สาเหตุของโรค ของ โรคลมชัก

โรคลมชักอาจเป็นภาวะที่ได้มาแต่กำเนิด (จากพันธุกรรม) เป็นผลข้างเคียงจากโรคหรือภาวะอื่นๆซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรืออาจเกิดจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยทั้งสองอย่าง[45] สาเหตุของโรคลมชักซึ่งไม่ได้มาจากกรรมพันธ์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วได้แก่ การได้รับบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง และความผิดปกติซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในสมอง[45] มีผู้ป่วยประมาณ 60% ที่ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุของโรคลมชักได้[29][24] ในเด็กเล็กโรคลมชักมักมีเหตุจาก โรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือ ความผิดปกติของพัฒนาการ ในขณะที่สาเหตุของโรคลมชักในคนสูงอายุมักจะเกิดจาก โรคหลอดเลือดสมอง และ เนื้องอกสมอง[24]

การชักอาจเป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ[28] ถ้าอาการชักเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ชัดเจนเช่น โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ การกลืนสารพิษหรือ ความบกพร่องของเมตาโบลิซึม เราจะเรียกอาการที่เกิดขึ้นว่า การชักแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มของความผิดปกติที่ทำให้เกิดการชัก มากกว่าจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก[46][47]

พันธุกรรม

มีความเชื่อว่าพันธุกรรมเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคลมชักไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงหรือทางอ้อม[9] โรคลมชักบางอย่างเป็นผลจากความผิดปกติของของยีนเพียงตัวเดียว (ประมาณ 1-2%) แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำงานร่วมกันของยีนหลายตัวผนวกกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม[9] ปัจจุบันมีกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากความผิดปติของยีนเพียงตัวเดียวประมาณ 200 กลุ่มอาการที่สามารถทำให้เกิดอาการชักได้[48] โดยยีนส่วนใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของช่องไอออน[45] ตัวอย่างเช่น ยีนสำหรับช่องไอออนเอง เอนไซม์ กาบารีเซปเตอร์ และ จี โปรตีน-คัปเปิลด์รีเซปเตอร์[31]

ในฝาแฝดร่วมไข่ ถ้าแฝดคนใดคนหนึ่งเป็นลมชักจะมีโอกาส 50-60% ที่แฝดอีกคนจะเป็นโรคเหมือนกัน[9] หากเป็นแฝดต่างไข่จะมีความเสี่ยงเพียง 15%[9] ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นหากเป็นการชักแบบทั่วไป[9] หากฝาแฝดทั้งสองเป็นโรคลมชักกลุ่มอาการชักที่แสดงออกมามักจะเหมือนกัน (70-90%)[9] ญาติสนิทของผู้ป่วยโรคลมชักจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคประมาณห้าเท่าของประชากรทั่วไป[49] ประมาณ 1 ถึง 10% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์และ 90% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการแอนเจลแมนจะเป็นโรคลมชัก[49]

ภาวะอื่นๆที่ผู้ป่วยได้มาหลังกำเนิด

โรคลมชักอาจเป็นผลข้างเคียงของภาวะอื่นๆเช่น เนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง และ เป็นผลมาจากความเสียหายของสมองในช่วงเวลาของการเกิด[29][28] ผู้ที่มีเนื้องอกในสมองประมาณ 30% จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก หรืออีกนัยหนึ่งเนื้องอกในสมองถือเป็นสาเหตุประมาณ 4% ของโรคลมชักทั้งหมด[49] ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักจะยิ่งสูงขึ้นหากก้อนอยู่ในตำแหน่งกลีบขมับ และ เป็นเนื้องอกที่เติบโตช้า[49] ก้อนอื่นๆซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเส้นเลือดอย่างเช่น ซีรีบรัล คาเวอร์นัส มาล์วฟอร์เมชั่น และ อาร์เทอริโอวินัส มาล์วฟอร์เมชั่น มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคลมชักสูงถึง 40-60%[49] ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะพัฒนาโรคลมชักภายหลัง[49] ในสหราชอาณาจักรโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุประมาณ 15% ของโรคลมชักทั้งหมด และเชื่อว่าเป็นสาเหตุ 30% ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคลมชัก[24][49] มีความเชื่อว่าประมาณ 6-20% ของโรคลมชักอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ[49] การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเพียงเล็กน้อยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักประมาณสองเท่า หากเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงจะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเจ็ดเท่า[49] ในผู้ที่ถูกยิงปืนกำลังสูงบริเวณศีรษะมีความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 50%[49]

มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคลมชักและโรคแพ้กลูเตน ในขณะที่หลักฐานอื่นๆชี้นำไปทิศทางตรงข้าม[50][51] การศึกษาในปี 2012 พบว่าประมาณ 1-6% ของผู้ป่วยโรคลมชักจะเป็นโรคแพ้กลูเตน ในขณะที่ 1% ของประชากรทั่วไปจะเป็นโรคแพ้กลูเตน[51]

ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักจากภายหลังจากการเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีน้อยกว่า 10% -- ในขณะที่อาการชักมักจะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินของโรค[49] ผุ้ป่วยที่เป็นโรคสมองอักเสบจากเริมมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชักสูงถึง 50%[49] และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคลมชักได้ถึง 25%[52][53] การติดเชื้อพยาธิตัวตืดซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อตัวตืดในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นสาเหตุประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคลมชักซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เฉพาะถิ่นของพยาธิ[49] โรคลมชักอาจเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อในสมองอื่นๆเช่น โรคมาลาเรียขึ้นสมอง โรคทอกโซพลาสโมซิส และ โรคพยาธิตัวกลม[49] การดื่มสุราติดต่อกันเป็นเวลานานๆเพิ่มความเสี่ยงของโรคลมชัก โดยผู้ที่ดื่มหกหน่วยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักประมาณสองเท่าครึ่ง[49] ความเสี่ยงอื่นๆได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ทูเบอรัส สเคลอโรซิส และ โรคไข้สมองอักเสบจากภูมิต้านตนเอง[49] การได้รับการฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชัก[49] ภาวะทุพโภชนาการเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคลมชักในประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นสาเหตุโดยตรงหรือทางอ้อม[19] ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตสมองใหญ่จะมีความเสี่ยงเพิ่มต่อการเป็นโรคลมชัก โดยมีการพบว่าครึ่งหนึ่งของป่วยอัมพาตสมองใหญ่ชนิด กล้ามเนื้อเกร็งอัมพาตแขนขาสองข้าง และ กล้ามเนื้อเกร็งอัมพาตครึ่งซีก ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก[54]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคลมชัก http://www.tc.gc.ca/eng/civilaviation/publications... http://books.google.ca/books?id=4W7UI-FPZmoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=6Kq4Zt2KOpcC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BUs-AYMBbC0C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=BbeWA-gbiiwC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=K-1UqhH2BtoC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=a6Ygv5_RKKsC&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=gLOv8XZ5u48C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=mY-6eweiQm8C&pg=PA... http://books.google.ca/books?id=yJQQzPTcbYIC&pg=PA...