ประวัติศาสตร์ ของ โรคลมชัก

ภาพรูปปั้นฮิปพอคราทีส แกะสลักโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ ปี ค.ศ. 1638

บันทึกทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดแสดงให้เห็นว่า มีผู้ป่วยโรคลมชักตั้งแต่สมัยเริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์[130] คนในสมัยโบราณคิดว่าโรคลมชักเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับ ภูติผี และ วิญญาณ[130] คำอธิบายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งกล่าวถึงอาการชัก มาจากข้อความในภาษาอัคคาเดียน (ภาษาที่ใช้ในเมโสโปเตเมียยุคโบราณ) ซึ่งถูกเขียนประมาณ 2000 ปีก่อนคริสตกาล[1] ผุ้ป่วยที่ถูกกล่าวถึงได้รับการวินิจฉัยว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเทพแห่งดวงจันทร์ และรับการรักษาด้วยพิธีขับไล่ผี[1] อาการชักได้รับการระบุไว้ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (1790 ปีก่อนคริสตกาล) โดยเป็นหนึ่งในเหตุผลในการคืนทาสที่ถูกซื้อมาเพื่อที่จะขอเงินคืน[1] นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงใน พาไพรัส ของ เอ็ดวิน สมิธ (1700 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งบรรยายถึงผู้ป่วยที่มาด้วยอาการชัก[1]

บันทึกรายละเอียดของโรคลมชักที่เก่าแก่ที่สุดพบใน ซาคิกคุ (Sakikku) ซึ่งเป็นตำราแพทย์เขียนโดยใช้อักษรรูปลิ่มของชาวบาบิโลเนียทำขึ้นระหว่างปี 1067 ถึง 1046 ก่อนคริสตกาล[130] ในบันทึกฉบับนี้มีการกล่าวถึงรายละเอียดของโรคลมชักเช่น ลักษณะอาการ รายละเอียดการรักษา และ ผลการรักษาที่พบ[1] นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายรูปแบบต่าง ๆ ของอาการชักไว้ด้วย[130] เนื่องจากชาวบาบิโลเนียไม่มีความรู้ด้านชีวการแพทย์เกี่ยวกับโรคลมชัก ดังนั้นจึงบรรยายสาเหตุของการชักว่าเกิดจากการถูกผีและวิญญาณร้ายเข้าสิง และนำไปสู่การรักษาทางจิตวิญญาณ[130] ประมาณ 900 ปีก่อนคริสตกาล ปุนรวสุ อตีรยะ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับโรคลมชักว่าเป็นเสมือนการสูญเสียสติ[131] คำนิยามนี้ถูกนำไปใช้ต่อในคำภีร์อายุรเวท ชื่อว่า จรกะ สัมหิตา (ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล)[132]

ชาวกรีกโบราณมีมุมมองขัดแย้งกันเกี่ยวกับโรคลมชัก โดยคิดว่าโรคลมชักเป็นอาการของการถูกวิญญาณสิงร่างแต่มีความเกี่ยวข้องกับอัจฉริยะภาพและเทพเจ้า ดังนั้นจึงเรียกโรคลมชักว่า "โรคศักดิ์สิทธิ์" (sacred disease)(ἠἱερὰνόσος)[1][133] โรคลมชักปรากฏขึ้นภายในเทพปกรณัมกรีกโดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทพีแห่งดวงจันทร์ เซลีนีและอาร์ทิมิส ซึ่งจะคอยสาปผู้คนให้ป่วยเป็นโรคนี้หากทำให้ทั้งสองอารมณ์เสีย ชาวกรีกคิดว่าบุคคลสำคัญเช่น จูเลียส ซีซาร์ และ เฮอร์คิวลีส ต่างมีภาวะนี้[1] มุมมองแตกต่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมชักซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณมากจากแนวคิดของฮิปพอคราทีส เมื่อสมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล ฮิปพอคราทีสปฏิเสธความคิดที่ว่าโรคลมชักเกิดจากวิญญาณโดยอธิบายในวรรณกรรมสำคัญของเขาเรื่อง "โรคศักดิ์สิทธิ์" ว่าโรคลมชักไม่ได้เกิดจากวิญญาณแต่เป็นปัญหาทางการแพทย์ซึ่งเกิดขึ้นในสมองและสามารถรักษาได้[1][130] เขากล่าวหาผู้คนที่เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ให้กับตัวโรคว่า เป็นการแพร่กระจายความเขลาผ่านความเชื่อทางไสยศาสตร์[1] ฮิปพอคราทีสอธิบายว่ากรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงหากเป็นตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นยังได้จดบันทึกลักษณะทางกายภาพ และ ความอัปยศทางสังคมที่ผู้ป่วยประสพหากพบว่าเป็นโรค[1] และแทนที่จะเรียกโรคลมชักว่า "โรคศักดิ์สิทธิ์" เขาใช้คำว่า "โรคที่ยิ่งใหญ่" (great disease) จึงเป็นที่มาของคำว่า "แกรนด์ มาล" (grand mal) ซึ่งใช้เรียกอาการชักแบบเกร็ง-กระตุกในปัจจุบัน[1] แม้ว่าจะมีการอธิบายสาเหตุของโรคว่ามาจากความผิดปกติทางกายภาพแต่มุมมองของเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับในเวลานั้น[130] วิญญาณชั่วร้ายยังคงถูกมองว่าเป็นสาเหตุจวบจนศตวรรษที่ 17[130]

ในสมัยโรมโบราณผู้คนจะไม่กินหรือดื่มจากภาชนะเดียวกันกับคนที่เป็นโรคลมชัก[134] คนในสมัยนั้นจะบ้วนน้ำลายบนหน้าอกของตัวเองเพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันการติดต่อของภาวะนี้ได้[134] จากคำบอกเล่าของอพูเลียส และ แพทย์ในยุคโบราณอื่น ๆ การตรวจสอบโรคลมชักสามารถทำได้โดยเผานิลซึ่งควันที่เกิดขึ้นจะทำให้อาการชักปรากฏ[135] และในบางครั้งก็สามารถใช้แป้นหมุนของช่างเครื่องดินเผาได้เช่นเดียวกัน (สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้ป่วยบางรายมีความไวกับแสงซึ่งสามารถชักนำให้เกิดอาการชักได้)[136]

ผู้ป่วยโรคลมชักมักได้รับการตราหน้า รังเกียจ หรือ แม้แต่ถูกคุมขังในเกือบทุกอารยธรรม ฌอง มาแตง ชาโก พบผู้ป่วยโรคลมชักเคียงข้างกับป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซิฟิลิสเรื้อรัง และ อาชญากรโรคจิตในโรงพยาบาลปีเต-ซัลแปตริแยร์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของวิชาประสาทวิทยาสมัยใหม่[137] ในสมัยโรมโบราณโรคลมชักมีชื่อว่า morbus comitialis แปลว่าโรคของหอประชุม (disease of the assembly hall) และถูกมองว่าเป็นคำสาปจากเทพพระเจ้า ในตอนเหนือของอิตาลีโรคลมชักเคยถูกเรียกว่า โรคของนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's malady)[138]

ยาที่มีประสิทธิภาพในการกันชักชื่อว่า โบรไมด์ ได้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19[99] ยารักษาแผนใหม่ ฟีโนบาร์บิทัล ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ตามมาด้วยเฟนิโทอินซึ่งได้ถูกเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1938[139]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคลมชัก http://www.tc.gc.ca/eng/civilaviation/publications... http://books.google.ca/books?id=4W7UI-FPZmoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=6Kq4Zt2KOpcC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BUs-AYMBbC0C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BbeWA-gbiiwC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=K-1UqhH2BtoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=a6Ygv5_RKKsC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=gLOv8XZ5u48C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=mY-6eweiQm8C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=yJQQzPTcbYIC&pg=PA...