีเดนในปีเดียวกัน (สงครามเธียเตอร์) ภายหลังได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพเรอรัสเซีย ณ สมรภูมิสเวนสกุนด์ในปี ค.ศ. 1790 คู่สงครามได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาเวเรเล (14 สิงหาคม ค.ศ. 1790) ซึ่งคืนดินแดนที่สามารถยึดมาได้ทั้งหมดแก่เจ้าของเดิมและเป็นเครื่องยืนยันสนธิสัญญาเตอร์คู สันติภาพเกิดขึ้นเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1792

การปักปันโปแลนด์

จักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 โดยโยฮัน บัปติสต์ ฟอน ลัมปิ ผู้อาวุโส

ในปี ค.ศ. 1764 พระนางทรงเลือกสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี อดีตคนรักของพระองค์ ขึ้นครองราชบัลลังก์โปแลนด์ แม้ว่าแนวคิดการปักปันโปแลนด์นี้จะถูกริเริ่มโดยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย แต่พระนางแคทเธอรีนก็ทรงรับบทบาทหลักในการแบ่งส่วนดินแดนนี้ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1790 ในปี ค.ศ. 1768 พระองค์ทรงเฉลิมพระอิสริยยศเป็นองอธิปัตย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดกบฏสหพันธ์บาร์ (Bar Confederation; ค.ศ. 1768 - 1772) ซึ่งเป็นความเกลียดชังและการลุกฮือต่อต้านรัสเซียในโปแลนด์ ต่อมาทรงปราบปรามและบดขยี้กลุ่มกบฏแล้วทรงบีบบังคับให้โปแลนด์-ลิทัวเนียกลับมาใช้ระบอบเครือจักรภพ (Rzeczpospolita) ซึ่งทำให้รัฐบาลโปแลนด์ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยจักรวรรดิรัสเซียผ่านทางคณะมนตรีถาวรภายใต้การกำกับดูแลของเอกอัครราชทูตและราชทูตส่วนพระองค์

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 พระองค์ทรงปฏิเสธแนวคิดและหลักการมากมายจากยุคเรืองปัญญาซึ่งครั้งหนึ่งทรงโปรดปราน ทรงเกรงว่ารัฐธรรมนูญแห่งโปแลนด์ (ค.ศ. 1792) อาจจะนำไปสู่การฟื้นคืนอำนาจของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย นอกจากนี้ยังทรงเกรงอีกว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นนี้จะกลายมาเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงของระบอบกษัตริย์ในทวีปยุโรป พระองค์จึงทรงเข้าแทรกแซงโปแลนด์โดยให้การสนับสนุนกลุ่มชาวโปแลนด์ที่ต่อต้านการปฏิรูปที่เรียกว่า สมาพันธ์ทาร์กอวิซา (Targowica Confederation) ต่อมารัสเซียได้ปราบปรามกลุ่มผู้ภักดีต่อโปแลนด์-ลิทัวเนียในเหตุการณ์การลุกฮือโคสซิอุสซ์โค ค.ศ. 1794 ทำให้รัสเซียสามารถเข้าปักปันโปแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์ และแบ่งแยกดินแดนของเครือจักรภพร่วมกับปรัสเซียและออสเตรียในปี ค.ศ. 1795

ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

ในภาคตะวันออกไกล รัสเซียกระตือรือร้นอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องขนสัตว์บนคาบสมุทรคัมชัตคาและบนเกาะคูริล กระตุ้นให้รัสเซียมีความสนใจในการค้าในทางใต้กับญี่ปุ่นเพื่อสรรหาวัตถุดิบและอาหาร ในปี ค.ศ. 1783 พายุได้พัดเรือของกัปตันไดโคคุยะ โคดะยู ล่มในทะเลจนเขาลอยมาขึ้นฝั่งบนเกาะอะลูเชียนซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นดินแดนของรัสเซีย ทางการท้องถิ่นของรัสเซียช่วยไดโคคุยะและคณะของเขาไว้ รัฐบาลรัสเซียจึงตัดสินใจใช้เขาเป็นราชทูตติดต่อทำการค้ากับญี่ปุ่น ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1791 พระนางแคทเธอรีนพระราชทานโอกาสให้ไดโคคุยะเข้าเฝ้า ณ พระราชวังทีซาร์สกี ซีโล (Tsarskoye Selo) ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 รัฐบาลรัสเซียส่งคณะทูตไปเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นภายใต้การนำของอดัม แลกซ์แมน รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะให้การตอนรับคณะทูตแต่การเจรจาประสบความล้มเหลว

การธนาคารและการเงิน

ในปี ค.ศ. 1768 ธนาคารแอสไซเนชัน (Assignation Bank) ได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์ธนบัตรรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก ธนาคารเปิดทำการที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโกในปี ค.ศ. 1768 หลังจากนั้นจึงขยายไปตามเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิ การพิมพ์ธนบัตรนี้ถูกจัดทำขึ้นจากค่าใช้จ่ายในราคาเดียวกับธนบัตรโดยถูกชำระในรูปของเงินตราที่ทำมาจากทองแดง การเกิดขึ้นของธนบัตรรูเบิลในลักษณะนี้มีความจำเป็นอย่างมากต่อรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหาร ซึ่งนำมาสู่การคลาดแคลนโลหะเงินในท้องพระคลังหลวง เพราะการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เงินตราในรูปของโลหะเงินและโลหะทองคำเกือบทั้งหมด ธนบัตรรูเบิลจึงถูกใช้งานอย่างทัดเทียมกับรูเบิลที่เป็นโลหะเงิน นอกจากนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องสำหรับเงินทั้งสองรูปแบบอีกด้วย ธนบัตรรูเบิลประเภทนี้ถูกใช้งานไปจนถึงปี ค.ศ. 1849

ศิลปะและวัฒนธรรม

ดูบทความหลักที่: ยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย

พระนางแคทเธอรีนมีพระเกียรติยศอย่างมากจากการทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วงการศิลปะ, วรรณกรรม และการศึกษา พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจ ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของพระราชวังฤดูหนาว, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นอาคารจัดแสดง ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการสะสมผลงานศิลปะส่วนพระองค์ แล้วด้วยการยุยงส่งเสริมของก้นกุฏิคนคนสนิท พระนางได้พระราชนิพนธ์ตำราเรียนพระราชทานให้ใช้สำหรับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน ซึ่งพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดของนักปรัชญานามว่า จอห์น ล็อก เป็นหลัก และยังทรงสถาปนาสถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) อันโด่งดังในปี ค.ศ.1764 ขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เหล่าธิดาของขุนนางอีกด้วย

พระนางพระราชนิพนธ์บันเทิงคดี, นวนิยาย และบันทึกความจำไว้มากมาย ในขณะเดียวกันก็ทรงปลูกฝังแนวคิดของวอลแตร์, ดีเดอโร และดาล็องแบร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นนักประพันธ์สารานุกรม (Encyclopédist) ชาวฝรั่งเศสผู้ปะติดปะต่อพระเกียรติยศของพระนางในเวลาต่อมา ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในยุคสมัยนั้น เช่น อาร์เธอร์ ยัง และ ฌักส์ เน็กแกร์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชาวต่างประเทศในสมาคมเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Society) ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากพระราชดำริของพระนางในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค.ศ. 1765 และพระนางยังได้ทรงเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์อย่าง เลออนฮาร์ด ออยเลอร์, ปีเตอร์ ซีมอน พาลลัส จากเบอร์ลิน และ อันเดอร์ส โจวัน เลกเซลล์ จากสวีเดน มาสู่เมืองหลวงของรัสเซีย

พระนางยังทรงมีความสนิทสนมกับวอลแตร์ ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 15 ปี นับตั้งแต่ที่พระนางแคทเธอรีนเสด็จขึ้นครองราชย์ไปจนถึงการถึงแก่อสัญกรรมของวอลแตร์ในปี ค.ศ. 1778 วอลแตร์สรรเสริญพระนางว่าทรงเป็น "ดวงดาราแห่งทิศอุดร" และ "พระนางเซมิรามิสแห่งรัสเซีย" (เป็นการอ้างถึงพระนางเซมิรามิส กษัตรีย์แห่งบาบิโลเนียในตำนาน ซึ่งวอลแตร์ได้ตีพิมพ์เรื่องราวโศกนาฏกรรมของพระนางในปี ค.ศ. 1768) และแม้ว่าวอลแตร์จะมิเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระนางแคทเธอรีนแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อทรงทราบข่าวการถึงแกอสัญกรรมของเขา พระนางแคทเธอรีนก็ทรงรู้สึกอาลัยอย่างขมขื่น ทรงได้รับชุดหนังสือสะสมของวอลแตร์มาจากทายาทของเขา แล้วมีพระราชประสงค์ให้เก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ในหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย

เป็นเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1762 พระนางแคทเธอรีนทรงทราบข่าวการคุกคามของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะให้มีการหยุดตีพิมพ์ "อองซีโกลเปดี" อันโด่งดังด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหานอกศาสนา พระนางจึงมีพระราชประสงค์ให้ดีเดอโรมาพำนักและประพันธ์งานของเขาในรัสเซีย ภายใต้การปกป้องของพระนาง

สี่ปีถัดมาในปี ค.ศ. 1766 พระนางทรงพยายามที่จะก่อตั้งสภานิติบัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดแห่งยุคเรืองปัญญาที่ทรงศึกษามาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ทรงเรียกที่ประชุม ณ กรุงมอสโก โดยองค์รวมว่า "คณะกรรมาธิการใหญ่" ซึ่งเปรียบเสมือนกับรัฐสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ประกอบไปด้วยสมาชิก 652 คนจากทุกชนชั้น (ข้าราชการ, ขุนนาง, กระฎุมพี และชาวนา) และจากนานาประเทศ คณะกรรมาธิการใหญ่นี้มีหน้าที่พิจารณาถึงสิ่งที่จักรวรรดิรัสเซียต้องการและสิ่งที่สนองความต้องการนั้น พระจักรพรรดินีนาถทรงตระเตรียม "ข้อแนะนำสำหรับแนวทางแห่งที่ประชุม" (นาคาซ) ซึ่งช่วงชิง (ทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมา) เอานักปรัชญาจากยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะมงแต็สกีเยอ และซีจักรพรรดิ เบ็คคาเรีย

เนื่องด้วยหลักการทางประชาธิปไตยทำให้ที่ปรึกษาผู้สุขุมและมีประสบการณ์กว่าของพระองค์เกรงกลัว พระนางเลี่ยงที่จะประกาศบังคับใช้แนวคิดต่างๆ ในทันที และภายหลังที่เหนี่ยวรั้งญัตติการประชุมมากกว่า 200 ครั้ง คณะกรรมาธิการใหญ่ก็ยุบสลายลงไปโดยปริยาย มิได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกเหนือไปจากการเป็นรัฐบาลที่เพ้อฝันแต่ในทฤษฎีต่างๆ

ภาพการเปิดทำการของศิลป์สมาคมแห่งรัสเซีย โดย วาเลรี จาคอบี

แม้กระนั้นก็ตาม พระนางทรงเริ่มออกราชบัญญัติลงในนาคาซของพระองค์เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในปี ค.ศ. 1775 ทรงออกธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนจังหวัดแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ธรรมนูญนี้เป็นความพยายามที่จะปกครองรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเพิ่มจำนวนประชากรและแบ่งแยกจักรวรรดิออกเป็นจังหวัดและเขตต่างๆ ในช่วงท้ายของการครองราชย์ จักรวรรดิรัสเซียมีจังหวัดต่างๆ 50 จังหวัด และเขตต่างๆ เกือบ 500 เขต ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของจำนวนข้าราชการของประเทศ และใช้จ่ายงบประมาณมากกว่ารัฐบาลท้องถื่นแบบก่อนหน้าถึง 6 เท่า ในปี ค.ศ. 1785 ทรงหารือกับขุนนางเกี่ยวกับการพระราชทานกฏบัตรแก่ขุนนางเพื่อเพิ่มอำนาจและอิทธิพลของเจ้าของที่ดิน ซึ่งขุนนางในแต่และเขตจะทำการเลือกหัวหน้าคณะขุนนางในนามของจักรพรรดินีนาถ รับผิดชอบเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเป็นกังวลโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในปีเดียวกันนั้น พระนางทรงออกกฏบัตรแห่งเมือง ซึ่งเป็นการจำแนกประชาชนออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อจำกัดอำนาจของขุนนางและเพิ่มพูนชนชั้นกลาง นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1781, ยังทรงออกราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือสินค้าและราชบัญญัติว่าดวยการค้าเกลือ, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการตำรวจ ค.ศ. 1782 และธรรมนูญว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ค.ศ. 1786 ในปี ค.ศ. 1777 พระนางทรงอธิบายกับวอลแตร์ว่านวัตกรรมทางกฎหมายของพระนางภายในจักรวรรดิรัสเซียอันล้าหลังนั้นดำเนินไปแบบ "ทีละเล็กทีละน้อย"

ระหว่างรัชสมัยของพระองค์ ชาวรัสเซียศึกษาและรับเอาอิทธิพลยุคคลาสสิกและอิทธิพลยุโรปซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย กา-วริลา เดร์ชาวิน, เดนิส ฟอนวิซิน และอิปปอลิต บอกดานอวิช ได้วางรากฐานให้แก่เหล่านักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะสำหรับ อเล็กซานเดอร์ พุชกิน ต่อมาพระนางแคทเธอรีนได้ทรงกลายเป็นผู้อุปถัมภ์องค์สำคัญของวงการอุปรากรรัสเซีย

ต่อมาเมื่ออเล็กซานเดอร์ ราดิชเชฟ ตีพิมพ์หนังสือ การเดินทางจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสู่มอสโก ในปี ค.ศ. 1790 (หนึ่งปีหลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส) และกล่าวเตือนถึงการก่อจลาจลจากสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมอันน่าสังเวชของเหล่าชาวนาที่ตกเป็นข้าติดที่ดิน พระนางแคทเธอรีนจึงทรงเนรเทศเขาไปยังไซบีเรีย

การศึกษา

เยกาเตรินา วอรอนสโตวา-ดาชโกวา พระสหายคนสนิทและบุคคลสำคัญจากยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย

พระนางแคทเธอรีนทรงรับเอาปรัชญาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกไว้แนบพระราชหฤทัย และประสงค์จะให้ในรัสเซียมีบุคคลที่มีแนวความคิดเดียวกับพระองค์รายล้อมอยู่รอบพระวรกาย[13] ทรงเชื่อว่าจะสร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' (new kind of people) ขึ้นมาได้ด้วยการปลูกฝังเยาวชนชาวรัสเซียตามแบบการศึกษาของยุโรป ทรงเชื่ออีกว่า ด้วยการศึกษาแบบนี้จะช่วยเปลี่ยนทั้งจิตและใจของชาวรัสเซียให้ห่างไกลจากความล้าหลัง ซึ่งก็หมายถึงการพัฒนาในแต่ละปัจเจกชนทั้งทางด้านสติปัญญาและคุณธรรม, มอบทั้งความรู้และทักษะควบคู่กัน รวมไปถึงการปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ[14]

พระนางทรงแต่งตั้ง อิวาน เบตสกอย เป็นที่ปรึกษาพระราชกิจด้านการศึกษา[15] ทรงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาในรัสเซียและประเทศอื่นๆ ผ่านทางอิวาน และยังทรงตั้งคณะกรรมาธิการอันประกอบไปด้วย ที.เอ็น. เทปลอฟ, ที. คอน คลิงสเตดต์, เอฟ.จี. ดิลธี และนักประวัติศาสตร์ จี. มุลเลอร์ ทรงปรึกษาหารือกับนักบุกเบิกทางการศึกษาชาวอังกฤษ โดยเฉพาะสาธุคุณแดเนียล ดูมาเรสก์ และ ดร. จอห์น บราวน์[16] ในปี ค.ศ.1764 พระนางทรงเชิญสาธุคุณแดเนียลมายังรัสเซียแล้วทรงแต่งตั้งเขาเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา คณะกรรมาธิการนี้ศึกษาถึงโครงการปฏิรูปที่ริเริ่มโดย ไอ.ไอ. ชูวาลอฟ ในรัชสมัยพระนางเจ้าเอลิซาเบธและจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 จากนั้นจึงส่งร่างคำแนะนำให้จัดตั้งระบบการศึกษาทั่วไปสำหรับชาวรัสเซียนิกายออร์โธด็อกซ์วัย 5 ถึง 18 ปี ยกเว้นกลุ่มทาสที่ไม่ถูกรวมเข้าไปด้วย[17] อย่างไรก็ตาม ร่างคำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นผลขึ้นจริงเนื่องจากคณะกรรมาธิการนิติบัญญัติขัดขว้างไว้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1765 สาธุคุณแดเนียลเขียนจดหมายถึง ดร. จอห์น บราวน์ เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาของคณะกรรมาธิการฯ และได้รับจดหมายตอบอันยาวเหยียดกลับมา จดหมายมีใจความถึงคำแนะนำอย่างคร่าวๆ และทั่วไปมากๆ สำหรับการปฏิรูปการศึกษาและสังคมในรัสเซีย ดร. จอห์น บราวน์ โต้แย้งว่าในประเทศประชาธิปไตย การศึกษาควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ข้อกำหนด ดร. จอห์นยังเน้นย้ำเป็นอย่างมากถึงความสำคัญของ "การศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับสตรีเพศ"; สองปีถัดมา พระนางเจ้าแคทเธอรีนจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อิวาน เบตสกอยร่าง "ระเบียบวาระทั่วไปสำหรับการศึกษาของเยาวชนทั้งสองเพศ" ขึ้นมา[18]ซึ่งระเบียบวาระฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการสรรค์สร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' ซึ่งจะถูกเลี้ยงดูให้ห่างไกลจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมอันล้าหลังของรัสเซีย[19] การจัดตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามอสโก (บ้านเด็กกำพร้ามอสโก) เป็นความพยายามแรกที่จะผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เริ่มต้นด้วยการรับเด็กผู้ยากไร้และเด็กที่เกิดจากการคบชู้ของบุพการีเข้ามาดูแลเพื่อที่จะให้การศึกษาในอย่างที่รัฐเห็นควรว่าเหมาะสม และเนื่องจากการที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านี้ไม่ได้ถูกก่อตั้งในฐานะองค์กรที่รัฐให้เงินสนับสนุน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของโอกาสและการทดลองริเริ่มด้วยทฤษฎีการศึกษาแนวใหม่ อย่างไรก็ตาม บ้านเด็กกำพร้ามอสโกกลับประสบความล้มเหลว โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากอัตราการตายของเด็กที่สูงเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่สามารถเติบใหญ่ไปเป็นกลุ่มบุคคลผู้เรืองปัญญาได้อย่างที่รัฐปรารถนาไว้[20]

บ้านเด็กกำพร้ามอสโกสถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) สถาบันสำหรับขุนนางสตรีแห่งแรกของรัสเซียและสถาบันอุดมศึกษาสำหรับสตรีแห่งแรกของยุโรป

ไม่นานหลังจากที่ทรงก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้ามอสโก พระนางแคทเธอรีนสถาปนาสถาบันสโมลนีย์เพื่อให้สตรีชนชั้นสูงได้รับการศึกษาและนำไปเผยแพร่แก่สตรีชาวรัสเซียคนอื่นๆ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสตรีแห่งแรกๆ ในรัสเซีย โดยในช่วงแรกสถาบันรับเฉพาะสตรีชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ในภายหลังก็ได้เปิดรับสตรีจากชนชั้นกระฎุมพีด้วยเช่นกัน[21] หญิงสาวที่เข้าศึกษาในสถาบันสโมลนีย์หรือที่เรียกว่า สโมลยานกี (Smolyanki) มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โง่เขลาและไม่รู้เรื่องราวภายนอกกำแพงสถาบันอยู่บ่อยครั้ง ภายในสถาบันสโมลนีย์ พวกเธอจะได้รับความรู้ขนานแท้เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส การดนตรี การเต้นรำ และความน่าเกรงขามของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสถาบันนี้เองมีกฎระเบียบและมารยาทที่ถูกยึดถืออย่างเคร่งครัด การวิ่งและการละเล่นต่างๆ ถูกห้าม นอกจากนี้ภายในตัวอาคารยังถูกรักษาให้มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำเนื่องจากเชื่อว่าอุณหภูมิที่สูงจนอุ่นเกินไปจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของร่างกาย[22]

ระหว่างปี ค.ศ. 1768 - 1774 กระบวนการจัดตั้งระบบสถานศึกษาแห่งชาติไม่มีความคืบหน้า[23] แต่พระนางแคทเธอรีนยังทรงพิจารณาในทฤษฎีการศึกษาและตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทรงปฏิรูปการศึกษาหลายครั้งแต่ยังคงไม่มีระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนนายร้อยทหารในปี ค.ศ. 1766 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปหลากหลายครั้ง โดยเริ่มจากการกำหนดให้เด็กเล็กที่มีอายุน้อยเข้ารับการศึกษาจนกระทั่งมีอายุรวม 21 ปี ทั้งนี้หลักสูตรทหารอาชีพที่ใช้ในโรงเรียนดังกล่าวมีเนื้อหาที่เปิดกว้างและบรรจุไว้หลากหลายวิชา อาทิเช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา จริยธรรม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงกฎหมายระหว่างประเทศ นโยบายในโรงเรียนนายร้อยทหารนี้เองที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยทหารเรือและในโรงเรียนวิศวกรรมและทหารปืนใหญ่ ภายหลังจากสงครามและความพ่ายแพ้ของปูกาชอฟ พระนางทรงวางพันธกิจในการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ใน กูเบอร์นียา (guberniya; ระบบการปกครองเทียบเท่า "จังหวัด" ในรัสเซีย โดยมีผู้ว่าราชการเป็นผู้ปกครอง) ผ่านคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม โดยมีผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากทั้งสามฐานันดรอิสระเข้าร่วมด้วย[24]

ในปี ค.ศ. 1782 พระนางทรงจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่รวบรวมมาจากประเทศต่างๆ[25] ระบบการศึกษาที่ถูกคิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ ฟรันซ์ เอพินุส มีความโดดเด่นอย่างมาก เขาชื่นชอบและรับเอารูปแบบการศึกษาสามขั้นของออสเตรีย อันได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็ก (trivial school) โรงเรียนขนาดกลาง (real school) และโรงเรียนขนาดใหญ่ (normal school) ในระดับหมู่บ้าน เมือง และเมืองเหลวงของจังหวัดตามลำดับ นอกจากนี้พระนางแคทเธอรีนยังทรงจัดตั้งคณะกรรมาธิการสถานศึกษาแห่งชาติภายใต้การนำของปีตอร์ ซาวาดอฟสกี เพิ่มเติมในคณะที่ปรึกษาอีกด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการนี้รับผิดชอบบริหารจัดการระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ฝึกฝนครูอาจารย์ และจัดทำแบบเรียน ดังนั้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจึงเกิดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1786[26] พระราชบัญญัติดังกล่าวจัดตั้งระบบสองขั้นแก่โรงเรียนประถมและโรงเรียนในเมืองหลวงของแต่ละกูเบอร์นียาที่เปิดรับนักเรียนจากทุกชนชั้นเสรี (ไม่รวมข้าแผ่นดิน [serfs]) นอกจากนี้พระราชบัญญัติยังวางกฎระเบียบในรายละเอียดเกี่ยวกับวิชาที่จะได้รับการสอนในทุกๆ ช่วงชั้นและรูปแบบในการสอนอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากแบบเรียนที่ได้รับการแปลจากคณะกรรมาธิการแล้ว ยังมีคู่มือสำหรับครูประกอบกันไว้อีกด้วย ซึ่งคู่มือนี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ รูปแบบวิธีการสอน รายวิชาที่จะต้องสอน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครู และการบริหารจัดการโรงเรียน[26]

การตัดสินจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นรุนแรง โดยอ้างว่าพระนางแคทเธอรีนทรงไม่สามารถจัดหาทุนเพื่อใช้สำหรับดำเนินงานด้านการศึกษาของพระองค์ได้อย่างเพียงพอ[27] สองปีหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้น สมาชิกของคณะกรรมาธิการแห่งชาติได้ไล่ตรวจสอบสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ตรวจสอบไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทั้งรัสเซียมากนัก และแม้ว่าเหล่าขุนนางให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันทางการศึกษาเหล่านี้มากพอสมควร แต่ก็ยังคงนิยมส่งลูกหลานของตนไปร่ำเรียนในสถาบันของเอกชนที่มีเกียรติมากกว่า เช่นเดียวกับชาวเมืองท้องถิ่นที่มีท่าทีต่อต้านโรงเรียนประถมและรูปแบบการเรียนสอน ประมาณการณ์กันว่าในช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ มีเด็กราว 62,000 คนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ 549 แห่ง โดยมีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวรัสเซียทั้งหมด[28]

การศาสนา

จักรพรรดิเยกาเจรีนาที่ 2 ในฉลองพระองค์ประจำชาติรัสเซีย

ความสนพระทัยอย่างมากต่อความเป็นรัสเซีย (รวมถึงศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย) ของพระนางแคทเธอรีนอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงไม่แยแสในกิจการด้านศาสนา พระนางยึดเอาที่ดินของฝ่ายศาสนจักรมาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับการศึกสงคราม ส่งผลให้บรรดาศาสนสถานต่าง ๆ ถูกทิ้งร้าง และเป็นการบีบบังคับให้เหล่านักบวชต้องหาทางรอดด้วยการทำเกษตรกรรม บ้างก็หารายได้จุนเจือจากค่าธรรมเนียมการประกอบพิธีบัพติศมาและพิธีอื่น ๆ นอกจากนี้บรรดาขุนนางชนชั้นสูงยังไม่นิยมเข้าโบสถ์กันอีกด้วย ยิ่งทำให้บทบาทของศาสนจักรเสื่อมลงยิ่งไปกว่าเดิม พระนางยังทรงห้ามปรามมิให้ผู้ที่คัดค้านในพระราโชบายของพระองค์ได้สร้างโบสถ์ต่าง ๆ และทรงปราบปรามพวกเคร่งศาสนา หลังจากเกิดกรณีตัวอย่างของความวุ่นวายในการปฏิวัติฝรั่งเศส[29]

อย่างไรก็ตาม พระนางทรงสนับสนุนและส่งเสริมศาสนาคริสต์ในพระราโชบายต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์ ทรงส่งเสริมการพิทักษ์และอุปถัมภ์คริสต์ศาสนิกชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกตุรกี ทั้งนี้พระนางทรงจำกัดสิทธิ์ของชาวคริสต์โรมันคาทอลิก (ยูกาซฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1769) โดยเฉพาะกับชาวโปแลนด์ และทรงพยายามที่จะสอดแทรกและขยายขอบเขตการควบคุมของรัฐเหนือชาวโปแลนด์ในช่วงต้นของการแบ่งแยกโปแลนด์อีกด้วย[30] ทั้งนี้ทั้งนั้น รัสเซียในสมัยพระนางแคทเธอรีนยังได้เอื้อเฟื้อที่ลี้ภัยและฐานการรวมกลุ่มแก่คณะเยสุอิต หลังจากที่มีการปราบปรามอย่างหนักเกือบทั่วทั้งยุโรปในปี ค.ศ. 1773[30]

อิสลาม

พระนางแคทเธอรีนทรงปฏิบัติต่อศาสนาอิสลามอย่างหลากหลายแนวทางตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1773 ชาวมุสลิมถูกห้ามปรามไม่ให้มีข้าทาสชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ไว้ในครอบครอง ทั้งยังถูกกดดันให้แปรเปลี่ยนมาเข้ารีตออร์โธดอกซ์ผ่านข้อเสนอทางด้านการเงิน[31] นอกจากนี้ยังทรงให้สัญญาแก่ชาวมุสลิมผู้เปลี่ยนศาสนาว่าจะทรงอนุญาตให้ครอบครองข้าทาสจากทุกศาสนาเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาทุกราย (ที่เป็นมุสลิม) อีกด้วย[32]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ยูดาห์

จักรวรรดิรัสเซียมักจะมองศาสนายูดาห์เป็นเอกเทศจากทุกศาสนา ชาวยิวในรัสเซียมีกฎหมายและระบบราชการแยกต่างหาก ถึงแม้รัฐบาลรัสเซียจะรับรู้มีประชากรชาวยิวอาศัยอยู่ในจักรวรรดิ แต่พระนางแคทเธอรีนและที่ปรึกษาของพระองค์ก็ไม่มีนิยามอย่างชัดเจนต่อชาวยิว ตลอดรัชกาลของพระนางแคทเธอรีน พระองค์ทรงมีนิยามที่หลากหลายสำหรับชาวยิว[33] ศาสนายูดาห์เป็นศาสนาขนาดเล็กและมีผู้นับถือน้อยในรัสเซีย จนกระทั่ง ค.ศ. 1792 เมื่อพระนางแคทเธอรีนเห็นชอบกับการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง ประชากรยิวจำนวนมากจากเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียเดิม จึงตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งถูกดูแลต่างหาก แยกจากศาสนาอื่น พระนางแคทเธอรีนทรงอุนญาติให้ชาวยิวอาศัยอยู่ต่างหากจากประชากรออร์ทอดอกซ์ทั่วไป โดยมีข้อแม้บางประการ เช่น การเก็บภาษีพิเศษสำหรับครอบครัวชาวยิว หากครอบครัวนั้นเข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์ ครอบครัวนั้นก็ไม่ต้องจ่ายภาษีพิเศษอีกต่อไป[34]ประชากรชาวยิวจำเป็นต้องจ่ายภาษีมากกว่าชาวออร์ทอดอกซ์ โดยจะจ่ายภาษีเป็นสองเท่าของภาษีชาวออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่ชาวยิวที่เข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพพ่อค้า หรือเป็นชาวนาอิสระได้เช่นกัน[35][36]

ในความพยายามที่จะนำชาวยิวเข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจรัสเซีย พระนางแคทเธอรีนทรงประกาศ "โองการนคร ค.ศ. 1782" (Charter of the Towns of 1782) ซึ่งมีผลรวมไปถึงชาวยิวด้วย[37]ชาวรัสเซียที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ไม่ค่อยพอใจชาวยิวนัก โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องเศรษฐกิจ พระนางแคทเธอรีนเองก็พยายามจะกีดกันชาวยิวจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบางประการ โดยการอ้างความเท่าเทียมทางการค้า ในปี ค.ศ. 1790 พระองค์ทรงห้ามชาวยิวทำอาชีพของชนชั้นกลางในกรุงมอสโก[38]

ในปี ค.ศ. 1785 พระนางแคทเธอรีนทรงประกาศว่าชาวยิวเป็นชาวต่างชาติ โดยทั้งนี้พระนางยังทรงรับรองสิทธิสำหรับชาวยิวในฐานะชาวต่างชาติ[39] นี้ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกที่ศาสนายูดาย์ที่จะคงอยู่ในรัสเซียตลอดยุคเรืองปัญญาของชาวยิว (Haskalah) พระนางยังทรงออกพระราชโอการว่าด้วยการปฏิเสธว่าชาวยิวมีสิทธิเทียบเท่าชาวออร์ทอดอกซ์และชาวรัสเซีย อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีมากขึ้นสำหรับผู้มีเชื้อสายยิวด้วย ในปี ค.ศ. 1794 พระนางแคทเธอรีนทรงประกาศว่าชาวยิวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับชาวรัสเซีย

ออร์โธดอกซ์รัสเซีย

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

แหล่งที่มา

WikiPedia: เยกาเจรีนามหาราชินี http://europeanhistory.about.com/od/catherinethegr... http://womenshistory.about.com/od/catherinegreat/p... http://www.datesofhistory.com/Catherine-II-the-Gre... http://www.imdb.com/title/tt0024962 http://www.imdb.com/title/tt0025746/ http://members.tripod.com/~Nevermore/CGREAT.HTM http://www.fordham.edu/halsall/mod/18catherine.htm... http://staff.gps.edu/mines/Age%20of%20Absol%20-%20... http://www.douglassmith.info/28/love-and-conquest.... http://web.archive.org/19981206155854/members.aol....