อาการของโรค ของ โรคลมชัก

รอยกัดบริเวณปลายลิ้นซึ่งเกิดระหว่างอาการชัก

ลักษณะเด่นของโรคลมชักคือ อาการชัก ที่เกิดขึ้นซ้ำๆในระยะยาว[23] อาการชักอาจแสดงออกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีความผิดปกติของสมองและอายุของผู้ป่วย[23][24]

อาการชัก

อาการชักที่พบได้บ่อยมากที่สุดประมาณ 60% คือการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ[24] โดยหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้เป็นการชักแบบทั่วไป[24]ซึ่งเกิดจากการที่สมองทั้งสองซีกส่งสัญญาณผิดปกติ อีกสองในสามเป็นผลจากการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดซึ่งเกิดจากการที่สมองเพียงซีกเดียวส่งสัญญาณผิดปกติ ซึ่งการชักแบบนี้อาจพัฒนาจนกระทั่งสมองทั้งสองซีกส่งสัญญาณที่ผิดปกติ[24] ที่เหลืออีก 40% จะเป็นอาการชักแบบไม่มีการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างของอาการชักประเภทนี้เรียกว่าชักเงียบ โดยจะแสดงอาการในรูปแบบของความรู้สึกตัวที่ลดลงและมักมีเวลานานประมาณ 10 วินาที[6][25]

การชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุด (partial seizure) มักมีอาการบางอย่างนำมาก่อนซึ่งอาการเหล่านั้นในทางการแพทย์เรียกว่าออร่า[26] ออร่าอาจมีผลกับประสาทรับรู้ (เช่นการมองเห็น การได้ยิน หรือ กลิ่น) จิตใจ ระบบประสาทส่วนกลาง หรือ ทางการทำงานของกล้ามเนื้อ[6] การกระตุกของกล้ามเนื้ออาจเริ่มที่กล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งและลามออกไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆโดยอาการเช่นนี้มีชื่อเรียกว่าแจ็คโซเนี่ยนมาร์ช[27] และอาจพบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติซ้ำๆเช่น การกระแทกลิ้น หรือ การที่ผู้ป่วยพยายามหยิบสิ่งของบางอย่างขึ้นมาเรื่อยๆ[27]

การชักแบบทั่วไป (generalized seizure) มีอยู่ 6 ลักษณะได้แก่ เกร็ง-กระตุก เกร็ง กระตุก กล้ามเนื้อกระตุก ชักเงียบ และ ไม่เกร็ง[28] อาการชักทั้งหมดนี้จะเกิดร่วมกับการสูญเสียสติสัมปชัญญะและไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า

อาการชักแบบเกร็ง-กระตุกเป็นภาวะการชักที่มีทั้งอาการเกร็งและกระตุกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่มีอาการเกร็งจะเห็นการแข็งตัวของกลัมเนื้อแขนขาและการโค้งขอของแผ่นหลังจนมีลักษณะเหมือนการทำท่าสะพานโค้งซึ่งมักกินเวลานานประมาณ 10-30 วินาที ในช่วงนี้อาจพบเสียงร้องจากผู้ป่วยได้เนื่องจากการเกร็งของกล้ามเนื้อทรวงอกทำให้อากาศถูกไล่ออกจากปอด และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวเป็นสีน้ำเงินม่วงเนื่องจากการเกร็งนานๆทำให้ผู้ป่วยไม่หายใจ สำหรับช่วงที่มีอาการกระตุกจะพบว่าผู้ป่วยมีการเขย่าของแขนขาซ้ำๆ หลังจากการชักสิ้นสุดลงอาจใช้เวลาอีกประมาณ 10-30 นาทีจนกว่าสติของผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติ โดยในช่วงดังกล่าวมีชื่อว่าภาวะขาดสติสัมปชัญญะภายหลังจากอาการชัก การสูญเสียความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายหรือปัสสาวะ[29]และการกัดส่วนปลายหรือด้านข้างของลิ้น[30]อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการชัก การกัดลิ้นบริเวณด้านข้างพบได้บ่อยในการชักแบบเกร็ง-กระตุก[30] อย่างไรก็ดีการกัดลิ้นสามารถพบในผู้ป่วยที่มีการชักด้วยสาเหตุทางจิตใจ[30]ได้เช่นเดียวกัน

การชักแบบกล้ามเนื้อกระตุกหมายถึง การกระตุกเป็นระยะเวลาสั้นๆของกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทั่วร่างกาย[31] การชักเงียบอาจมีอาการแสดงออกเพียงเล็กน้อยเช่น การหันศีรษะ หรือ กระพริบตา[6] ในระหว่างการชักแบบนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องล้มลงและอาจกลับมาเป็นปกติทันทีภายการชักหยุดลง[6] การชักแบบไม่เกร็งจะเห็นได้จากคือการสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อซึ่งกินระยะเวลานานมากกว่า 1 วินาที[27] และมักจะแสดงอาการทั้งสองข้างของร่างกายพร้อมๆกัน[27]

ประมาณ 6% ของผู้ที่เป็นโรคลมชักจะมีอาการชักซึ่งถูกเหนี่ยวนำโดยเหตุการณ์บางอย่างเรียกว่า การชักโดยปฏิกิริยา[32] ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักโดยปฏิกิริยาจะมีอาการชักซึ่งเกิดจากสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นบางประเภทเท่านั้น[33] ภาวะเหนี่ยวนำที่พบบ่อยได้แก่ การมองเห็นไฟกระพริบ และ การได้ยินเสียงดังๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว[32]

โรคลมชักบางประเภทจะแสดงอาการบ่อยครั้งระหว่างการนอนหลับของผู้ป่วย[34] และโรคลมชักบางประเภทจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาผู้ป่วยหลับเท่านั้น[35]

ภาวะขาดสติสัมปชัญญะภายหลังจากอาการชัก

หมายถึงช่วงเวลาหลังจากการชักยุติลงแล้วแต่สติสัมปชัญญะของผู้ป่วยยังไม่กลับคืนมา[26] ภาวะดังกล่าวมักกินเวลาประมาณ 3-15 นาที[36] จนถึงหลายชั่วโมง[37] อาการอื่นๆที่สามารถพบร่วมได้แก่ ความรู้สึกเหนื่อย การปวดศีรษะ การมีปัญหาในการออกคำพูดที่พูด และ ความผิดปกติของพฤติกรรม[37] ภาวะโรคจิตสามารถเกิดขึ้นหลังจากการชักได้บ่อยครั้งและพบใน 6-10% ของผู้ป่วย[38] บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้[37] นอกจากนั้นภาวะอ่อนแรงเฉพาะส่วนซึ่งมีชื่อเรียกว่า ทอดด์พาราไรซิส สามารถเกิดขึ้นภายหลังจากการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดได้เช่นเดียวกันโดยจะมีมักจะมีอาการนานตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาที และมีน้อยรายที่อาการอยุ่นานเป็นวัน[39]

ผลกระทบต่อจิตใจและสังคม

โรคลมชักสามารถมีผลกระทบต่อสุขภาพทางสังคมและจิตใจของผู้ป่วย[24] ผลกระทบที่กล่าวถึงอาจแสดงออกในรูปแบบของการปลีกตัวจากสังคม การถูกตราหน้าโดยคนรอบข้าง และ ความพิการ[24] นอกจากนี้ยังอาจมีผลกับระดับความสำเร็จทางการศึกษาและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน[24] การเรียนรู้ช้า หรือ ความยุ่งยากในการเรียนรู้ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก[24] การถูกตราหน้าจากสังคมจากการเป็นโรคลมชักยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน[29]

ความผิดปกติบางอย่างสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชัก (ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการของโรคลมชักที่ผู้ป่วยมี) ความผิดปกติที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ[40] และ โรคไมเกรน[41] ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลมชักมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า[42] โรคสมาธิสั้น และ โรคลมชักมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ พฤติกรรม การเรียนรู้และ การพัฒนาทางสังคมของเด็ก[43] นอกจากนี้โรคลมชักยังพบมากในเด็กที่มีอาการเชิงออทิสติก[44]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคลมชัก http://www.tc.gc.ca/eng/civilaviation/publications... http://books.google.ca/books?id=4W7UI-FPZmoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=6Kq4Zt2KOpcC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BUs-AYMBbC0C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BbeWA-gbiiwC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=K-1UqhH2BtoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=a6Ygv5_RKKsC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=gLOv8XZ5u48C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=mY-6eweiQm8C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=yJQQzPTcbYIC&pg=PA...