ประวัติ ของ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ป้ายทางเข้าโรงเรียน

แนวคิดริเริ่ม

มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความคิดที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในทางสาขาวิชานี้ เพื่อป้อนให้กับประเทศ ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับพื้นฐานที่ดีก่อนที่จะมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในการนี้ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ รูปแบบดังกล่าวนี้ หากขยายนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็จะผลิตกำลังคนได้สอดคล้อง กับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ [3]

ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก

โรงเรียนในช่วงแรก

ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้ร่วมลงนามในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยใช้พื้นที่ 35 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้กรมสามัญศึกษาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือสนับสนุนทางด้านวิชาการ รูปแบบการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใดเพื่อให้เหมาะสมในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนรู้ และพฤติกรรมของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรุ่นแรกในปีการศึกษา 2534 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระธรรมมหาธีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงให้ใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของทางวัดเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวไปจนกว่าอาคารเรียนของทางโรงเรียนในบริเวณของมหาวิทยาลัยจะเสร็จเรียบร้อย ในช่วงนั้นทางวัดไร่ขิงได้ให้ความอนุเคราะห์โรงเรียนใช้บริเวณวัดทำการเรียนการสอน บริการเรื่องสาธารณูปโภค โดยไม่คิดมูลค่า ให้ใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของทางวัดทำการเรียนการสอน อนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ของวัดมาสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งยังมอบเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุกๆ ปีและยังได้รับความอุปการะจากนายแพทย์บุญ วนาสิน ในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนเรื่อยมาได้จ้างครูต่างชาติมาสอนวิชาภาษาอังกฤษปีละ 2 คนทุกปี จัดสร้างหอพักนักเรียนชายและหญิง ณ บริเวณโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้มีการลงนามร่วมกันอีกครั้งหนึ่งโดย นายบรรจง พงศ์ศาสตร์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาและ ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการความร่วมมือจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยเปลี่ยนแปลงมาให้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ จำนวนระยะเวลา 30 ปี และตกลงให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนการสอน รวมทั้งให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสมปีการศึกษา 2538 โรงเรียนได้ย้ายสถานที่เรียนจากวัดไร่ขิง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มายังที่ตั้งของโรงเรียน ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดลจนถึงปัจจุบัน

โรงเรียนในสถานภาพองค์การมหาชน

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในสถานะองค์การมหาชน

ปีพ.ศ. 2542 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยขณะนั้นมีนโยบายจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีลักษณะพิเศษต่างจากโรงเรียนทั่วไป ต่อมาจึงมีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. 2543 ให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีสถานภาพเป็นองค์การมหาชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จุดมุ่งหมายของโรงเรียนตามที่กล่าวไว้ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นดังนี้

ให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีศักยภาพสูงทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ต่อมาในปีพ.ศ. 2544 ได้มีแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ องค์การมหาชน คือ ดร. ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานในระบบองค์การมหาชนนี้ โรงเรียนได้รับการบริหารที่ยืดหยุ่นกว่าในระบบเดิมและได้รับงบประมาณที่มากขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด กรุณาช่วยปรับปรุงบทความนี้ โดยเพิ่มการอ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เนื้อความที่ไม่มีแหล่งที่มาอาจถูกคัดค้านหรือลบออก

ความคาดหวังให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนนำร่อง[4] ได้ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2551 มีการขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรราชวิทยาลัย 12 แห่งและจัดตั้งโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) อีก 5 แห่งโดยใช้หลักสูตรอ้างอิงจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำหลักสูตรไปดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของมหาวิทยาลัย และยังมีแผนจะจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกจำนวน 207 โรงเรียน

จากการประเมินองค์การมหาชนของสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับการประเมินในระดับดีเด่น เป็นต้นแบบทางด้านวิธีการทำงาน กลไกการทำงาน หลักการดำเนินกิจการเพื่อประสบความสำเร็จ[5]

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/673774 http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?new... http://news.sanook.com/939215-%E0%B9%84%E0%B8%9F%E... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.mwit.ac.th http://www.mwit.ac.th/issf2011/index.htm http://www.mwit.ac.th/mwit-eng/News/1-2553/06-10/3... http://www.mwit.ac.th/~astronomy/ http://www.mwit.ac.th/~person/Personel_M/Law/MWIT.... http://www.mwit.ac.th/~usa_jeen/